องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

แอ่วเมืองน่าน ลิ้มรส 5 เมนูอาหารพื้นเมืองฉบับต้นตำรับ ถึงรสถึงเครื่อง

1625973540
ขนาดตัวอักษร

          ทำความรู้จักและชิมรสชาติอาหารพื้นเมืองน่านแบบฉบับต้นตำรับ กับของอร่อยที่หารับประทานได้ที่นี่เท่านั้น เพราะนำวัตถุดิบพื้นเมืองมาประกอบอาหาร จนได้เมนูที่เป็นเอกลักษณ์
 


          ว่ากันว่า "อาหารถิ่น" สามารถสะท้อนถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพื้นที่นั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี เพราะวัตถุดิบ ส่วนผสม และการปรุงรสของแต่ละเมนู บอกเล่าถึงวัฒนธรรมหรือการสั่งสอนจากรุ่นสู่รุ่น จังหวัดน่านเองก็มีความโดดเด่นทางด้านอาหาร องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญนี้ จึงได้พัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้ไปเรียนรู้และทดลองชิมอาหารพื้นถิ่นเมืองน่าน ที่มีรสชาติและลักษณะเฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็น

1. ไก่ทอดมะแขว่น

          กลิ่นหอม ๆ แตะจมูก ความกรุบกรอบของหนังไก่ และสัมผัสนุ่ม ๆ ของเนื้อปีก กินกับข้าวเหนียวร้อน ๆ บอกเลยว่าฟินสุด ๆ ส่วนความพิเศษของไก่ทอดมะแขว่น ที่ทำให้แตกต่างจากไก่ทอดทั่วไป ก็คือ ความเผ็ดร้อนของ "มะแขว่น" เครื่องเทศเด็ดของชาวล้านนา ที่มีลักษณะคล้ายพริกไทยดำ คนเหนือนิยมนำมาทำปรุงอาหารเพื่อชูรสและดับกลิ่นคาว นอกจากนี้ยังมีสรรพคุณทางยา ช่วยบำรุงโลหิต ขับลมในลำไส้ ถอนพิษฟกบวม โดยลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของมะแขว่นเป็นไม้ยืนต้น ความสูงประมาณ 5-10 เมตร มีหนามตามลำต้นและกิ่งก้าน ใบประกอบแบบขนนกเรียงสลับกัน ปลาบใบเรียวแหลม ฐานใบไม่เสมอกัน ออกดอกเป็นช่อ ดอกมีขนาดเล็กสีขาว มีผลทรงกลมผิวแห้ง ผิวขรุขระ เมื่อแก่ผลจะแตกเห็นเมล็ดสีดำ เป็นส่วนที่นำมาปรุงอาหารนั่นเอง

 


2. แกงส้มเมือง

          อีกหนึ่งอาหารพื้นเมืองน่าน ที่ไปแล้วควรได้ลองกินสักครั้ง ซึ่งเมนูนี้แตกต่างจากแกงส้มภาคกลางคือ แกงส้มเมือง ใช้ขมิ้นทำให้น้ำแกงออกสีเหลือง พร้อมด้วยผักพื้นเมือง อาทิ ผักบุ้งเมือง ผักกูด และมะเขือเทศ พร้อมด้วยปลาคัง เพราะเป็นปลาก้างน้อย แต่เนื้อเยอะ กินคู่กับข้าวสวยร้อน ๆ อร่อยเป็นที่สุด 

3. แกงสะนัด

          ไม่ต้องแปลกใจหากรู้สึกไม่ค่อยคุ้นหูกับชื่อเมนูนี้สักเท่าไรนัก เพราะเป็นอาหารถิ่นโบราณที่หากินยาก ในปัจจุบันมีเฉพาะที่ "คุ้มเจ้าเมฆวดี ณ น่าน" อยู่ที่ชุมชนในเวียง อำเภอเมืองน่าน สืบทอดโดย เจ้าชุติมา ณ น่าน ทายาทรุ่นที่ 4 ของเจ้าเมืองน่านองค์ที่ 64 (องค์สุดท้าย) โดยเมนูนี้เป็นอาหารที่ทำกินในคุ้มตั้งแต่อดีต สมัยนั้นข้าหลวงรับใช้จะเข้ามาได้ก็ต่อเมื่อเจ้านายเรียกหาหรือเสิร์ฟขันโตก โดยสำรับของคุ้มเจ้าหลวงจะมีการส่งผัก-เสบียง เพื่อให้คนในแต่ละคุ้มไปทำอาหาร และเกิดอาหารชื่อแปลกอย่าง แกงสะนัด ที่มีความหมายว่า ใส่หนัก ๆ หรือใส่เยอะ ๆ เน้นผักพื้นเมืองหรือผักที่เหลือจากการประกอบอาหารมาต้มรวมกัน เช่น มะเขือเปราะ ถั่วฝักยาว ฯลฯ แล้วเพิ่มรสด้วยเครื่องปรุงท้องถิ่น เช่น หอมเจียว กะปิ น้ำปลาร้าต้มสุก และใบส้มป่อย
 


4. แกงอะยิอะเยาะ

          แกงที่มีชื่อจากภาษาพื้นเมือง คนน่านเข้าใจกันดี เพราะคำว่า อะยิอะเยาะ เป็นภาษาถิ่น มีความหมายว่า อย่างละนิดอย่างละหน่อย ดังนั้น แกงผักอะยิอะเยาะ จึงหมายถึง แกงที่ใส่ผักอย่างละนิดละหน่อย หากอยากจะลองชิมละก็ แนะนำให้แวะไปที่ ชุมชนดอนมูล ตำบลดู่ใต้ อำเภอเมือง ซึ่งนอกจากจะเปิดโอกาสให้ได้ลิ้มรสความอร่อยแล้ว ยังสามารถเรียนรู้วิธีทำร่วมกับคนในชุมชนได้อีกด้วย โดยอาหารส่วนใหญ่เป็นผักตามฤดู เช่น ฟักทอง, ผักหวาน, บวบ, เห็ด และเห็ดฟาง ฯลฯ นำมาดัดแปลงเป็นเมนูท้องถิ่น ชูรสด้วยเครื่องแกงจากหอมแดง กระเทียม พริกชี้ฟ้าเขียว กะปิ เกลือ ที่นำมาโขลกรวมกัน พร้อมกับเพิ่มกลิ่นด้วยปลาแห้ง

 


5. ไข่งามงอน

          อาหารประจำคุ้ม "โฮงเจ้าฟองคำ" ที่ปัจจุบันกลายเป็นอาหารพื้นเมืองห้ามพลาดของจังหวัดน่าน ชื่อของเมนูมาจากหน้าตาที่สวยงามของไข่หลังการปรุงเรียบร้อยแล้ว แต่ทว่าขั้นตอนการทำใช้เวลานานบวกกับความพิถีพิถัน ทำให้ลูกหลานที่มาทำหน้าหงิกงอน นั่นเอง
 


          เรียกได้ว่าอาหารพื้นเมืองน่านแต่ละอย่าง เห็นแล้วน้ำลายสอจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นไก่ทอดมะแขว่น แกงส้มเมือง แกงสะนัด แกงอะยิอะเยาะ หรือไข่งามงอน เพราะเป็นอาหารพื้นถิ่นที่หากินได้เฉพาะในท้องที่ เอาเป็นว่าหากมีโอกาสได้แวะไปเที่ยวน่าน ก็อย่าลืมลิ้มลองรสชาติต้นตำรับของพวกเขากันนะ

ขอบคุณข้อมูลจาก
เว็บไซต์ smartdastaapp.dasta.or.th
เว็บไซต์ w1.med.cmu.ac.th
เว็บไซต์ oer.learn.in.th
เว็บไซต์ creative-tourism
เฟซบุ๊ก อพท.สำนักงานพื้นที่พิเศษ ๖ DASTA - Nan Old City