"วนอุทยานเขากระโดง" นำร่องแหล่งท่องเที่ยวอารยสถาปัตย์อีสานใต้
การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล หรือ Tourism for All ไม่ได้เป็นแค่กระแสที่ถูกนำมาเป็นเครื่องมือด้านการตลาด ในการสร้างจุดขาย เพื่อดึงนักท่องเที่ยวอีกต่อไป เพราะทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย มีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้ทุกแห่งอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมเฉกเช่นเดียวกันคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก และทุกสภาพร่างกาย เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนทุกกลุ่ม
วนอุทยานเขากระโดง
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. มีนโยบายการพัฒนาพื้นที่พิเศษตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria) หรือ GSTC ซึ่งการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอารยสถาปัตย์ (Friendly Design) เพื่อคนทั้งมวลนั้น เป็นส่วนหนึ่งของ GSTC เช่นกัน
นายพลากร บุปผาธนากร ผู้อำนวยการ สำนักยุทธศาสตร์และรักษาการผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 2 หรือ อพท. 2 เปิดเผยว่า การพัฒนาพื้นที่ใน 5 จังหวัดอารยธรรมอีสานใต้ ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี นั้น จะมีการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอารยสถาปัตย์ เพื่อคนทั้งมวล ตามแนวทางการส่งเสริมการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว (Destination) ตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก ข้อ A8 โดยในปีงบประมาณ 2564 นี้ ถือเป็นปีแรกที่ อพท.2 จะขับเคลื่อนและจัดกิจกรรมแรกเพื่อส่งเสริมงานด้าน GSTC อย่างเป็นรูปธรรมในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ ดังนั้น แนวทางการพัฒนาจึงเน้นหนักไปเรื่องการหาเพื่อนร่วมทาง ซึ่งหมายถึงการพัฒนาภาคีเครือข่ายด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลในพื้นที่
ขณะนี้ อพท.2 ได้ประสานความร่วมมือกับมูลนิธิอารยสถาปัตย์ และภาคีเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวในจังหวัดบุรีรัมย์ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน เพื่อเข้ามาร่วมมือกับแนวทางดังกล่าว โดยในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง อพท. มูลนิธิอารยสถาปัตย์ และภาคีเครือข่ายในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ เพื่อร่วมเป็นพันธมิตรในการสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ รวมไปถึงการจัดกิจกรรมประชุมเสวนา เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และร่วมผลักดันการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล รวมถึงการลงพื้นที่เพื่อรณรงค์และสำรวจพื้นที่อารยสถาปัตย์ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวเป้าหมายด้วย
สำหรับพื้นที่เป้าหมายที่จะเป็นพื้นที่ต้นแบบในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล ก่อนขยายผลไปสู่พื้นที่อื่น ๆ นั้น อพท.2 จะพัฒนาพื้นที่วนอุทยานเขากระโดง อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ และพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง อาทิ เช่น ชุมชนบ้านสนวนนอก วัดเขาน้อย ห้วยจระเข้มาก สนามช้าง หลังจากนั้น จะขยายผลไปในพื้นที่ที่มีความเหมาะสม ขณะนี้อยู่ระหว่างลงพื้นที่จัดเก็บข้อมูล
วัดป่าเขาน้อย
โดยมีขั้นตอนไม่ว่าจะเป็นเก็บข้อมูลพื้นที่เชิงลึก การจัดทำแผนการยกระดับการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลในพื้นที่ต้นแบบด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เหมาะสมเพื่อยกระดับการบริการ ส่งเสริม สนับสนุนและสร้างองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพบุคลากร และการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้โดยมีจุดมุ่งหมายให้พื้นที่วนอุทยานเขากระโดงและแหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยง เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวอารยสถาปัตย์มาตรฐานระดับสากลและเป็นจุดหมายปลายทาง (Destination) ของกลุ่มนักท่องเที่ยวอารยสถาปัตย์ในระดับสากล
"ทั้งนี้ การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล หรือ Tourism for All เป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนอารยสถาปัตย์เชื่อมโยงสู่การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล ซึ่งสอดรับกับสถานการณ์โลกที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในหลายประเทศ โดยประเทศไทย กำลังก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้น การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ควรให้ความสำคัญกับแหล่งท่องเที่ยวอารยสถาปัตย์"