ความเป็นมา ของสำนักงานพื้นที่พิเศษ 5
คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร ได้เดินทางศึกษาดูงานการท่องเที่ยวจังหวัดเลย เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2546 ต่อมามีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการการท่องเที่ยว เพื่อศึกษาการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง และเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2547 ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้เดินทางตรวจราชการพื้นที่จังหวัดเลย และสั่งการให้ทำการศึกษาการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง โดยไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกัน คณะอนุกรรมาธิการการท่องเที่ยวได้แต่งตั้งคณะทำงาน เพื่อทบทวนการศึกษาโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง ซึ่งมีผู้อำนวยการ อพท. ร่วมเป็นคณะทำงาน และได้มอบหมาย อพท. รวบรวมผลการศึกษาเรื่องนี้ที่ผ่านมา โดยเฉพาะเส้นทางที่เหมาะสมที่สุดในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง เพื่อนำเสนอคณะอนุกรรมาธิการการท่องเที่ยว คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว และคณะรัฐมนตรีตามลำดับ
อพท. ได้จัดทำร่างรายงานการทบทวนโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง และนำเสนอคณะทำงานฯ เมื่อวันที่ 19 ตุลาตม 2547 ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบ และนำเสนอคณะอนุกรรมาธิการการท่องเที่ยว และคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว ซึ่งได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 และ 28 พฤศจิกายน 2547 ตามลำดับ ประธานคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว จึงได้ทำหนังสือกราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี สรุปเรื่องโครงการพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนภูกระดึงและเส้นทางที่เหมาะสมในการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง ต่อมาที่ประชุมคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยวเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2548 ได้ให้ข้อแนะนำการเลือกเส้นทางการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึงไม่ให้มีผลกระทบเส้นทางเดินเท้าเดิม และสภาพป่าอุทยานแห่งชาติ ต่อมาเดือนมกราคม 2549 การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ณ อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ได้มีมติมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศึกษาเพิ่มเติมด้านผลกระทบจากการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าภูกระดึง แต่ไม่มีการดำเนินการใดๆ ในช่วงการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขณะนั้น จวบจนวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแผนการปรับปรุงการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2550 – 2551 ตามที่ อพท. เสนอ ซึ่งตามแผนดังกล่าวไม่มีพื้นที่ท่องเที่ยวภูกระดึงจังหวัดเลยรวมอยู่ด้วย
เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคบริการและการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยวและกีฬา สภาผู้แทนราษฎร จึงได้ประสานความร่วมมือกับจังหวัดเลย โดยเชิญผู้แทน อพท. เดินทางไปศึกษาสำรวจพื้นที่ท่องเที่ยว พร้อมจัดให้มีการประชุมสัมมนาการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์อย่างมีประสิทธิภาพของจังหวัดเลย ระหว่างวันที่ 27 – 29 สิงหาคม 2552 ผู้ร่วมประชุมสัมมนาประกอบด้วยผู้แทนภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้องและชุมชนท้องถิ่น ต่อมาการประชุมคณะอนุกรรมาธิการการท่องเที่ยว เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2552 ได้เชิญผู้แทนจังหวัดเลย ผู้แทนองค์การบริหารส่วนจังหวัดเลย และผู้แทน อพท. เข้าร่วมประชุม โดยผู้แทน อพท. ได้ประมวลผลจากการศึกษาสำรวจพื้นที่และจัดทำกรอบแนวคิดนำเสนอต่อที่ประชุม และที่ประชุมมีมติให้การสนับสนุนการประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจังหวัดเลย ในการนี้ จังหวัดเลยจึงได้ประสานความร่วมมือกับ อพท. ศึกษาความเหมาะสมการประกาศพื้นที่พิเศษจังหวัดเลย พร้อมมอบหมายมหาวิทยาลัยราชภัฏเลย สำรวจความคิดเห็นของประชาชนจังหวัดเกี่ยวกับการประกาศพื้นที่พิเศษจังหวัดเลย เพื่อประมวลเสนอ คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยวและกีฬา สภาผู้แทนราษฎร และกระทรวงมหาดไทย เพื่อพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนต่อไป
ต่อมาเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษของพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจังหวัดเลย ซึ่งอยู่ระหว่างการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษในราชกิจจานุเบกษา
การศึกษาความเหมาะสมในการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษ
การศึกษาความเหมาะสมในการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดเลย ประกอบด้วย
- ข้อมูลพื้นฐานจังหวัดเลย ได้แก่ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ สภาพสังคม เศรษฐกิจ และทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม
- ข้อมูลด้านการท่องเที่ยวจังหวัดเลย ได้แก่ ทรัพยากรการท่องเที่ยวที่หลากหลายของจังหวัด เลย ทั้งแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญและเทศการ ประเพณี และสถิติการท่องเที่ยวจังหวัดเลย
- ประเด็นปัญหาการท่องเที่ยวจังหวัดเลย
- ยุทธศาสตร์การบูรณาการโครงข่ายการท่องเที่ยว โดยการกำหนดเป้าหมาย ประเด็นยุทธศาสตร์ และการบูรณาการกลุ่มพื้นที่เชื่อมโยงการท่องเที่ยว
การดำเนินการประกาศพื้นที่พิเศษจังหวัดเลย จะต้อง
- ดำเนินการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจังหวัดเลย ผลการสำรวจและการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจังหวัดเลยเกี่ยวกับการประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจังหวัดเลย ทั้งระดับอำเภอและจังหวัด จำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 5,143 คน สรุปผลการสำรวจ คือ มีผู้เห็นด้วยกับการประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจังหวัดเลย จำนวน 5,062 คน คิดเป็นร้อยละ 98.43 มีผู้ไม่เห็นด้วย 49 คน คิดเป็นร้อยละ 0.95 และผู้ไม่แสดงความคิดเห็น จำนวน 32 คน คิดเป็นร้อยละ 0.62
- กำหนดขอบเขตพื้นที่พิเศษจังหวัดเลย การประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนครอบคลุมแนวเขตพื้นที่จังหวัดเลย รวมเนื้อที่ 7,193.01 ตารางกิโลเมตร หรือ 4.495,645.28 ไร่ ซึ่งประกอบด้วย อำเภอเมืองเลย อำเภอเชียงคาน อำเภอท่าลี่ อำเภอภูเรือ อำเภอด่านซ้าย อำเภอนาแห้ว อำเภอภูกระดึง อำเภอหนองหิน อำเภอภูหลวง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง
ผลจากการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษจังหวัดเลย เป็นที่คาดหวังว่าพื้นที่พิเศษจังหวัดเลยจะได้รับการบริหารการพัฒนาตามหลักพื้นฐานการพัฒนา 3 องค์ประกอบหลัก คือ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดเลย ประกาศเป็นพื้นที่พิเศษในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2554 หน้า 20 เล่ม 128 ตอนพิเศษ 81
- ไฟล์แนบ :69_4128.pdf
-
Rate :
- ขนาดไฟล์ :0.189
- จำนวนดาวน์โหลด :20 ครั้ง