เล่าเรื่องผ่านลายเส้น “ผ้าทอบ้านปึก” ภูมิปัญญาโบราณพลิกฟื้นรายได้ให้ชุมชน
จุดกำเนิดและเส้นทางการสืบสาน อนุรักษ์ และต่อยอดผ้าทอบ้านปึกอ่างศิลา หรือผ้าทอคุณย่า งานหัตถกรรมทรงคุณค่าภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน
ภาพจาก tis.dasta.or.th
"ลวดลายโดดเด่น สีหวานอ่อนโยน ตัดเย็บด้วยความประณีตบรรจง" นี่คือคำนิยามของผ้าทอบ้านปึกอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีประวัติความเป็นมายาวนานร่วม 100 ปี เต็มเปี่ยมด้วยคุณค่าและความงาม ดังนั้น องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. พื้นที่พิเศษเมืองพัทยาและพื้นที่เชื่อมโยง จึงเข้ามาดำเนินการสนับสนุนชุมชนเก่าแห่งนี้ พร้อมดึงเอกลักษณ์ความโดดเด่นศิลปะผ้าทอมือที่สวยงาม พัฒนาและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน
ผ้าทอบ้านปึกอ่างศิลา : หัตถศิลป์พื้นบ้านล้ำค่า ภูมิปัญญาผ้าทอ
ชุมชนบ้านปึก ตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี เดิมทีชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างและเกษตรกรรมเป็นหลัก จนเมื่อครั้งสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานมายังตำบลอ่างศิลา พระองค์ทรงเห็นความยากลำบากในการทำมาหากินของชาวบ้าน จึงมีพระราชดำริในการสร้างอาชีพ ด้วยการสอนการทำผ้าทอมือให้แก่ชาวบ้านปึก จนกลายมาเป็นสินค้าขึ้นชื่อในสมัยนั้น
เมื่อเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 การทอผ้าของชาวบ้านปึกเตียนต้องสะดุดลง และเมื่อถึงคราวที่สงครามสิ้นสุดลง ทำให้การทอผ้าที่หายไปช่วงก่อนหน้า ได้รับการฟื้นฟูอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2556 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน โดยมียายสาย เสริมศรี หรือป้าไอ๊ ปราชญ์ผ้าอ่างศิลารุ่นสุดท้าย ทิ้งเทคนิคการค้นลาย และถ่ายทอดวิชาการทอผ้าโบราณให้แก่คนรุ่นหลังได้สานต่อ และเปลี่ยนชื่อจากผ้าทอบ้านปึกเป็น “ผ้าทอคุณย่าท่าน” เพื่อรำลึกถึงสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ที่ทรงริเริ่มดำเนินการมาเมื่อกว่า 100 ปีก่อนไม่ให้สูญหายไป ถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวบ้านปึกและชาวอ่างศิลาเป็นอย่างยิ่ง
ศูนย์การเรียนรู้ผ้าทอมือบ้านปึกอ่างศิลา : เส้นด้ายแห่งอดีตกวัดสู่ปัจจุบัน
ผ้าทอมือหนึ่งผืนใช่มีเพียงความงามที่ปรากฏสู่สายตาเท่านั้น หากเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจ ภูมิปัญญาชาวบ้านที่คิดค้นด้นลายผ้าอย่างน่าอัศจรรย์ เริ่มแรกจากการกรอด้ายหลอดเล็ก ๆ แล้วค่อยมาใส่ในกระสวย หลังจากนั้นค่อยเอาไปทอ ถ้ากรอหลอดใหญ่ ต้องนำไปค้นลาย ซึ่งใช้ด้ายเส้นเล็กประมาณ 2,440 เส้น เพื่อให้ผ้าผืนนั้นมีคุณภาพ ใส่หน้าร้อนก็สบาย ใส่หน้าหนาวก็อบอุ่น
เอกลักษณ์และจุดเด่นของผ้าทอมือบ้านปึกอ่างศิลา นั่นคือ ลวดลายบนผืนผ้า ซึ่งประกอบด้วยลวดลายโบราณที่ทางสมาชิกได้รวบรวมไว้เมื่อครั้งยายสายเป็นผู้ถ่ายทอด ประกอบด้วย ลายไส้ปลาไหล, ลายนกกระทา, ลายสมุก, ลายดอกพิกุล (เต็มดอกและครึ่งซีก), ลายหางกระรอก, ลายตาหมากรุก, ลายราชวัตร, ลายผ้าเชิง, ลายทางรอบตัว, ลายทางลง, ลายตาตะแกรง และลายลิ้นโป้ว เป็นต้น
มรดกภูมิปัญญาการทอผ้าจากอดีต สู่การสืบสานโดยสมาชิกรุ่นใหม่ในชุมชน จนกลายเป็นสินค้าหัตถกรรมมีชื่อเสียงของจังหวัดชลบุรี และนำไปใช้งานในหลายรูปแบบ ทั้งเป็นผ้าปูที่นอน ผ้าปูสำหรับการเล่นโยคะ กระเป๋าถือ ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ที่ความสวยงาม ความคงทน และผืนผ้าที่ทอแน่น ช่วยให้เกิดความทนทานในการใช้งาน
สานต่อผ้าทอโบราณด้วยความรู้
จากความตั้งใจที่จะอนุรักษ์ลวดลายแห่งผืนผ้า ที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัวให้อยู่คู่ชุมชนต่อไป ก่อเกิดเป็นการรวมกลุ่มสมาชิก คละเคล้าวัยวุฒิที่หลากหลาย ตั้งแต่ผู้สูงอายุ ผู้ใหญ่ และเยาวชน ซึ่งต่างเป็นฟันเฟืองทำหน้าที่ถ่ายทอดแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ ได้รับแรงสนับสนุนจากผู้นำชุมชนอย่างกำนันเกษม อินทโชติ ผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและยกระดับให้ผ้าทอมือบ้านปึก ตอบโจทย์ความต้องการในยุคสมัยใหม่มากขึ้นกว่าเดิม
โดยท่านได้ทำการศึกษาและเรียนรู้เรื่องผ้า ทั้งจากตำราเรียนและช่างทอผ้าท้องถิ่นในจังหวัดชัยภูมิ ทั้งความรู้ เทคนิคการทอ และอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อดัดแปลงและปรับแต่งผ้าทอให้มีความสอดคล้องกับการใช้งานในยุคปัจจุบันมากขึ้น รวมถึงเพื่อการแข่งขันด้านตลาดในอนาคตต่อไป ดังนั้น การอนุรักษ์ผ้า จึงไม่ใช่แค่การทำผ้านุ่งเท่านั้น นั่นเท่ากับว่ารอเวลาให้กลุ่มตาย แต่ถ้าทำแล้วต่อยอดพัฒนา ชีวิตชาวบ้านในชุมชนก็ดีขึ้นตามลำดับไปด้วย
ความเพียรพยายามทั้งในส่วนของผู้นำชุมชนและชาวบ้านในช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา วันนี้ “ผ้าทอบ้านปึก” กลายเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และยังเป็นผ้าประจำจังหวัดชลบุรี นับเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจยิ่งที่ลมหายใจแห่งมรดกทางภูมิปัญญาได้รับการสืบสานและสานต่อ ให้คงอยู่คู่อัตลักษณ์ของอ่างศิลาตราบนานเท่านาน
ขอบคุณข้อมูลจาก
เว็บไซต์ nstda.or.th
เฟซบุ๊ก ผ้าทอคุณย่าท่าน บ้านปึกชลบุรี
เว็บไซต์ thaijo.org