องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

"อีสานใต้" ดินแดนแห่งความคิดสร้างสรรค์ทางภูมิปัญญาวัฒนธรรม

1625821560
ขนาดตัวอักษร

          อพท. (อารยธรรมอีสานใต้) เล็งนำมรดกทางภูมิปัญญาวัฒนธรรม ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีที่งดงาม สิ่งดั้งเดิม ต่อยอดสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ สู่แนวทางการขับเคลื่อนเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์
 


วิถีคนเลี้ยงช้าง จ.สุรินทร์
 

          คงปฏิเสธไม่ได้ว่า บนพื้นที่อารยธรรมอีสานใต้ ทั้ง 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ล้วนมีศิลปวัฒนธรรม ประเพณีที่งดงาม มีอัตลักษณ์เป็นของตนเอง ซึ่งศิลปวัฒนธรรม ประเพณีเหล่านั้น ล้วนทรงคุณค่า และสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวได้ เพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชนในพื้นที่ดังกล่าว

          นายพลากร บุปผาธนากร ผู้อำนวยการ สำนักยุทธศาสตร์และรักษาการผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 2 (อพท. 2) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า บนพื้นที่อารยธรรมอีสานใต้มีวัฒนธรรมประเพณีที่หยั่งลึก อพท. จึงมีแนวความคิดนำมรดกทางภูมิปัญญาเหล่านั้นมาต่อยอด เพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และให้เกิดการสืบสานมรดกเหล่านี้ไว้ต่อไป

          โดยจะมีการนำวัฒนธรรมประเพณีที่หยั่งลึกโดยเฉพาะมรดกทางภูมิปัญญามาพัฒนาเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้ ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ อพท.2 ใช้เป็นแนวทางหลักในการดำเนินงานอยู่แล้ว จากประสบการณ์การดำเนินงานที่ผ่านมาในหลายพื้นที่ที่ อพท. ได้ดำเนินงานอยู่ทั่วประเทศ พบว่า มีมรดกทางภูมิปัญญาวัฒนธรรมอีกมากมายที่ไม่เป็นที่รู้จัก และกำลังจะเลือนหายไปกับคนรุ่นปู่รุ่นย่า หรือครูภูมิปัญญา หรือตามการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจและเทคโนโลยี ทำให้มรดกทางภูมิปัญญาเหล่านี้กลายเป็นสิ่งล้าสมัย ไม่สามารถใช้งานได้เหมาะสมกับสังคมปัจจุบันหรือไม่สามารถสร้างรายได้ได้ตามคาดหวังของคนรุ่นใหม่ ทำให้ไม่มีการสืบสานต่อยอดและค่อย ๆ หายไปในที่สุด
 


นายพลากร บุปผาธนากร

 

          อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็เป็นประเทศที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) สูง ดังนั้น จึงกลายเป็นโอกาสที่ อพท. จะนำเครื่องมือที่เรียกว่า "การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" เข้ามาฟื้นฟูมรดกทางภูมิปัญญา ด้วยการพัฒนาให้เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ สินค้าหรือบริการทางการท่องเที่ยว ซึ่งผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมา ทำให้ชุมชนหรือเจ้าของภูมิปัญญาต่าง ๆ นั้น ได้มองเห็นคุณค่าว่า ภูมิปัญญาที่พวกเขามีนั้นเป็นสิ่งล้ำค่าและสามารถสร้างรายได้ไปพร้อมกับการอนุรักษ์ สืบสาน ต่อยอดได้ และอยู่ได้อย่างยั่งยืนทั้งคนและภูมิปัญญาวัฒนธรรม

 


          นายพลากร กล่าวต่ออีกว่า เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ ซึ่งอุดมไปด้วยมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก ซึ่งสะท้อนได้จากจำนวนกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ รายได้จากการท่องเที่ยวในพื้นที่ที่ค่อนข้างน้อยกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกัน การไม่เป็นที่รู้จักก็มีส่วนดีที่ทำให้แหล่งท่องเที่ยว มรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมต่าง ๆ  ยังค่อนข้างมีความดั้งเดิม ไม่ถูกปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมากนัก จึงเป็นโอกาสของ อพท.2 ที่จะมุ่งเน้นแนวทางการพัฒนามรดกทางภูมิปัญญาวัฒนธรรมเหล่านี้ให้มาเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ชูจุดเด่นให้อีสานใต้เป็นดินแดนแห่งความคิดสร้างสรรค์ทางภูมิปัญญาวัฒนธรรม นำสิ่งดั้งเดิม มาปัดฝุ่น เล่าใหม่ในแนวทางที่สอดคล้องกับสังคมและเทคโนโลยีในปัจจุบัน แต่ก็มิให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือลดทอนคุณค่าดั้งเดิมของวัฒนธรรมต่าง ๆ ลงไป ซึ่งจะเป็นแนวทางที่จะทำให้อีสานใต้มีโอกาสพลิกกลับจากพื้นที่ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวต่ำที่สุดของประเทศให้สูงขึ้นด้วยมรดกทางภูมิปัญญาวัฒนธรรมที่นำเสนอด้วยความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีได้ในอนาคต ต่อยอดไปสู่แนวทางการขับเคลื่อนเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ในระยะยาว เพื่อสร้างการรับรู้ในระดับสากลต่อไป