อพท. เดินหน้าสู่การเป็น “องค์กรแห่งความเป็นเลิศด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างชุมชนแห่งความสุข”
"นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี" เดินหน้าสู่การเป็น "องค์กรแห่งความเป็นเลิศด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างชุมชนแห่งความสุข" สอดคล้องแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งอพท. จะทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางในการประสาน ส่งเสริมและสนับสนุนทุกภาคีการพัฒนา ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวในเชิงบูรณาการ และประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยว
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า การวางยุทธศาสตร์การทำงาน อพท. ได้จัดทำแผนขับเคลื่อนระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2562-2565) มีวิสัยทัศน์ในการดำเนินงานว่า "เป็นองค์กรแห่งความเป็นเลิศด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเพื่อสร้างชุมชนแห่งความสุข"
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี
สำหรับพันธกิจที่ต้องดำเนินการในช่วงนี้ถึงปี 2565 ประกอบด้วย
1) พัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อสร้างการท่องเที่ยวโดยชุมชน
2) พัฒนาการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน
3) ส่งเสริมการท่องเที่ยวสร้างสรรค์เสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน และ
4) บูรณาการร่วมกับทุกภาคีเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการการท่องเที่ยว
ซึ่งจาก "แผนขับเคลื่อน อพท. ระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2562-2565)" ประกอบด้วย 4 ประเด็นยุทธศาสตร์การดำเนินงาน ดังนี้
1) บริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษสู่ความเป็นต้นแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
2) พัฒนาและส่งเสริมต้นแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยชุมชนที่ได้มาตรฐาน
3) บูรณาการ ประสานและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคีในการจัดการการท่องเที่ยว
4) ขับเคลื่อนสู่องค์กรที่เป็นเลิศในการบริหารจัดการการท่องเที่ยว โดยมีเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเชื่อมโยงพื้นที่พัฒนาที่สำคัญ เพื่อสร้างความสมดุลทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
สอดคล้องตามจุดเน้นของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่ง อพท. จะทำหน้าที่เป็นองค์กรกลางในการประสาน ส่งเสริมและสนับสนุนทุกภาคีการพัฒนา ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวในเชิงบูรณาการ และประสานงานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยว ให้มีการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวในเชิงคุณภาพ ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมแบบ Co-Creation การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Low Carbon Tourism) การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) ที่ต้องมีรูปแบบที่ชัดเจน จำเป็นต้องมีเรื่องของการสร้างสรรค์ (Creativity) และกระบวนการออกแบบการท่องเที่ยว
ซึ่งเรียกว่า The 3S Principles ประกอบด้วย
- เรื่องราว (Stories) มีเรื่องราวจากทุนวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ผ่านการสืบค้น ร้อยเรียง ออกแบบ และนำเสนอได้อย่างน่าสนใจ
- อรรถรส (Senses) สามารถจับต้องได้ผ่านประสาทสัมผัส (Sensory Analysis) ได้แก่ การมองเห็น (Seeing) การดมกลิ่น (Smelling) การได้ยิน (Hearing) การสัมผัส (Touching) และการลิ้มรส (Tasting)
- ลีลา (Sophistication) กิจกรรมมีความลื่นไหล โดดเด่นและแตกต่าง สามารถกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ รังสรรค์ผลงานใหม่ ๆ พร้อมทั้งมีการปรับปรุงพัฒนากิจกรรมอย่างต่อเนื่อง มีลีลาและชั้นเชิงในการสื่อความหมายและนำเสนอ รู้จังหวะ รู้วิธีที่เหมาะสม ในการสร้างความน่าสนใจให้กับสิ่งที่นำเสนอ