องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

อพท. เร่งยกระดับแหล่งท่องเที่ยวสู่มาตรฐานสากล

1629425280
ขนาดตัวอักษร

อพท. เร่งยกระดับแหล่งท่องเที่ยวสู่มาตรฐานสากล

อพท. ชู 4 มิติ ขับเคลื่อนองค์กร “การบริหาร สังคมเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม” นำพื้นที่พิเศษ สู่ Green Destinations Foundation

นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า นโยบายการดำเนินงานจะยกระดับแหล่งท่องเที่ยวให้มีความเป็นมาตรฐานสากล ผ่านองค์ความรู้ที่ อพท. ได้รับและพัฒนาขึ้นมา เช่น การยกระดับแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นไปตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) ของสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก Global Sustainable Tourism Council : GSTC)

ตลอดจนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้ได้การรับรองระดับโลกจากรางวัล Sustainable Destinations Top 100 จาก 30 ข้อพื้นฐานของ Green Destinations โดยคณะทำงานประเมินการยกระดับความยั่งยืนในแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) และเพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจในการจัดการความยั่งยืนในแหล่งท่องเที่ยวตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC)

ทั้งนี้ GSTC เป็นเกณฑ์ของสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก ที่ อพท. นำมาเป็นเกณฑ์ในการพัฒนาพื้นที่และแหล่งท่องเที่ยว มีทั้งหมด 4 มิติ มิติแรก เป็นเรื่องของการบริหารจัดการ ซึ่งรวมถึงความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวและการจัดทำแผน มิติที่สอง ด้านสังคมเศรษฐกิจ มิติที่สาม ด้านวัฒนธรรม และมิติที่สี่ ด้านสิ่งแวดล้อม ทั้ง 4 มิตินี้มีทั้งหมด 41 ข้อ 105 ตัวชี้วัด โดยการประเมินเบื้องต้น อพท. จะนำไปทาบกับทุกพื้นที่ที่ลงไปทำงาน แล้ววัดผลออกมาเป็นระดับสี 4 สีด้วยกัน ได้แก่ สีแดงคือหนักที่สุด ตามด้วยสีชมพู สีเหลือง และสีเขียวคือดีที่สุด ซึ่งจะพัฒนาทุกพื้นที่ให้ได้ระดับสีเขียว เพื่อให้ได้มาตรฐานการท่องเที่ยวตามเกณฑ์ของสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก

ในปี 2563 อพท. ดำเนินการประเมินใน  6 แหล่งท่องเที่ยวต้นแบบ ได้แก่ ตำบลเกาะหมาก จังหวัดตราด ตำบลนาเกลือ จังหวัดชลบุรี ตำบลเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย ตำบลเชียงคาน จังหวัดเลย ตำบลในเวียง จังหวัดน่าน และเทศบาลตำบลอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

และในปี 2563 อีกเช่นกัน อพท. ได้นำส่งแหล่งท่องเที่ยวเข้าชิงรางวัลดังกล่าวจำนวน 2 แห่ง และเมื่อประกาศผลออกมา ทั้ง 2 แห่งก็ได้ผ่านเกณฑ์ 30 ข้อพื้นฐานของ Green Destinations จึงได้การรับรองเป็นแหล่งท่องเที่ยว Sustainable Destinations Top 100 นั่นคือ ตำบลในเวียง จังหวัดน่าน และอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย โดย อพท. มีเป้าหมายจะดำเนินการนำส่งแหล่งท่องเที่ยวเข้าชิงการจัดอันดับ Top 100 อย่างน้อยปีละ 1 แห่ง

รวมถึงการพัฒนาและยกระดับด้วยการขับเคลื่อนเมืองไปสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network : UCCN)  ซึ่งเป้าหมายในการพัฒนาและขับเคลื่อนเมืองไปสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ส่งผลให้เมืองมีการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์และนำเอาวัฒนธรรมมาสร้างรายได้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก โดยการสร้างสิ่งแวดล้อมและภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์งาน ตลอดจนนำความหลากหลายทางวัฒนธรรมมาสร้างสรรค์และพัฒนาเมือง ก่อให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ตอบสนองเป้าหมายแผนแม่บทภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561-2580) ประเด็นเรื่องการท่องเที่ยวของประเทศไทย

ทั้งนี้ ในปี 2562 จังหวัดสุโขทัยได้รับการคัดเลือกเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน โดยความร่วมมือของจังหวัดสุโขทัย และ อพท. และในปี 2564 อพท. ได้ร่วมกับจังหวัดสุพรรณบุรี ผลักดันให้ได้รับคัดเลือกเข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี ร่วมกับจังหวัดน่าน ผลักดันให้เข้าสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน และพื้นที่ต่อไปซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม คือเมืองพัทยา เพื่อผลักดันเข้าสู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านภาพยนตร์

โดยประโยชน์จากการผลักดันเมืองหรือแหล่งท่องเที่ยวให้ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากลตามที่กล่าวมาทั้งหมด จะช่วยสร้างโอกาสในการรับรู้ในเมืองต่าง ๆ เหล่านั้นออกไปยังทั่วโลกผ่านประเทศสมาชิกในองค์กรระดับโลกต่าง ๆ แหล่งท่องเที่ยวหรือเมืองท่องเที่ยวนั้น ๆ จะได้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และจะเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่ต้องการมาเยือน ซึ่งจะได้รับประโยชน์ทางการทำการตลาดในวงกว้างอย่างมาก

ดังนั้น อพท. จึงตั้งเป้าหมายการทำงานไปสู่ความสำเร็จใน 3 ระยะ คือ ระยะสั้น จะผลักดันให้ชุมชนได้รับเครื่องหมาย SHA มากที่สุด รวมถึงเกณฑ์ CBT Thailand ส่วนระยะกลางคือ การผลักดันและส่งเสริมเมืองที่มีศักยภาพเข้าไปเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO โดยในปี 2564 จะส่งจังหวัดน่านไปเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Craft and Folk Arts) ในเรื่องของผ้าทอและเครื่องเงิน การผลักดันและส่งเสริมจังหวัดสุพรรณบุรี เข้าเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี เพราะสุพรรณบุรีเป็นเมืองที่เป็นแหล่งกำเนิดของครูเพลงมากมาย มีความโดดเด่นในเรื่องเพลงพื้นบ้านที่หลากหลาย อาทิ เพลงฉ่อย เพลงอีแซว หรือเพลงร่วมสมัยอื่น ๆ

สำหรับระยะยาว ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป จะนำตำบลเชียงคาน จังหวัดเลย และตำบลในเวียง จังหวัดน่าน ซึ่งได้ 100 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก หรือ Sustainable Destinations TOP 100 แล้วจากหน่วยงานระดับโลก Green Destinations Foundation ประเทศเนเธอร์แลนด์ ร่วมกับคณะผู้จัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับโลก ITB (Internation Tourism Borse) กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เพื่อเข้าสู่การเป็น Green Destinations Foundation ในรูปแบบรางวัลที่มีการแบ่งระดับมาตรฐานเดียวกับแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนในยุโรปและเอเชีย