องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

ความหมายของ Tourism for All การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล

1629366360
ขนาดตัวอักษร

          แนะนำโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for all) และทำความรู้จักกับอารยสถาปัตย์ หรือการออกแบบที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล ที่สร้างความเสมอภาคเท่าเทียมในการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวและบริการต่าง ๆ

 


          ที่ผ่านมามีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้ชีวิตของคนสูงวัยและคนพิการมากขึ้น ทั้งในแง่ของระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ รวมถึงเส้นทางการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All) ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และภาคีเครือข่ายต่าง ๆ นับเป็นโครงการที่จุดประกายให้สังคมไทยหันมาให้ความสำคัญกับกลุ่มคนสูงอายุและผู้พิการ นำมาซึ่งการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมถึงมีโอกาสให้กลุ่มคนเหล่านี้เดินทางเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวอย่างไร้อุปสรรค ทั้งนี้ มีเป้าหมายสำคัญเพื่อนำพาประเทศไทยก้าวสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วในด้านการท่องเที่ยว สามารถสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ความหมายของการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล

          การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล หรือ Tourism for all คือการท่องเที่ยวที่คนทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย สามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว บริการสาธารณะ และกิจกรรมการท่องเที่ยวต่าง ๆ ได้ โดยสะดวก ปลอดภัย และปราศจากอุปสรรค ที่อาจเกิดขึ้นจากความแตกต่างทางสภาพร่างกาย อายุ และเพศสภาพ

อารยสถาปัตย์ การออกแบบที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล

          สำหรับอารยสถาปัตย์ (Friendly Design) คือหลักการออกแบบที่เป็นมาตรฐานสากล ทุกคนสามารถใช้ได้ ทุกสภาพร่างกาย โดยจะเน้นประโยชน์สูงสุด สะดวก ทันสมัย ปลอดภัย และเป็นมิตรกับคนทั้งมวล รวมถึงการออกแบบบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้าง อาคาร สถานที่ แหล่งท่องเที่ยว ระบบขนส่ง พื้นที่สาธารณะต่าง ๆ และสิ่งของรอบตัวเพื่อตอบสนองการใช้งานของสมาชิกในสังคม ทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย เรียกได้ว่าเป็นการออกแบบที่คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยที่คุ้มค่า น่าสนใจ และครอบคลุมการใช้งานได้ทุกกลุ่ม ช่วยเสริมสร้างความสุขและความเสมอภาคเท่าเทียมให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

 


อพท. กับการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล

          ด้วยวิสัยทัศน์ของ อพท. ที่ว่า “เป็นองค์กรแห่งความเป็นเลิศด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างชุมชนแห่งความสุข” พร้อมกับสร้างสังคมแห่งความสุขลดความเหลื่อมล้ำ จึงได้ร่วมมือกับมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล รณรงค์ และขับเคลื่อนเส้นทางทัวร์อารยสถาปัตย์ ส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล อีกทั้งยังเพิ่มการเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวให้แก่ผู้สูงวัยและผู้พิการได้ไปท่องเที่ยวในชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ โดยจัดให้มีอารยสถาปัตย์เป็นสิ่งอำนวยความต่าง ๆ เช่น ทางลาด ทางเดิน และห้องน้ำ เป็นต้น เพื่อเปิดโอกาสการเข้าถึงอย่างเสมอภาค

          ทั้งนี้ จากการประเมินแหล่งท่องเที่ยวของ อพท. ตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) พบว่าข้อ A8 เรื่อง Access for All ยังมีข้อบกพร่องและต้องการการพัฒนา เนื่องจากยังขาดการวางแผนระยะยาวและครบวงจร เช่น โรงแรมมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษ แต่เมื่อคนกลุ่มนี้จะมาพักกลับไม่มีรถสาธารณะจากสนามบินหรือสถานีขนส่งที่รองรับ หรือในแหล่งท่องเที่ยวมีกิจกรรมที่น่าสนใจ แต่คนกลุ่มนี้กลับไม่สามารถเข้าร่วมได้ เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจแนวคิดและสามารถจัดการการท่องเที่ยวแบบครบวงจรเพื่อคนทั้งมวลไปในทิศทางเดียวกัน ศูนย์แห่งความเป็นเลิศด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (ศทย.) หน่วยงานในสังกัดของ อพท. ซึ่งมีบทบาทพัฒนาหลักสูตรด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จึงเตรียมหลักสูตรฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวแบบครบวงจรเพื่อคนทั้งมวล โดยอ้างอิงกระบวนการการพัฒนาตามขั้นตอนที่เป็นหลักวิชาการ รวมถึงทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การพัฒนาบุคลากรต้นแบบที่มีความรู้ความเข้าใจก่อนขยายผลสู่กลุ่มเป้าหมายอื่น ๆ ในอนาคต

 


สวนนงนุช จ.ชลบุรี


          ทั้งหมดนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวแบบครบวงจรเพื่อคนทั้งมวล และการเข้าถึงอย่างเท่าเทียม เพราะการท่องเที่ยวเป็นสิทธิของมนุษย์ทุกคน ดังนั้น ภาครัฐและภาคเอกชนจึงต้องร่วมกันทำให้การท่องเที่ยวเหมาะสมกับคนทุกวัย ทุกกลุ่ม ซึ่งต้องอาศัยการวางแผนและการปฏิบัติงานที่เป็นรูปธรรม

          อย่างไรก็ตาม ในหลายพื้นที่พิเศษของ อพท. ได้เข้าร่วมโครงการส่งเสริมสถานประกอบการเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล โดยมีการปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวและการบริการ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวและการบริการอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคอีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก
เว็บไซต์ tourismforall.com
เว็บไซต์ mots.go.th
เว็บไซต์ dasta.or.th