องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

ความเป็นมา

1626086280
ขนาดตัวอักษร

          พัทยาเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก สามารถสร้างรายได้ให้ประเทศปีละประมาณ 48,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งประเทศ นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเดินทัพของพระเจ้าตากสิน เมืองนี้จึงได้ชื่อว่า “ทัพพระยา” มาก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น “พัทยา” (TAPPAYA = PATTAYA)

          ปัจจุบันเมืองพัทยากำลังประสบปัญหาด้านมาตรฐานการท่องเที่ยว ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อมสาธารณูปโภคไม่เพียงพอ แหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรม ปัญหาอาชญากรรม และปัญหาการขยายตัวของชุมชนตะวันออกนอกเมืองพัทยา ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาเชื่อมโยงระหว่างเมืองพัทยาและพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) การแก้ปัญหาดังกล่าวจึงมีข้อจำกัดด้านกฎหมาย ระเบียบบริหาร ปัญหาการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นภารกิจที่เกินอำนาจหน้าที่ของเมืองพัทยาและศักยภาพของอปท.

          เมืองพัทยาจึงได้แจ้งความจำนงมายัง อพท. ขอพิจารณาประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2551 อพท. จึงได้พิจารณาตามหลักเกณฑ์การประกาศพื้นที่พิเศษ เห็นว่าเมืองพัทยาและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นพื้นที่ที่มีความโดดเด่นอันทรงคุณค่าทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งยังมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมที่น่าสนใจ

          ตามวิสัยทัศน์ของ อพท. ว่าด้วยการประสานทุกภาคีเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จึงได้ดำเนินการประสานความร่วมมือในเบื้องต้นจัดการประชุมสำรวจความคิดเห็นของคนในท้องถิ่น ทั้งประชาชน หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและภาคเอกชน ณ ศาลาว่าการเมืองพัทยา เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2551 เพื่อทำความเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ของ อพท. ผลสำรวจความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมการประชุมกว่าร้อยละ 70 เห็นด้วยกับการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษ

          หลังจากนั้นระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม – 21 กันยายน 2551 ยังมีการประชุมย่อยสำรวจความคิดเห็นของประชาชนอีก 29 ครั้ง ในพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 8 แห่งด้านตะวันออก ได้แก่ เทศบาลตำบลโป่ง เทศบาลตำบลนาจอมเทียน เทศบาลตำบลบางละมุง เทศบาลตำบลตะเคียนเตี้ย เทศบาลตำบลห้วยใหญ่ เทศบาลตำบลหนองปรือ องค์การบริหารส่วนตำบลเขาไม้แก้ว และองค์การบริหารส่วนตำบลหนองปลาไหล เพื่อสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วม ซึ่งตัวแทนระดับจังหวัด ตัวแทนระดับอำเภอ ตัวแทนอปท. ตัวแทนสมาคม องค์กรพัฒนาเอกชน สื่อมวลชน ตัวแทนภาคเอกชน ผู้นำชุมชม และประชาชน เห็นด้วยกับการประกาศเป็นพื้นที่เชื่อมโยงของพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาถึงร้อยละ 95

          ในการนี้ผู้แทน อปท. จึงได้ร่วมลงนามบันทึกความสมัครใจไว้กับ อพท. เพื่อให้ชุมชนของตนเองได้เพิ่มโอกาสด้านการท่องเที่ยวทั้งเชิงนิเวศและวัฒนธรรมควบคู่ไปกับการอนุรักษ์เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อพท. จึงได้นำผลความร่วมมือดังกล่าวเสนอต่อคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (กพท.) ซึ่งเห็นชอบให้จัดจ้างที่ปรึกษาศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำโครงการศึกษาความเหมาะสมการประกาศเป็นเขตพื้นที่พิเศษ โดยจะต้องสำรวจสภาพพื้นที่ ด้านภูมิประเทศ เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม

         กพท. นำผลการดำเนินการดังกล่าวเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการประกาศพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2552 และประกาศแนวเขตพื้นที่พิเศษในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2552 เล่มที่ 126 ตอนพิเศษ 71 ง หน้า 37 ครอบคลุมพื้นที่ 928.47 ตารางกิโลเมตร หรือ 580,293.75 ไร่ 

          ในขั้นตอนของการจัดทำแผนแม่บทการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน พบว่ามีความจำเป็นต้องขยายเขตพื้นที่พิเศษให้ครอบคลุม “องค์การบริหารส่วนตำบลนาจอมเทียน” เนื่องจากเป็นพื้นที่ติดต่อกับเทศบาลนาจอมเทียน และมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอยู่มาก ซึ่งมีขนาดพื้นที่ 59.25 ตารางกิโลเมตร หรือ 37,031.25 ไร่

          ดังนั้น เขตพื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง จึงมีขนาดพื้นที่ทั้งสิ้น 987.72 ตารางกิโลเมตร หรือ 617,325.0 ไร่ รวม 10 พื้นที่ อพท. จึงได้จัดตั้งสำนักงานพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง ขึ้นเพื่อดูแลการบริหารจัดการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่พิเศษเมืองพัฒนาและพื้นที่เชื่อมโยง โดยครบคลุมพื้นที่ดังนี้

               1. เมืองพัทยา

               2. เทศบาลเมืองหนองปรือ

               3. เทศบาลตำบลบางละมุง

               4. เทศบาลตำบลตะเคียนเตี้ย

               5. เทศบาลตำบลหนองปลาไหล

               6. เทศบาลตำบลโป่ง

               7. เทศบาลตำบลห้วยใหญ่

               8. เทศบาลตำบลนาจอมเทียน

               9. เทศบาลตำบลเขาชีจรรย์

               10. องค์การบริหารส่วนตำบลเขาไม้แก้ว