การแถลงทิศทางนโยบายและแผนงานที่สำคัญ
คำแถลงนโยบายและแผนการดำเนินงาน อพท. ประจำปี พ.ศ. 2566
โดย นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท.
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. มีภารกิจ การดำเนินงานด้านการบริหารและการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ทั้งในประเทศและระดับสากล โดย อพท. ยึดมั่นในปรัชญาการทำงานแบบ Co-Creation & Co-Own คือ “ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ ร่วมรับผลประโยชน์ และร่วมเป็นเจ้าของ” บนพื้นฐานในการทำงานที่จะธำรงไว้ ซึ่งคุณธรรมและความโปร่งใส ในการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มและกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนท้องถิ่น ภายใต้กรอบวิสัยทัศน์ “เป็นองค์กรแห่งความเป็นเลิศด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างชุมชนแห่งความสุข” โดยในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา อพท. ได้พัฒนาการท่องเที่ยวและสร้างต้นแบบเพื่อสร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria: GSTC) ใน 6 พื้นที่พิเศษผ่านการดำเนินโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาล แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ที่ประสบความสำเร็จในประเด็นสำคัญดังนี้
1. ภารกิจด้านการประกาศพื้นที่พิเศษ อพท. ดำเนินการประกาศพื้นที่พิเศษแห่งใหม่ 3 แห่ง ได้แก่ พื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา พื้นที่จังหวัดเชียงราย และพื้นที่คุ้งบางกะเจ้า นำเสนอต่อ ท.ท.ช. สำหรับพื้นที่พิเศษอีก 6 แห่ง ที่ประกาศไปแล้ว คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบการทบทวนแผนฯ จนครบทั้ง 6 พื้นที่แล้ว
2. ภารกิจด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ อพท. ได้มุ่งเน้นพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อสร้างการท่องเที่ยว ที่ยั่งยืน ตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria: GSTC)
2.1 มีพื้นที่เป้าหมายได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก หรือ Global Sustainable Destinations Top 100 ได้แก่ พื้นที่ตำบลเกาะหมาก จ.ตราด โดยพื้นที่ดังกล่าวยังได้รับรางวัล 2022 Green Destinations อันดับ 2 ของโลก Top 100 Stories ด้วย
2.2 ขับเคลื่อนเมืองตามแนวทางเครือข่ายเมืองท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (The UNESCO Creative Cities Network: UCCN) ซึ่งมีเป้าหมายดำเนินงานตาม Roadmap ใน 2 พื้นที่ ได้แก่
(1) พื้นที่ จ.น่าน มีกิจกรรมที่สำคัญ อาทิ 1) นำฐานข้อมูลด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านไปยกระดับและต่อยอดให้เกิดกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ 2) ยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านเมืองน่าน 3) สร้างพื้นที่งานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านเมืองน่านเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) 4) สร้างเครือข่ายร่วมกับสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ 5) สร้างความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนเมืองน่านสู่การเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO และ 6) ประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อนำเสนออัตลักษณ์เมืองน่านให้เป็นที่รับรู้
(2) พื้นที่ จ.สุพรรณบุรี มีกิจกรรมที่สำคัญ อาทิ 1) สร้างเครือข่ายระดับประเทศและระดับสากลดำเนินงานด้านดนตรีร่วมกับภาคีเครือข่ายในระดับประเทศ 2) ส่งเสริมองค์ความรู้และยกระดับการพัฒนาดนตรีสร้างสรรค์สู่สากล และ 3) สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่และส่งเสริมคุณค่าทางด้านดนตรีสู่สากล
2.3 พัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community Based Tourism: CBT) โดยการ “สร้างต้นแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน” จากการใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน หรือ CBT Thailand โดยมีเป้าหมายผลักดันชุมชนเข้าสู่ตลาดอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ซึ่งกระบวนการพัฒนา ประกอบด้วย 1) การพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว 2) การประชุมกำหนดทิศทางร่วมกับผู้ประกอบการท่องเที่ยวเพื่อพัฒนาด้านการตลาด 3) การทดสอบเส้นทางการท่องเที่ยว (Product testing) ร่วมกับผู้ประกอบการ 4) การนำเสนอขายโปรแกรมการท่องเที่ยว และในปี 2565 ชุมชนบ้านโคกเมือง จ.บุรีรัมย์ ได้รับรางวัล PATA GOLD AWARDS 2022 ประเภทความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคมด้านมรดก (HERITAGE)
3. การบริหารจัดการภายในองค์กรที่มีผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment: ITA) ประจำปี 2565 อพท.ได้รับคะแนนร้อยละ 98.72 อยู่ในระดัับ AA และถือเป็นหน่วยงานที่่ได้รับคะแนนประเมินสูงสุดป็นอันดับ 1 จากกลุ่่มองค์การมหาชน 57 หน่วยงานที่เข้าร่วมรับการประเมิน
จากความสำเร็จในรอบปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นผลจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และได้นำมาซึ่งความท้าทายในการขับเคลื่อนภารกิจในปี 2566 อพท. ยังคงดำเนินการบริหารงานที่ยึดมั่นในปรัชญาการทำงานแบบ Co-Creation คือ “ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับผลประโยชน์” และร่วมเป็นเจ้าของ หรือ Co-Own ต่อไป เพื่อให้ทุกภาคส่วนเกิดความหวงแหนร่วมกัน โดยภารกิจเร่งด่วนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 6 ภารกิจ ดังนี้
1.โครงการ Big Rock ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน
1.1 ศูนย์แห่งความเป็นเลิศและแหล่งเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (ศูนย์ท่าโสม)
1.2 การพัฒนาท่าเทียบเรือสลักเพชร
1.3 ศูนย์เรียนรู้และแสดงผลงานสร้างสรรค์
1.4 Skywalk เชียงคาน
1.5 Co-Working Space / Creative Space
1.6 โครงการพัฒนาเกม 3 มิติบนอุปกรณ์เคลื่อนที่
2.ทบทวนแผนยุทธศาสตร์รายพื้นที่ของ อพท. (6 พื้นที่ และ ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา)
3.ส่งเสริมพื้นที่พิเศษลุ่มนํ้าทะเลสาบสงขลาเพื่อรับรางวัลหรือมาตรฐานระดับชาติและนานาชาติ
4.แก้ไข พ.ร.ฏ. จัดตั้ง อพท.
5.การประกาศพื้นที่พิเศษคลองท่อมและพื้นที่พิเศษเกาะคอเขา
6.การหารายได้เพิ่มเติมจากทรัพย์สินและกิจกรรมสำคัญของ อพท.
สำหรับนโยบายและแผนงานที่จะดำเนินการเพิ่มเติม เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่องค์กร ให้มีความมั่นคง และยั่งยืน มีผลสัมฤทธิ์ที่สำเร็จเป็นรูปธรรม ตอบสนองนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติ โดยส่วนหนึ่งจะเป็นการดำเนินงานที่ ต่อยอดจากแผนงานเดิมที่วางไว้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะมุ่งเน้นดำเนินงานตามแนวทาง อาทิ
- พัฒนา อพท. ให้เป็นองค์กรแห่งความตื่นตัว คล่องแคล่ว ตอบโจทย์ความเป็นองค์การมหาชน โดยเริ่มจากการพัฒนาและยกระดับศักยภาพของบุคลากรที่มีความตื่นตัว มีคุณลักษณะเป็นนักประสานงาน นักส่งเสริม เป็นผู้นำ และเป็น นักยุทธศาสตร์ เพื่อการทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้นำศักยภาพของตัวเองมาร่วมกันพัฒนาพื้นที่และชุมชนที่ อพท. ได้รับมอบหมายจนเป็นผลสำเร็จ
- ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรใหม่ (Restructuring) ให้ป็นองค์กรที่ “จิ๋วแต่แจ๋ว” ภายใต้ข้อจำกัดด้านงบประมาณบุคลากร และภารกิจที่มีความท้าทายในปัจจุบัน ที่ต้องมีสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 30 ของวงเงินงบประมาณที่ได้รับ
- มุ่งเน้นให้บุคลากรทำงานให้เต็มศักยภาพ มีทักษะที่หลากหลาย (Multi skill) สามารถทำงานภายใต้สภาวะแรงกดดันได้ดี และให้ความสำคัญกับบุคลากรในทุกระดับงาน เปิดโอกาสให้ทุกคนได้คิด ได้เสนอ และได้ทำในสิ่งที่มีความชอบและมีความถนัด มีการถอดบทเรียนของความสำเร็จสู่นวัตกรรมที่ดียิ่งขึ้น บุคลากรของ อพท. สามารถคิดนอกกรอบได้อย่าง มีเหตุและผล เพื่อให้เกิดแนวคิดใหม่ ๆ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนและภาคีเครือข่ายให้เกิดการพัฒนาไปพร้อมกัน
- สร้างวัฒนธรรมองค์กร ให้บุคลากรมีความภูมิใจที่ได้ทำงานในองค์กรแห่งนี้ มีคุณลักษณะความเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการ ถึงระดับหัวหน้างาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ปฏิบัติงานมีพลังในการทำงานได้บรรลุเป้าหมายตามกำหนดเวลา ภายใต้แนวความคิด “รับผิดชอบ รวดเร็ว สำเร็จภารกิจ ทันเวลา”
- ไฟล์แนบ :คำแถลงนโยบายการบริหารงาน อพท. 2566.pdf
-
Rate :
- ขนาดไฟล์ :0.135
- จำนวนดาวน์โหลด :17 ครั้ง