องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

ดีใจครั้งที่  2 แล้ว ที่ได้พบ “พ่อหลวงซาเจ๊ะ” แห่งบ้านผาหมี ตำบลเวียงผางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย 

1725117120
ขนาดตัวอักษร

ดีใจครั้งที่  2 แล้ว ที่ได้พบ “พ่อหลวงซาเจ๊ะ” แห่งบ้านผาหมี ตำบลเวียงผางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย 


คุณลุงซาเจ๊ะ หรือพ่อหลวงซาเจ๊ะ คือ คนที่อยู่ในภาพ ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จเยี่ยมชุมชนบ้านผาหมีแห่งนี้ คุณลุงซาเจ๊ะ คือ อดีตผู้ใหญ่บ้านบ้านผาหมี ผู้ที่เคยรับเสด็จและรับใช้ใกล้เบื้องพระยุคลบาท ท่านเล่าให้ฟังว่า “ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จมาบ้านผาหมีถึง 3 ครั้ง  ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2512 (ครั้งแรกจริงๆ คือไม่นับ เพราะเฮลิคอปเตอร์เสด็จ ไม่สามารถลงจอดได้) ครั้งที่ 1 เมื่อปี พ.ศ.2513 ในหลวงพร้อมด้วยส่วนหน้า ทหารพรานและตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) เสด็จมาที่หมู่บ้านผาหมีแห่งนี้ ครั้งที่ 2 เมื่อปี พ.ศ.2515 และครั้งที่ 3 เมื่อ พ.ศ. 2517” ซึ่งในครั้งสุดท้ายนี้ ในหลวงได้รับสั่งกับพ่อหลวงซาเจ๊ะว่า คงจะไม่ได้เสด็จมาที่นี่แล้ว แต่จะมอบให้ หม่อมเจ้าภีสเดช เป็นผู้ดูแลแทน


จากการพูดคุยกับคุณลุงซาเจ๊ะ ท่านเล่าความประทับใจถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้อย่างชัดเจน เหมือนเรื่องราวเพิ่งเคยเกิดขึ้นไม่นาน แต่ผ่านมาแล้วเกือบ 60 ปี เหตุที่คุณลุงซาเจ๊ะได้จับพระหัตถ์ในหลวงขณะทรง “ล่อ” ก็เนื่องจากกันท่านผลัดตกจากล่อที่ทรงประทับ เพราะการเดินป่าไม่ใช่เรื่องง่าย หากล่อสะดุด หรือมีสัตว์ตัดหน้า เช่น กระรอกหรือนก “ล่อ” อาจตกใจและอาจจะพยศหรือวิ่งเตลิดไปได้จนทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ แต่นี่อาจจะไม่ใช่เหตุผลแรกสำหรับการได้ใกล้ชิดในหลวงรัชกาลที่ 9  อย่างมาก เพราะจากการพูดคุย เราต่างก็สังเกตเห็นความเฉลียวฉลาด ไหวพริบปฏิภาณ และที่สำคัญคือความจงรักภักดี อยากมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของชาวอาข่า อย่างที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชหฤทัยต่อชาวไทยภูเขาทุกหมู่เหล่าที่จะเปลี่ยนแปลงและยกระดับชีวิตให้กับพี่น้องชาวไทยภูเขาเหล่านั้น 


พ่อหลวงซาเจ๊ะ เป็นคนเดียวในหมู่บ้านทั้งหมด 16 หลังคาเรือน ร้อยกว่าชีวิตที่อพยพกับมาจากสิบสองปันนาในประเทศจีน ที่สามารถพูดภาษาไทยและสื่อสารได้ ไม่เพียงกับในหลวงรัชกาลที่ 9 แต่ยังช่วยในการสื่อสารกับชาวไทยภูเขาอีก 9 เผ่าในขณะนั้น แกเล่าว่าฝึกพูดกับ ตชด. ที่มาประจำการชายแดนเชียงรายแห่งนี้ นี่แหละที่ว่าแกฉลาด (จริง)  ต่อมาพ่อหลวงซาเจ๊ะ จึงเป็นเหมือนทูตเจริญสัมพันธ์ไมตรีให้กับพี่น้องชาวไทยภูเขา อย่างต่อเนื่อง

ไม่น่าเชื่อว่าพระอัจฉริยภาพของในหลวงรัชกาลที่ 9 ประกอบกับพระเมตตาต่อพสกนิกรจะยิ่งใหญ่ขนาดนี้ เปลี่ยนดอยผาหมี จากเขาหัวโล้นให้เป็นป่าสีเขียวตลอดปี โดยท่านเป็นผู้วางผังหมู่บ้านว่าจะตั้งบ้านเรือนตรงไหน ตรงไหนเป็นแหล่งน้ำ ตรงไหนสำหรับเพาะปลูกทำไร่ และที่สำคัญในหลวงรัชกาลที่ 9  ทรงขอให้คนผาหมีสัญญา 3 ข้อ เท่านั้น แต่เป็น 3 ข้อที่ทุกคนที่บ้านผาหมีที่เราเจอพูดได้เหมือนกันว่า 1) ไม่ตัดไม้ทำลายป่า 2) ไม่เผาป่า 3) ช่วยกันดับไฟป่า ในหลวงตรัสว่าไม่ต้องปลูกต้นไม้เพิ่มหรอก เดี๋ยวป่าจะฟื้นกลับมาเอง ซึ่งมองด้วยตาเปล่าก็เห็นว่า เกิดป่าที่อุดมสมบูรณ์จริง ดังเหมือนวาจาสิทธิ์ (ปณิธาน) ที่ท่านมอบให้กับคนผาหมี 

ครั้งที่ 2 นี้ พ่อหลวงซาเจ๊ะได้นำเหรียญพระราชทานที่ได้รับจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อใช้แทนบัตรประชาชน ก่อนที่ท่านจะให้สัญชาติและให้ทางอำเภอไปทำบัตรประชาชนให้กับคนผาหมี เป็นเหรียญที่มีความสวยงามเปี่ยมล้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณ พ่อหลวงเล่าว่า เมื่อได้เหรียญมา ทั้งทหารและตำรวจที่คอยตั้งด่านคนผ่านเข้าเมืองเชียงราย ก็ไม่เคยขัดขวางหรือตรวจค้นพ่อหลวงอีกเลย “ไม่เป็นปัญหาอีกแล้ว ผ่านได้สบายมาก” สิ่งนี้เองทำให้เราได้เห็นถึงพระราชหฤทัยของในหลวงที่ไม่ทรงแบ่งแยกชนชั้นหรือเชื้อชาติ ท่านทรงให้ความสำคัญกับความเป็นคนไทยและสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะพี่น้องชาวไทยภูเขา หรือกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดเชียงรายอย่างมาก  

ผ่านมาแล้ว 60 ปี (หลังการเสด็จครั้งสุดท้าย) แต่พ่อหลวงซาเจ๊ะ ยังจำทุกอย่างได้อย่างแม่นยำ จนทำให้พวกเราอดที่จะซาบซึ้งจนน้ำตาซึม ด้วยความปลื้มปิติที่ได้เกิดมาเป็นคนไทยในรัชกาลของท่าน และที่อัศจรรย์ใจไม่น้อยไปกว่ากันคือ ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10 ท่านทรงเสด็จพร้อมด้วยในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อไปเยี่ยมเยียนพสกนิกรของพระองค์ที่อยู่ไกลแสนไกล 

ประเทศไทยของเรานี่ช่างดีและน่าอยู่โดยแท้จริง 

วันนี้จากการพลิกฟื้นชีวิตชาวไทยภูเขา หรือกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้พี่น้องอาข่ามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กาแฟและผลไม้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้และคุณภาพชีวิตให้คนอาข่า มากกว่าฝิ่นหลายร้อยเท่า และที่แห่งนี้ ยังโอบล้อมไปด้วยขุนเขาที่เต็มไปด้วยความเขียวขจี ตลอดจนความภาคภูมิใจในวิถีชีวิตอาข่าที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน กลายเป็นเสน่ห์ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติให้หลั่งไหลมาเยือนที่นี้ไม่ได้ขาดสาย แม้แต่ในช่วงฤดูฝน ที่นี่ก็ยังมีเสน่ห์ไม่แพ้ไม่ฤดูหนาว เพราะจะถูกปกคลุมไปด้วยเมฆหมอกที่สวยงาม สมกับเป็น Green Season ที่ต้องมาสัมผัสด้วยตัวเอง ที่สำคัญกว่านั้นคือ ไม่ต้องเผชิญกับ PM 2.5 ด้วย หากนักท่องเที่ยวมีโอกาสมาชิมกาแฟบ้านผาหมี ก็จะได้ชมเทือกเขากั้นเขตแดนที่ทอดยาวคล้าย “หมีนอนหงาย”ที่กลายเป็นชื่อของชุมชนแห่งนี้ พร้อมกับชิมอาหารอาข่าเพื่อสุขภาพ รสชาติดีงาม แถมถ้านึกสนุกก็ยังมี “cooking class” ให้นักท่องเที่ยวได้ลงมือปรุงอาหารด้วยตัวเอง พร้อมกับเรียนรู้ภาษาอาข่า ไม่ว่าจะเป็น น้ำพริกอาข่าถั่วลิสง (สะพิเถาะ) มันฝรั่งบดอาข่า (อะลูะอะสิลูะ) ปลาหมก (สิมาแชะ) ผัดรากชูหมู (กูชิ) ยำผักอาข่า (ห่อปะโซ) ผักบุ้งเปรี้ยว (ห่อแชะปะ) และลาบหมูอาข่า (ส่าเบี่ยะเบี่ยะ) ยิ่งถ้ามาในช่วงฤดูหนาวต้องไม่พลาดกับสัมผัสอากาศเย็นสบายบนดอยผาหมี ลงมือเก็บส้มเขียวหวานสดๆ จากต้นที่ได้ทั้งความหวาน ความหอม และความตื่นตาตื่นใจไม่รู้ลืม จนอดที่จะซื้อส้มกลับบ้านเป็นของฝากที่มากคุณค่า รวมถึงร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับพี่น้องอาข่าที่ยังคงวิถีชีวิตเดิมๆ เช่น การปั่นฝ้ายเพื่อนำมาทำเส้นด้ายสำหรับทอผ้าใช้เอง ศิลปะการปักผ้าที่หาชมได้ยาก รับรองว่าประทับใจไม่รู้ลืม

https://www.dasta.or.th/th/article/3717

https://www.dasta.or.th/th/article/3761


หากมีเวลาเพียงพอ นักท่องเที่ยวยังสามารถแวะไปยังจุดท่องเที่ยวใกล้เคียงทั้งถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน บ้านผาฮี้ หรือจะเลยไปชมวิถีชีวิตและการค้าชายแดนของคนแม่สาย ก่อนกลับเข้าเมืองเชียงราย เพื่อมาชมงานศิลปะและผลงานการออกแบบของศิลปินเชียงรายที่มากด้วยความสามารถสมกับที่ได้รับการรับรองจากยูเนสโก ให้เมืองเชียงรายเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบของยูเนสโก