องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

สังคโลก อัตลักษณ์ของเมืองสุโขทัย ช่วยสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

1625732040
ขนาดตัวอักษร

          เรื่องราวของสังคโลกในจังหวัดสุโขทัย ที่สะท้อนภูมิปัญญาและศิลปะเครื่องปั้นดินเผา ของดีของเด่นที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น นำมาพัฒนาและต่อยอดสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

          นับเป็นเวลากว่า 700 ปี ที่ศิลปะและภูมิปัญญาการทำเครื่องสังคโลก ของดีประจำจังหวัดสุโขทัย ไม่เพียงแต่มีความสวยงามซึ่งเป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาแล้ว ลวดลายต่าง ๆ ที่ฉาบเคลือบเครื่องสังคโลกแต่ละชิ้นงาน ล้วนเต็มไปด้วยเรื่องราวสะท้อนอัตลักษณ์แห่งภูมิปัญญา อันได้รับการพัฒนาและต่อยอดจนกลายเป็นผู้ช่วยสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจของจังหวัด และสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน
 


เครื่องสังคโลก

          “สังคโลก” หรือ “เครื่องสังคโลก” เป็นชื่อที่ใช้เรียกเครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่ง (Stone Ware) ทั้งชนิดเคลือบและไม่เคลือบ ไม่ว่าจะเป็นถ้วย ชาม เครื่องประดับ ประติมากรรม และสถาปัตยกรรม ทั้งนี้ ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 22 เป็นช่วงที่มีแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาเคลือบในแคว้นต่าง ๆ โดยเฉพาะในแคว้นสุโขทัย ซึ่งจากหลักฐานทางโบราณคดีเชื่อกันว่าช่างสุโขทัยมีความชำนาญในการสร้างสรรค์เครื่องปั้นดินเผามาตั้งแต่เดิม เกิดจากการทดลองและเรียนรู้เอง ตลอดจนรับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอื่น ๆ เช่น เขมร มอญ จีน และเวียดนาม เป็นต้น จนในที่สุดก็กลายเป็นเอกลักษณ์ที่ได้รับการยอมรับไปทั่วทั้งในและนอกอาณาจักร โดยมีแหล่งผลิตอยู่ที่เมืองสวรรคโลก (เก่า) ซึ่งปัจจุบันคือเมืองโบราณศรีสัชนาลัย ดังนั้น ชื่อ "สังคโลก" จึงอาจเป็นคำที่เพี้ยนมาจาก "สวรรคโลก" ก็เป็นได้
 


ภาพจาก Tananyaa Pithi / Shutterstock.com


เอกลักษณ์และเส้นสายลายสังคโลก

          หัวใจหลักสำคัญของการสร้างสรรค์งานเครื่องสังคโลก นั่นคือ เตาทุเรียง เป็นชื่อเรียกเตาเผาถ้วย หรือเป็นที่รู้จักกันในนามถ้วยชามสังคโลกในสมัยสุโขทัย ซึ่งเริ่มมีการผลิตตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 19 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 22 ซึ่งในสุโขทัยปรากฏแหล่งผลิตอยู่ 2 แห่งด้วยกัน ได้แก่

          1. แหล่งเตาสุโขทัย ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย ใช้สำหรับผลิตเครื่องสังคโลกประเภทเนื้อดินธรรมดา (Earthenware) ประเภทเขียนลายสีดำใต้เคลือบ ที่เป็นของใช้ประจำวันในครัวเรือน หรืออาจจะใช้ในการเผาดิบเพื่อไล่ความชื้นและตรวจสอบสภาพของเนื้อดินของภาชนะว่ามีการแตกร้าวเสียหายหรือไม่
 


ภาพจาก phraruangheritage.com


          2. แหล่งเตาศรีสัชนาลัย (เมืองสวรรคโลกเก่า) อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย พบเตาเผาเป็นจำนวนมาก เครื่องสังคโลกที่ได้จากเตานี้จะเป็นงานที่มีความประณีต ทั้งในแง่ของรูปร่าง การตกแต่ง และมีคุณภาพสูงกว่า ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากแหล่งเตาเผานี้มีมากมายหลายประเภทด้วยกัน เช่น ประเภทเครื่องเคลือบเขียวหรือเซลาดอน ประเภทเคลือบขาว ประเภทเคลือบสีน้ำตาล และประเภทเคลือบสองสี รวมทั้งภาชนะเนื้อแกร่ง ชนิดไม่เคลือบด้วย

 


ภาพจาก phraruangheritage.com


          แน่นอนว่าเอกลักษณ์อันโดดเด่นของเครื่องสังคโลกอยู่ที่ลวดลายบนตัวชิ้นงาน โดยฝีมือการเขียนหรือวาดลายของช่างสุโขทัยถือได้ว่ามีชื่อเสียงและเป็นที่เลื่องลืออยู่ไม่น้อย เนื่องจากลวดลายบนเครื่องสังคโลกจำเป็นต้องใช้เทคนิคการเขียนลายแบบอิสระ ต้องอาศัยความชำนาญและทักษะเฉพาะตัวอย่างแท้จริง โดยแบ่งเป็นกลุ่มประเภท ดังนี้

          1. ลายพันธุ์พฤกษา เช่น ลายดอกบัว, ลายดอกโบตั๋น, ลายดอกเบญจมาศ, ลายดอกพิกุล ลายก้านขด ลายก้านแบ่ง ลายกอหญ้า ลายกอปรง และลายกอสาหร่าย เป็นต้น

          2. ลายรูปสัตว์ เช่น ลายปลา ทั้งปลาเดี่ยว ปลาคู่ว่ายน้ำวน, ลายนาคหรือลายมังกร และลายหงส์ เป็นต้น
 
          3. ลายช่องกระจก เช่น ลายช่องกระจกรูปหกเหลี่ยมและแปดเหลี่ยม ลายช่องกระจกรูปกลีบบัว เป็นต้น

          4. ลายเรขาคณิต เช่น ลายร่องขนานแนวตั้ง ลายตาราง ลายกากบาทในช่องสี่เหลี่ยมสลับลายแนวตั้ง ลายเส้นวงกลมคู่ขนาน ลายเส้นหยักฟันปลา เป็นต้น

          5. ลายเบ็ดเตล็ด เช่น ลายคลื่น ลายคล้ายหัวลูกศร ลายบั้งนายสิบ ลายดวงอาทิตย์ ลายก้อนเมฆ ลายจักร ลายดวงดาว เป็นต้น

 


ภาพจาก phraruangheritage.com


ภาพจาก phraruangheritage.com


          และแม้ว่าโดยทั่วไปแล้วผู้คนมักคิดว่าเครื่องเคลือบสีเขียวเขียนลายสีดำเท่านั้นที่หมายถึงสังคโลก แต่จริง ๆ แล้วเครื่องถ้วยชนิดนี้แบ่งออกได้หลายประเภท ได้แก่
 

          1. แบบไม่เคลือบสี สันนิษฐานว่าสังคโลกแบบไม่เคลือบเป็นเครื่องถ้วยยุคแรก ๆ ที่สร้างสรรค์ขึ้น ก่อนที่จะพัฒนาระบบเตา และน้ำยาเคลือบ

          2. แบบเคลือบสี เพราะมีการค้นพบเครื่องถ้วยจีนและเวียดนามภายในสุโขทัย จึงสันนิษฐานว่าอาจนำมาสู่การเรียนรู้วิธีการเคลือบเครื่องปั้นดินเผามาจากดินแดนเหล่านั้น และพยายามพัฒนาคุณภาพของน้ำยาเคลือบ ตลอดจนกรรมวิธีการเคลือบอยู่เสมอ ทำให้สังคโลกสุโขทัยมีสีสันสวยงาม และสีเคลือบที่ได้รับการยอมรับว่างดงาม จนเป็นเอกลักษณ์มาถึงปัจจุบัน คือ สีเขียวไข่กาหรือสีเขียวอมฟ้า (Ceradon)

          3. แบบเคลือบสี และเขียนลาย สันนิษฐานว่าได้รับอิทธิพลมาจากจีนและเวียดนามเช่นเดียวกับการเคลือบ ทว่าช่างสุโขทัยได้ปรับปรุงแร่ธาตุในน้ำสีที่ใช้เขียนลายให้เหมาะสมกับท้องถิ่น โดยใช้ออกไซด์จากเหล็กที่มีอยู่มากในพื้นที่เป็นส่วนประกอบ อาจนำมาจากแหล่งดิน หรือดินลูกรัง ทำให้ลวดลายของสังคโลกมีสีดำหรือน้ำตาลเข้ม ไม่ใช่สีครามแบบเครื่องถ้วยจีนหรือเวียดนาม
 


ภาพจาก phraruangheritage.com


ภาพจาก phraruangheritage.com


ชุมชนผลิตสังคโลก ณ สุโขทัย

          ด้วยการสนับสนุนขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. โดยสำนักงานพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร ที่เข้าไปช่วยพัฒนาและต่อยอดกับชุมชนผลิตสังคโลกในพื้นที่ จนก่อเกิดเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ได้แก่ ชุมชนบ้านใหม่ตะพังทอง ตำบลเมืองเก่า อำเภอเมืองสุโขทัย เป็นชุมชนที่ผลิตเครื่องสังคโลก ทำเครื่องปั้นดินเผาเคลือบเนื้อละเอียด โดยเฉพาะเนื้อแตกลายงาสีเขียวไข่กา และงานทุกชิ้นล้วนปั้นด้วยมือ นับเป็นงานหัตถกรรมที่ทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง ชุมชนบ้านเกาะน้อย อำเภอศรีสัชนาลัย ที่ยังคงมีการทำเครื่องสังคโลกสุโขทัยอยู่ โดดเด่นเรื่องการปั้นลวดลายและเคลือบน้ำยาสูตรเฉพาะของสุโขทัย นอกจากนี้ยังพบตุ๊กตาสังคโลกเป็นจำนวนมาก ซึ่ง ที่นี่นักท่องเที่ยวจะได้ร่วมเรียนรู้เกี่ยวกับการทำสังคโลก รวมถึงการปั้นแบบขึ้นรูปอิสระเป็นตุ๊กตาสังคโลก พร้อมกับการเรียนรู้เกี่ยวกับ “ตุ๊กตาเสียกบาล” ตุ๊กตาดินปั้นที่มีเอกลักษณ์เลียนแบบท่าทางของคนในอิริยาบถต่าง ๆ อีกด้วย

 


ภาพจาก J. Lekavicius / Shutterstock.com


ข้อมูลติดต่อชุมชนบ้านเกาะน้อย

          ที่ตั้ง : 139/1 หมู่ 5 ตำบลหนองอ้อ อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย
          โทรศัพท์ : 09 5314 1380

          เรื่องราวของสังคโลกของดีแห่งจังหวัดสุโขทัย ได้รับการสืบสานและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกันกับชุมชนโดยรอบ ก่อเกิดเป็นองค์ความรู้และประสบการณ์ให้กับคนในชุมชนและนักท่องเที่ยวให้รับรู้ถึงคุณค่าและเห็นความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อช่วยกันอนุรักษ์ให้คงอยู่และพัฒนาต่อไปในอนาคต

ขอบคุณข้อมูลจาก
เว็บไซต์ ctthailand.net
เว็บไซต์ sukhothaicraftsandfolkart.com
เว็บไซต์ museumthailand.com