องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

เครื่องปั้นดินเผา

1627915200
ขนาดตัวอักษร

เครื่องปั้นดินเผา เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีความสัมพันธ์ เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตชาวล้านนามาอย่างแนบแน่นเป็นเวลายาวนาน เนื่องจากเครื่องปั้นดินเผาเป็นเครื่องมือในการศึกษา ประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ตลอดจนวิถีชีวิตของชุมชนของยุคสมัยที่มีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาแบบนั้น ๆ
          แหล่งเตาเผาและเครื่องเคลือบจังหวัดน่าน พบที่บ้านบ่อสวก ตำบลบ่อสวก อำเภอเมือง จังหวัดน่าน ในอดีตเคยเป็นแหล่งผลิตเครื่องเคลือบภาชนะดินเผาที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดน่าน มีรูปแบบและกรรมวิธีการผลิตเป็นลักษณะเฉพาะของตนเอง สันนิฐานว่าการผลิตเครื่องเคลือบที่บ้านบ่อสวก เริ่มขึ้นและพัฒนาในสมัยของเจ้าพระยาพลเทพฤาชัย (พ.ศ. 2071 – 2102) ซึ่งเป็นยุคสมัยแห่งความรุ่งเรืองของจังหวัดน่าน เตาเผาแห่งนี้ ได้รับการสำรวจและศึกษาเบื้องต้น โดยกองโบราณคดี กรมศิลปากร มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 เป็นแหล่งโบราณคดีชุมชน อยู่ที่บ้านบ่อสวกพัฒนา หมู่ที่ 10 ตำบลบ่อสวก ห่างจากตัวเมือง 17 กิโลเมตร แหล่งที่มีการค้นพบเตาเผาเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2542 ตั้งอยู่ในเขตบ้านพักของ จ.ส.ต. มนัส และคุณสุนัน ติคำ บริเวณที่พบเตา อยู่ริมแม่น้ำ ลักษณะของเตาหันหน้าเข้าหาแม่น้ำเพื่อการสะดวกในการขนส่ง ภายในเป็นโพรงใหญ่เพื่อให้คนเข้าไปข้างในได้ เตามีความลาดเอียงและมีปล่องระบายอากาศอยู่ด้านบน เตาโบราณจำนวน 2 เตา ได้รับการบูรณะและก่อสร้างอาคารคลุม ส่วนบริเวณใต้ถุนบ้าน จัดเป็นนิทรรศการแสดงโบราณวัตถุจากแหล่งเตาเผา
          นอกจากนี้ ยังมีอาคารพิพิธภัณฑ์ดงปู่ฮ่อ ที่เป็นศูนย์บริการข้อมูลเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การขุดค้น แหล่งโบราณคดีบ่อสวก ซึ่งในอดีตคาดว่าที่นี่ เคยเป็นแหล่งเตาที่ผลิตเครื่องเคลือบภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ในระดับอุตสาหกรรม และได้รับความนิยมอย่างมากในพื้นที่เขตภาคเหนือ ดังจะพบเห็นภาชนะดินเผาจากแหล่งเตาแหล่งนี้ ไปปรากฏที่แหล่งฝังศพในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และในพื้นที่จังหวัดตาก โดยเทคนิคการทำเครื่องปั้นดินเผาที่นี่ ได้รับอิทธิพลมาจากกลุ่มเตา
          สันกำแพง และกลุ่มเตาเวียงกาหลง ซึ่งเป็นกลุ่มเตาของจังหวัดเชียงใหม่ แสดงให้เห็นถึงคุณภาพของเครื่องเคลือบดินเผาของเตาบ้านบ่อสวก ที่นิยมใช้กันอย่างกว้างขวางในพื้นที่เขตภาคเหนือ นอกจากนี้ 
          การพิสูจน์ของนักโบราณคดี ยังทำให้ทราบว่า เตาเผาและเครื่องปั้นดินเผาของบ้านบ่อสวก มีอายุเทียบเคียงได้กับแหล่งเตาเผาศรีสัชนาลัยเมืองสุโขทัย ซึ่งเป็นแหล่งเตาเผาเครื่องสังคโลกที่สำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทยอีกด้วย