"อพท. ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว กับ กรมการท่องเที่ยวแห่งราชอาณาจักรภูฏาน และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (MOU) ระหว่าง 3 หน่วยงาน ได้แก่ กรมการท่องเที่ยวแห่งราชอาณาจักรภูฏาน อพท. และ ททท. โดยมี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย และ นายดาโช เชริง โตบเกย์ (H.E. Dasho Tshering Tobgay) นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรภูฏาน ร่วมเป็นสักขีพยาน ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่าง อพท. ททท. และกรมการท่องเที่ยวภูฏาน (Department of Tourism, Royal Government of Bhutan) มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินงานตามภารกิจของหน่วยงานซึ่งมีเป้าหมายที่สอดคล้องกับนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวระหว่างรัฐบาลของ 2 ประเทศ โดย อพท. จะดำเนินการพัฒนาความร่วมมือกันในการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community-based Tourism) การจัดการท่องเที่ยว การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และการเรียนรู้การเป็นต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นของทั้งสองประเทศ และยังเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดตั้งคณะทำงานด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวไทย – ภูฏาน เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนกิจกรรมตาม MOU รวมถึงการส่งเสริมประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ของนักท่องเที่ยวและส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งสองฝ่ายร่วมกันในเรื่องของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพแก่นักท่องเที่ยวทั่วโลก
นอกจากนี้ การลงนาม MoU ครั้งนี้ ยังเป็นจุดเริ่มของการยกระดับการท่องเที่ยวโดยชุมชนโดยเน้นกระบวนการพัฒนาจากการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในบริบทของแหล่งท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ ที่มีทั้งความเหมือนและความต่าง โดยมีการถอดบทเรียนร่วมกัน สู่การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนจากระดับนานาชาติได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ อพท. จะนำบทเรียนจากองค์ความรู้ตามหลักเกณฑ์การพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) ที่ อพท. ใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างต้นแบบการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในแหล่งท่องเที่ยวได้ครบทั้ง 3 มิติ สังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างรายได้และกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวไปสู่ชุมชนท้องถิ่นมาต่อยอดความร่วมมือครั้งนี้ด้วย