Mueang Kao Sukhothai have been selected in the Top 100 Destinations Sustainability Stories 2023
Mueang Kao Sukhothai have been selected in the Top 100 Destinations Sustainability Stories 2023
สุโขทัย เมืองท่องเที่ยวยั่งยืน 1 ในร้อยแห่งของโลก' ส่องความสำเร็จก่อนได้รางวัล Green Destinations Top 100 Stories 2023
จังหวัดสุโขทัย พัฒนาเมืองและแหล่งท่องเที่ยว ผ่านการอนุรักษ์ธรรมชาติ ปกป้องแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และแก้ปัญหาสัตว์รุกรานพื้นที่เมืองเก่าสุโขทัย จนได้รับรางวัล "Green Destinations Top 100 Stories" หรือ "รางวัลแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก" เป็นครั้งที่ 2 มาสำรวจเบื้องหลังความสำเร็จที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนที่น่าสนใจในระดับโลกไปพร้อมกัน
[ รางวัล "Green Destinations Top 100 Stories" จาก Green Destinations Foundation ]
นายณัฐพงศ์ สุขวิสิฏฐ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า "เมืองเก่าสุโขทัย" ได้รับรางวัล "Green Destinations Top 100 Stories" หรือ "รางวัลแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก" ครั้งแรกเมื่อปี 2021 และครั้งที่สองในปี 2023 เป็นผลจากความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนของโลกในระดับสากล จากการร่วมทำงานระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน ซึ่งจะทำให้เป็นที่รู้จักและดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ
ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า อพท. ดำเนินการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมีการนำมาตรฐานหรือหลักเกณฑ์ระดับสากลอย่าง "เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC)" มาดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านท่องเที่ยว ทั้งในมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
โดย Green Destinations Foundation องค์กรรับรองมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนจากประเทศเนเธอร์แลนด์ มีการมอบรางวัลแหล่งท่องเที่ยวที่มุ่งมั่นไปสู้ความยั่งยืน 100 แห่งในแต่ละปี ในชื่อรางวัล "Green Destinations Top 100 Stories" หรือ "รางวัลแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก"
[ เบื้องหลังความสำเร็จ ]
พ.อ.นาวิน ปรีชาพณิชยกุล ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร (อพท.สุโขทัย) เล่าว่า ในปี 2023 มีแหล่งท่องเที่ยวทั่วโลกเสนอชื่อเข้าประกวดเพื่อรับราววัล "Green Destinations Top 100 Stories" หรือ "รางวัลแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก" กว่า 165 เมือง โดยแต่ละแห่งจะต้องรายงานผลการดำเนินงานตามเกณฑ์ Green Destinations จำนวน 6 ด้าน คือ
1) การบริหารจัดการ
2) ธรรมชาติและทิวทัศน์
3) มรดกวัฒนธรรมและประเพณี
4) สิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ
5) ความเป็นอยู่ที่ดีทางสังคม
6) ธุรกิจและการสื่อสาร
รวมถึงจะต้องนำเสนอเรื่องราวการปฏิบัติที่ดี (Good Practice Story) ซึ่งในปี 2023 "เมืองเก่าสุโขทัย" นำเสนอเรื่อง "การอนุรักษ์ธรรมชาติเพื่อปกป้องแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน กรณีการจัดการสัตว์ต่างถิ่นรุกราน" (Nature conservation for potecting cultural attraction : the case of invasive species in Mueang Kao, Sukhothai) เป็นการจัดการความซับซ้อนของธรรมชาติที่อยู่ร่วมกับมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อจัดการปัญหาของสัตว์ต่างถิ่นรุกราน 2 สายพันธุ์ คือ ปลาดุกรัสเซียและนกยางอพยพ
[ จัดการปัญหาสัตว์ต่างถิ่นรุกราน ]
ปี 2020 มีฝูงนกยางประมาณ 300 - 600 ตัว ได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยที่วัดสระศรีและบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย แต่เมื่อถึงฤดูอพยพ กลับไม่มีการเคลื่อนย้ายออกไป ทั้งยังมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลให้มีปัญหามูลนกในโบราณสถาน สร้างความเสียหายทางทัศนียภาพ
อพท. ได้ดำเนินการสนับสนุนข้อมูลจากการสำรวจโดยผู้เชี่ยวชาญ จึงทราบว่า นกยางชนิดนี้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ห้ามทำร้ายและทำลายไข่ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยจึงได้ทำการตัดแต่งกิ่งไม่ในวัดสระศรี เพื่อลดการสร้างรังวางไข่ของนกยาง ทำให้จำนวนนกยางลดลงเรื่อยๆ
ขณะที่ปัญหาปลาดุกรัสเซีย ที่แพร่กระจายจากวัดตระพังทองมายังอุทยานประวัติศาสตร์ ยังคงมีการเฝ้าระวังไม่ให้เพิ่มจำนวน โดยการติดป้ายห้ามปล่อยปลาทุกชนิดและป้ายสื่อสารให้ความรู้ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมถึงสื่อสารเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพในอุทยานประวัติศาสตร์สร้างความตระหนักรู้ให้กับนักท่องเที่ยวให้เข้าใจการอยู่ร่วมกันระหว่างโบราณสถานและธรรมชาติ
ปัจจุบัน สระน้ำวัดตระพังทองอยู่ระหว่างการฟื้นฟูสภาพแหล่งน้ำและระบบนิเวศ มีการปล่อยพันธุ์ปลาท้องถิ่นและมีอาสาสมัครปลูกบัวท้องถิ่น เพิ่มออกซิเจนและเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ รวมถึงได้ใช้ประโยชน์พื้นที่รอบสระน้ำวัดตระพังทองที่ได้ปรับปรุงจนมีทัศนียภาพที่สวยงาม เช่น ตลาดรถไส ซึ่งเป็นตลาดขายของรถเข็นแบบโบราณ เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาค้าขายอาหารและสินค้าที่ระลึก กระจายรายได้ให้หมุนเวียนในท้องถิ่น เกิดเป็นรายได้ประมาณ 1.2 ล้านบาทต่อเดือน
[ ตัวอย่างการดำเนินการ ]
- การบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว : แหล่งท่องเที่ยว "เมืองเก่าสุโขทัย" ได้จัดตั้งคณะกรรมการประสานและชับเคลื่อนพัฒนาการท่องเที่ยว ต.เมืองเก่า อ.เมืองสุโขทัย จ.สุโขทัย ตามหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ให้ร่วมกันขับเคลื่อนการยกระดับสถานะความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยวตามเกณฑ์ GSTC ภายใต้การมีส่วนร่วมของท้องถิ่นและภาคีทุกภาคส่วน เป็นต้น
- การอนุรักษ์ธรรมชาติ : มีคลังข้อมูลระบบนิเวศธรรมชาติจากการสำรวจของผู้เชี่ยวชาญพร้อมกับวิเคราะห์ความเสี่ยงหรือความเปราะบาง ที่ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยว พร้อมจัดทำแนวทางการอนุรักษ์ การเฝ้าระวังและติดตามคณะกรรมการประสานและขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวตำบลเมืองเก่าฯ ได้จัดทำคู่มือ "การจัดการเพื่อติดตามผลกระทบและคุ้มครอง ที่อยู่อาศัย พันธุ์สัตว์ พันธุ์พืช และระบบนิเวศในแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเป็นไปตามหลักการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวิภาพ (The Convention on Biological Diversity หรือ CBD) เป็นต้น
- ภูมิทัศน์และทัศนียภาพ : "เมืองเก่า สุโขทัย" มีโบราณสถาน ศาสนสถาน อ่างเก็บน้ำ และสระน้ำ โดยหลายแห่งได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เช่น ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก เมื่อปี 1991 เป็นต้น ซึ่งเมืองเก่า สุโขทัย มีทัศนียภาพที่ผสมผสานระหว่างโบราณสถานและแหล่งธรรมชาติ ทำให้มีทิวทัศน์ที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ สามารถส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี อีกทั้งมีการตั้งอยู่ของบ้านเรือนชุมชน เห็นการดำเนินชีวิตที่ผสมผสานเป็นภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่งดงาม เป็นต้น
- มรดกทางวัฒนธรรมและการจัดการ : มีการประกาศข้อควรปฏิบัติในการเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2539)ออกตามความใน พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เพื่อควบคุมพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวในการเข้าชมโบราณสถาน เป็นต้น
- ภูมิปัญญา ศิลปะ หัตถกรรม มรดกทางวัฒนธรรม : พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ขึ้น เพื่อดึงเอาภูมิปัญญา ศิลปะ หัตถกรรมท้องถิ่นมาถ่ายทอดในรูปแบบกิจกรรมเวิร์กช็อบ ให้นักท่องเที่ยวใกล้ชิดกับช่างฝีมือผ่านการลงมือทำพร้อมๆ กัน เป็นต้น
ทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวไปสู่ความยั่งยืนของประเทศไทย โดยเมืองเก่าสุโขทัย เป็นหนึ่งในโมเดลตัวอย่างที่เราสามารถเห็นถึงความยั่งยืนในการท่องเที่ยวได้อย่างชัดเจน ทั้งในมิติของสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่มีการตั้งเป้าหมายสู่ความยั่งยืน รอให้ทุกคนไปสัมผัสและสนับสนุน จะมีที่ไหนบ้าง ต้องติดตามในโอากาสต่อไป
.