"ทุกพื้นที่พิเศษ ต้องได้มาตรฐาน SHA"
อพท. ฉวยจังหวะช่วงโควิด 19 ระบาด เดินหน้าพัฒนาและยกระดับความสามารถชุมชน ให้ได้รับมาตรฐานความปลอดภัยด้านสุขอนามัย ตามมาตรฐาน SHA หวังเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถรับนักท่องเที่ยวหลังเปิดประเทศ
บ้านม้าร้อง จ.ประจวบคีรีขันธ์
แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 จะทำให้นักท่องเที่ยวหายไป ชุมชนมีรายได้ลดลง แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชุมชน ในพื้นที่พิเศษที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ดูแล เพราะอพท. ย้ำเสมอว่า รายได้จากภาคท่องเที่ยวคือรายได้เสริมที่เพิ่มขึ้นมาจากรายได้ที่มาจากอาชีพหลักของชุมชน
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด 19 ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักกับภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ชุมชนและผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษและเขตพัฒนาการท่องเที่ยว (คลัสเตอร์) ต่างได้รับผลกระทบดังกล่าว ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยว และเพื่อความปลอดภัยของชุมชน ก็ไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวในช่วงเวลานี้เช่นกัน ทำให้ขาดรายได้จากการท่องเที่ยว
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี
อย่างไรก็ตาม พื้นที่พิเศษที่อพท. เข้าไปพัฒนานั้น แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ลดลง แต่ก็ไม่กระทบต่อวิถีชีวิตชุมชนมากนัก เพราะชุมชนยังมีรายได้จากอาชีพหลัก อาชีพดั้งเดิม เพราะหัวใจสำคัญของชุมชนท่องเที่ยวที่ อพท. เข้าไปพัฒนาขึ้นมานั้น คือชุมชนไม่ได้มีรายได้เพียงแค่จากการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังมีรายได้จากอาชีพหลัก เพราะ อพท. บอกกับชาวชุมชนเสมอว่า การท่องเที่ยวคือรายได้เสริมที่เพิ่มขึ้นมาจากรายได้ที่มาจากอาชีพหลัก ซึ่งส่วนใหญ่อาชีพของคนในชุมชนคือเกษตร เลี้ยงสัตว์ และประมง จึงยังสามารถประคองตัวเองอยู่ได้
ผู้อำนวยการ กล่าวอีกว่า ในช่วงที่ชุมชนไม่ได้ต้อนรับนักท่องเที่ยว อพท. ยังใช้ช่วงเวลาในช่วงนั้น เพื่อช่วยฝึกฝนพัฒนาและยกระดับความสามารถให้กับชุมชน เพื่อเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถให้กับชุมชนอีกด้วย เพราะเมื่อสถานการณ์กลับมาปกติ ชุมชนจะมีความพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น
ภาพจาก thailandsha.tourismthailand.org
โดยช่วง 1 ปีที่ผ่านมา อพท. ได้พัฒนายกระดับด้านสุขอนามัย และความสามารถทางการตลาดให้กับชุมชนให้มีเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในด้านสุขอนามัย ซึ่งอพท. ผลักดันให้ชุมชนในความดูแลรับผิดชอบได้รับการพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมแนวทางความปลอดภัยด้านสุขอนามัยและได้รับตรามาตรฐาน SHA หรือ Amazing Thailand Safety & Health Administration ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นมาตรฐานในด้านความปลอดภัยด้านสุขอนามัยเพื่อนักท่องเที่ยว ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขจัดทำขึ้น เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวว่าทุกคนจะได้รับประสบการณ์ที่ดี มีความสุข และความปลอดภัยด้านสุขอนามัยจากสินค้าและบริการของชุมชนที่มีมาตรฐาน
ชุมชนไทลื้อบ้านลวงเหนือ จ.เชียงใหม่
ทั้งนี้ พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่ปรับเปลี่ยนไป มาจากความกังวลเรื่องความปลอดภัย จึงเลือกใช้บริการกับภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญด้านมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่สูง จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ อพท. ได้ใช้เวลาในช่วงนี้ ยกระดับและพัฒนาชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวที่ อพท. ดูแล ให้ได้รับมาตรฐานความปลอดภัยในด้านสุขอนามัย ตามมาตรฐานของ SHA