องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

สุดปัง! อพท. ส่ง “พื้นที่ทะเลน้อย พัทลุง” คว้ารางวัลนานาชาติท่องเที่ยวยั่งยืน Skål International Sustainable Tourism Awards 2024

1732270440
ขนาดตัวอักษร

สุดปัง! อพท. ส่ง “พื้นที่ทะเลน้อย พัทลุง” คว้ารางวัลนานาชาติท่องเที่ยวยั่งยืน 
Skål International Sustainable Tourism Awards 2024

 

          อพท. ส่งผลงานพื้นที่ทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ทะเลสาบน้ำจืดของไทย คว้ารางวัลรองชนะเลิศรางวัล Skål International Sustainable Tourism Awards 2024 ประเภทความหลากหลายทางชีวภาพทางบกและทางทะเล” จัดโดยสมาคมสกัลสากล (Skål International) ได้รับการจัดอันดับรองชนะเลิศ (อันดับที่ 2) จาก 9 ผลงานที่ส่งเข้าประกวดในรางวัลประเภทเดียวกัน

          นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. เปิดเผยว่า ในปี 2567 อพท. ได้พิจารณาคัดเลือกพื้นที่ทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง ทะเลสาบน้ำจืดของไทย ซึ่งอยู่ในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา พื้นที่พิเศษฯ น้องใหม่ที่ได้รับการประกาศไปเมื่อปี 2565 ที่ผ่านมา โดยเน้นพัฒนาด้วยการชูต้นแบบการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวัฒนธรรม จึงได้ส่งผลงานเข้าขอรับรางวัล Skål International Sustainable Tourism Awards 2024 ผ่านการนำเสนอผลงาน ‘พื้นที่ทะเลน้อย’ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีความสำคัญในระดับชาติและระดับนานาชาติ ซึ่งได้รับการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่าแห่งแรกของประเทศไทย ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่และมีความหลากหลายทางชีวภาพของทะเลน้อย ยังทำให้พื้นที่ “พรุควนขี้เสี้ยน” ของทะเลน้อยได้รับการประกาศให้เป็นเขตพื้นที่ชุ่มน้ำโลก หรือ “แรมซาร์ ไซด์” (Ramsar Site) แห่งแรกในเมืองไทย เมื่อปี 2541 และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ประกาศให้ “การเลี้ยงควายปลักและระบบนิเวศในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย” เป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของประเทศไทย (Global Important Agricultural Heritage Systems : GIAHS) ในปี 2565 รวมทั้งมีการอนุรักษ์พื้นที่บนพื้นฐานของความยั่งยืน โดยคงการใช้ประโยชน์ของคนในชุมชนและมีภูมิปัญญาวัฒนธรรม การดำรงชีวิตที่กลมกลืนกับระบบนิเวศ เพื่อให้พื้นที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพ ไปพร้อมกับการยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนผ่านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอย่างยั่งยืน ซึ่งจากผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ เห็นว่า ผลงานที่ อพท.นำเสนอ มีความโดดเด่นในด้านการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชนท้องถิ่น มีกิจกรรมการพัฒนาศักยภาพบุคลากร การฝึกอบรมและการมีส่วนร่วมของชุมชนที่ชัดเจน จนได้รับการจัดอันดับรองชนะเลิศ โดยมีข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนาต่อของชุมชนพื้นที่ทะเลน้อยในด้านการตลาดและด้านการขยายพื้นที่หรือรูปแบบการอนุรักษ์ทรัพยากรเพิ่มเติม ซึ่ง อพท. เตรียมพร้อมดำเนินการเพื่อพัฒนาศักยภาพของชุมชนให้เกิดความยั่งยืนตามมาตรฐานในระดับสากลต่อไป

 

          ผู้อำนวยการ อพท. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สมาคมสกัลสากล (Skål International) เป็นเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนระดับสากลที่ใหญ่ที่สุดของโลก ก่อตั้งขึ้นในปี 1932 ณ ประเทศฝรั่งเศส และมีสำนักงานใหญ่ในประเทศสเปน มีภารกิจในการส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวในระดับนานาชาติ พร้อมทั้งสร้างเสริมพันธมิตรเพื่อเชื่อมโยงทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวระดับโลก โดยได้เริ่มจัดการประกวดรางวัล Skål International Sustainable Tourism Awards ตั้งแต่ปี 2002 เพื่อสร้างการรับรู้และส่งเสริมผลงานที่ส่งเสริมความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโลก ซึ่งการประกาศรางวัลในปีนี้ สมาคมฯ ได้ประกาศผลและมอบรางวัล Skål International Sustainable Tourism Awards 2024 อย่างเป็นทางการในงานประชุม Skål International World Congress ครั้งที่ 83 ณ เมืองอิซมีร์ สาธารณรัฐตุรกี เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา จึงนับเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของการพัฒนาพื้นที่และยกระดับแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษให้เกิดความยั่งยืนสู่มาตรฐานสากล ทั้งนี้ อพท. ยังมุ่งเป้ายกระดับแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษอื่นๆ ของ อพท. เพื่อรับรางวัลทั้งในระดับประเทศ และระดับนานาชาติต่อไป

          ผู้สนใจสามารถติดตามรายชื่อหน่วยงานและผลงานที่ได้รับรางวัลฯ ได้ที่ https://www.skal.org/sta-winners และ https://www.facebook.com/skalinternational/