องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

เส้นทางกว่าจะเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (The UNESCO Creative Cities Network-UCCN) ขององค์การยูเนสโก

1629693120
ขนาดตัวอักษร

          หลายปีที่ผ่านมาชื่อของสถานที่ต่าง ๆ ในประเทศไทย ได้คัดการคัดเลือกให้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (The UNESCO Creative Cities Network-UCCN) ขององค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ไม่ว่าจะเป็น ภูเก็ต ได้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก สาขาวิทยาการอาหาร เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2558, เชียงใหม่ ได้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2560, สุโขทัย ได้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (City of Crafts and Folk Art) เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2562 และกรุงเทพมหานคร ได้เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ (City of Design) เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2562
 


          โดยประโยชน์ของการเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโกนั้น นอกจากจะได้เป็นที่รู้จักมากขึ้นแล้ว ยังถือเป็นการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (The Sustainable Development Goals : SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 11 Sustainable Cities and Communities นั่นคือทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน อีกทั้งยังดึงดูดนักท่องเที่ยวจากเมืองที่เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์จากทั่วโลก ให้เดินทางมาเยือนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อความยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. จึงร่วมกับภาคีเครือข่าย มีแผนพัฒนาและผลักดันพื้นที่พิเศษให้เป็นเมืองในเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ตามหลักเกณฑ์พิจารณาสู่ความเป็นเมืองสร้างสรรค์เพื่อการท่องเที่ยว 7 ด้านเพิ่มเติม

รู้จักกับเมืองสร้างสรรค์

          เมืองสร้างสรรค์ (Creative City) หมายถึง เมืองที่มีกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเมืองนั้น ๆ มีรากฐานจากความมั่นคงทางสังคมและวัฒนธรรม มีการรวมกลุ่มกันอย่างหนาแน่นของคนที่ทำงานสร้างสรรค์ คนและวัฒนธรรมท้องถิ่นมีส่วนสำคัญที่ทำให้เมืองมีพื้นที่ในการแสดงความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เกิดการรวมตัวทางสังคม ตลอดจนความเป็นท้องถิ่นนี้เองที่แสดงออกหรือสื่อออกมาทางศิลปะในรูปแบบต่าง ๆ และกิจกรรมทางวัฒนธรรม ที่นำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งการเข้าร่วมสามารถทำให้เกิดการสนับสนุนเสริมสร้างการเรียนรู้กันกัน เหนือสิ่งอื่นใดการเป็นเมืองสร้างสรรค์ ยังก่อประโยชน์ต่อภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคม เช่น
 

  • ช่วยสนับสนุนการสร้างงาน ส่งเสริมวัฒนธรรมบนพื้นฐานของหลากหลายทางสังคม การเจรจาระหว่างวัฒนธรรมและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน
     
  • สร้างโอกาสที่ดีสำหรับเมืองผ่านกระบวนการเรียนรู้ และโครงการร่วมมือระหว่างเมืองต่าง ๆ เพื่อใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์เชิงสร้างสรรค์ที่มีอยู่อย่างเต็มที่
     
  • การมีพื้นที่สาธารณะ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเมืองที่จะสามารถตอบโจทย์ให้แก่คนในท้องถิ่น


          อย่างไรก็ตาม เมืองสร้างสรรค์ไม่ใช่เรื่องของการปรับปรุงหรือพัฒนาเมืองเพื่อการท่องเที่ยวอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นเมืองที่มีพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดกิจกรรมทางวัฒนธรรม ที่นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ และต้องอาศัยแผนการลงทุนของภาครัฐในหลายด้าน ตั้งแต่การลงทุนในสาธารณูปโภคในโครงสร้างพื้นฐานและการเรียนรู้ การปรับปรุงกฎระเบียบ และการสนับสนุนด้านการเงินให้เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและอยู่อาศัยของผู้ประกอบการสร้างสรรค์ นอกจากนี้ยังรวมถึงการจัดกิจกรรมระดับเมืองและระดับชาติที่หลากหลายเพื่อสะท้อนเอกลักษณ์และภาพลักษณ์ของเมืองอย่างสร้างสรรค์

เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก คืออะไร

          เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ หรือ Creative Cities Network เป็นอีกหนึ่งโครงการของยูเนสโก ที่ดำเนินงานควบคู่กับการประกาศแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์ โดยเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2547 เปิดรับคัดเลือกทุก ๆ 4 ปี เพื่อส่งเสริมการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries) สู่ความร่วมมือในระดับนานาชาติของภาคประชาคม ประชาชน เอกชนและสาธารณะ

          ซึ่งทาง UNESCO จำกัดความ Creative City คือ การร่วมมือระหว่าง ชุมชนท้องถิ่นและภาครัฐ ในการสร้างสรรค์เมืองผ่านการพัฒนาสภาพแวดล้อม โครงสร้างทางสังคม ระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และการนำสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม ตลอดจนจารีตประเพณีของท้องถิ่นมาผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อนำไปสู่การเป็นเมืองที่มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการสร้างธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์ (Creative Industry) 7 ประเภทเมืองสร้างสรรค์ ประกอบด้วย

          1. เมืองแห่งวรรณกรรม (City of Literature)
          2. เมืองแห่งภาพยนตร์ (City of Film)
          3. เมืองแห่งดนตรี (City of Music)
          4. เมืองแห่งหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (City of Crafts & Folk Arts)
          5. เมืองแห่งการออกแบบ (City of Design)
          6. เมืองแห่งศิลปะสื่อประชาสัมพันธ์ (City of Media art)
          7. เมืองแห่งวิทยาการอาหาร (City of Gastronomy)
 


วิธีการสมัครโครงการเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก

          1. สมัครผ่านสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษาฯ สหประชาชาติ (Thai National Commission for UNESCO)
          2. กรอกรายละเอียดตามแบบฟอร์ม Creative Cities Application ของยูเนสโก
          3. การสมัครต้องมีหนังสือรับรองจากเทศบาลเมืองที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่จะนำเสนอ

          การนำเสนอจะต้องให้ตรงตามหลักเกณฑ์ของยูเนสโก ดังนี้

          1. จะต้องอยู่ในสาขาใดสาขาหนึ่งใน 7 สาขาที่กำหนด
          2. จะต้องเป็นการริเริ่มสร้างสรรค์ความร่วมมือระหว่างประเทศ/ระหว่างสังคม/ชุมชน ในเชิงคุณภาพ ปริมาณ และความหลากหลาย
          3. จะต้องเป็นศูนย์กลางของเรื่อง (หรือสาขา) ที่จะนำเสนอ มีกิจกรรมส่งเสริมในสาขาที่นำเสนอเชิงสร้างสรรค์
          4. มีประสบการณ์ในการจัดงานที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่สมัคร
          5. นำเสนอถึงการพัฒนาอนาคตของเมืองเชิงสร้างสรรค์ มีการลงทุนเพื่อสร้างองค์ความรู้ และการศึกษาในเรื่องที่เกี่ยวข้อง
          6. มีการนำเสนออุตสาหกรรมหรือเศรษฐกิจผ่านระบบออนไลน์ ในสาขาที่สมัครและมีสื่อที่ใช้ส่งเสริมกิจกรรมในสาขาที่สมัคร
          7. ต้องแสดงถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในสาขาที่สมัคร
          8. ระบุการลงทุนที่ชี้ให้เห็นถึงความมั่นคงในการศึกษาและวิจัยในสาขาที่เกี่ยวข้อง
          9. มีทรัพยากรที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองและสามารถเปรียบเทียบต่อเมืองเครือข่ายในระดับนานาชาติได้
          10. มีการสนับสนุนหรือมีส่วนร่วมขององค์กรเฉพาะทางในสาขาที่เกี่ยวข้อง
          11. สาขาที่สมัครต้องมีความสำคัญต่อการส่งเสริมวัฒนธรรม เศรษฐกิจ อาชีพ งานของท้องถิ่น/ชุมชน
          12. เป็นการแสดงให้เห็นถึงความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความเป็นวิถีชีวิตของชุมชนเมืองระดับท้องถิ่นหรือชุมชนนั้น ๆ

กระบวนการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์

          1. หารือร่วมกับส่วนราชการของจังหวัด เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล หรือหารือแนวทางการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก
          2. แต่งตั้งคณะกรรมการหรือคณะทำงาน เพื่อขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ โดยมีองค์ประกอบ คือ ภาคราชการ ภาคการศึกษา ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน
          3. ศึกษาศักยภาพความเป็นไปได้ และเพื่อขับเคลื่อนสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์
          4. จัดทำแผนพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์
          5. สร้างการรับรู้ด้านเมืองสร้างสรรค์ให้กับประชาชน
          6. จัดกิจกรรมพัฒนาบุคลากรของจังหวัดให้มีศักยภาพและองค์ความรู้เชิงสร้างสรรค์
          7. แลกเปลี่ยนเรียนรู้และศึกษาดูงาน เพื่อสร้างเครือข่ายด้านเมืองสร้างสรรค์ กับเครือข่ายสร้างสรรค์ของยูเนสโก
          8. รวบรวมข้อมูลเพื่อจัดทำข้อมูลตามเกณฑ์ใบสมัครของยูเนสโก
          9. จัดทำใบสมัครส่งกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อตรวจสอบข้อมูล (หากไม่เห็นชอบ ต้องจัดทำแผนพัฒนาเพื่อขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์อีกครั้ง)
          10. จัดส่งใบสมัครให้กับยูเนสโก และติดตามผลจากการเข้าร่วมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ฯ

          ทั้งนี้ อพท. ใช้เครื่องมือที่เรียกว่า Global Sustainable Tourism Criteria (GSTC) เป็นเกณฑ์ของสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council) ซึ่งมีทั้งหมด 4 มิติ ได้แก่ การบริหารจัดการ ซึ่งรวมถึงเรื่องความปลอดภัยนักท่องเที่ยว  สังคมเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม

ขอบคุณข้อมูลจาก
เว็บไซต์ tis.dasta.or.th
เว็บไซต์ tis.dasta.or.th
เว็บไซต์ phetchaburicreativecity.com
เว็บไซต์ bic.moe.go.th