"ชุมชนไทดำ" แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
ชวนสัมผัส "วิถีชีวิตและวัฒนธรรม" ชุมชนไทดำ ผ่านศูนย์การเรียนรู้ที่มีชีวิตและถนนโคมไฟไทดำ อพท. นำเกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว หวังคงไว้ซึ่งวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิม
หากพูดถึงจังหวัด "เลย" หลายคนคงนึกถึง "เชียงคาน" แหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงเลื่องลือระดับโลก ซึ่งเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ทำให้ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลไปท่องเที่ยวและพำนักในจังหวัดเลยเป็นจำนวนมาก เสน่ห์ของ "เชียงคาน" อยู่ที่ความสงบเรียบง่ายของชาวชุมชน รวมถึงบ้านไม้เก่าแก่ที่ดำรงไว้ตั้งแต่ในอดีต ที่พัก โฮมสเตย์ ร้านอาหาร และร้านค้ามากมายเรียงรายบนถนนชายโขง ระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. โดยสำนักงานพื้นที่พิเศษ 5 มีแนวคิดที่จะขยายพื้นที่การท่องเที่ยวในวงกว้างจากแหล่งท่องเที่ยวหลักไปยังแหล่งท่องเที่ยวรอง เพื่อเพิ่มการจับจ่ายและเพิ่มวันพักให้กับนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน จึงได้เปิดเส้นทางท่องเที่ยว "บ้านนาป่าหนาด" ซึ่งเป็นที่ตั้งของชุมชนไทดำ ที่สืบเชื้อสายมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ไทดำ หรือไทชงดำ หรือไทโซ่ง ที่ยังคงวิถีชีวิต ศิลปและวัฒนธรรมที่งดงามไว้อย่างสมบูรณ์ หาได้ยากที่จะเห็นว่าชุมชนต่าง ๆ ยังคงวิถีชีวิตดั้งเดิมเช่นนี้ ท่ามกลางความเจริญที่แผ่เข้าไปในพื้นที่
บรรพบุรุษของชาวไทดำอยู่ในแคว้นสิบสองจุไทย บริเวณแม่น้ำดำ แม่น้ำแดง ในแคว้นสิบสองจุไทยที่มีเมืองแถน หรือปัจจุบันเรียกว่า เมืองเดียนเบียนฟู ประเทศเวียดนาม ครั้นเมื่อเกิดสงครามตั้งแต่สมัยสงครามฝรั่งเศสเวียดนาม จึงอพยพมาตั้งถิ่นฐานมาปักหลักอยู่ที่ "บ้านนาป่าหนาด" ทำให้ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นหมู่บ้านไทดำเพียงแห่งเดียวในจังหวัดเลย และยังประกอบพิธีกรรมที่ตกทอดจากบรรพบุรุษท่ามกลางวิถีชีวิตสมัยใหม่
นายธรรมนูญ ภาคธูป ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 5 กล่าวว่า เพื่อให้ "บ้านนาป่าหนาด" ยังคงวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีไว้เช่นเดิม อพท. จึงนำเกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชน หรือ CBT Thailand เข้าไปอบรมและพัฒนาชุมชนให้ได้เรียนรู้ เป็นแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อพัฒนาให้ชุมชนมีความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
นายธรรมนูญ ภาคธูป
ชุมชนแห่งนี้เป็นศูนย์วัฒนธรรมไทดำ เกิดการสืบสานวิถีของคนไทดำและส่งต่อความเป็นไทดำ ให้นักท่องเที่ยวได้รู้จักวิถีชีวิตของชุมชนไทดำมากขึ้น ที่สำคัญยังเป็นศูนย์กลางการรวมกลุ่มของชาวบ้านในการทำงานด้านหัตถกรรม ทอผ้าด้วยวิธีแบบเดิม และดัดแปลงตัดผ้าเป็นผ้าคลุม ผ้าถุง เสื้อ รวมทั้งเสื้อผ้าของชาวไทดำ เป็นสินค้าได้จากการแปรรูปจากผ้าทอ ไว้สำหรับขายให้นักท่องเที่ยว ทำให้ชุมชนมีงานมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยว นอกเหนือจากอาชีพหลัก คือ ทำไร่ ทำนา ส่วนอาชีพรองลงมา คือ จักสาน เลี้ยงไหม และทอผ้า
"เสื้อผ้า ข้าวของเครื่องใช้ ล้วนมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ทำให้นักท่องเที่ยวสนใจเลือกซื้อเลือกใช้ อพท. จึงร่วมมือกับชุมชน ด้วยการพัฒนาเป็นกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ให้นักท่องเที่ยวที่แวะเวียนมายังชุมชนแห่งนี้ได้ทดลองทำตุ้มนก (กรง) ตุ้มหนู (กรง) ทำโคมไฟไทดำ อีกทั้งยังทดลองสวมใส่ชุดไทดำ และเข้าไปร่วมทำกิจกรรมกับชาวไทดำได้ด้วย ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก" นายธรรมนูญ กล่าว
ในส่วนของเครื่องแต่งกายชาวไทดำนั้น ทั้งผู้ชายและผู้หญิงจะแต่งกายด้วยชุดสีดำในชีวิตประจำวัน ผู้ชายใส่เสื้อแขนยาวมีกระดุมถี่ ๆ ส่วนผู้หญิงกระดุมติดเสื้อจะเป็นรูปผีเสื้อ นอกจากนี้ ยังมีการสาธิตวิธีการทอผ้าแบบชาวไทดำที่เป็นการทอมือแบบโบราณที่สืบทอดกันมา ชมการละเล่นพื้นเมือง เช่น ฟ้อนเซปาง และเซแคน ด้วย
อย่างไรก็ตาม เพื่อส่งเสริม รักษาวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนไทดำ อพท. และศูนย์วัฒนธรรมคนไทดำ จึงร่วมมือกันพัฒนา "ถนนโคมไฟไทดำ" ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวต้นแบบทางวัฒนธรรม ด้วยการจัดกิจกรรม วางโปรแกรมการท่องเที่ยว ให้สอดรับกับอัตลักษณ์ของชนชาติชุมชนไทดำ โดยนำวิถีชีวิตของชาวไทดำ เข้ามาเป็นจุดขาย ทั้งอาหาร เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์ ของฝาก ของที่ระลึกของชุมชน ศิลปะการแสดง และการละเล่น ที่ล้วนแล้วเป็นเสน่ห์แห่งวิถีชีวิตที่รักษาจวบจนปัจจุบัน เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงวัฒนธรรมไทดำมากยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะการจัดทำ "โคมไฟ" ที่ดัดแปลงมาจากตุ้มหนู (กรง) และ ตุ้มนก (กรง) เพื่อใช้เป็นเครื่องรางที่แสดงถึงความโชคดีของชุมชนที่แขวนไว้หน้าบ้านทุกหลัง นำมาประดับตกแต่งบนถนนคนเดินในยามค่ำคืน เพื่อเป็นถนนคนเดินอีกเส้นหนึ่งของ "เชียงคาน"
"การคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ชุมชน จะทำให้ชาวชุมชนมีความสุข ขณะที่นักท่องเที่ยวก็พอใจที่ได้มาสัมผัสวิถีชีวิตดั้งเดิม ไร้การแต่งเติม คงความดิบหรือวิถีชีวิตดั้งเดิมอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งกาย ภาษา อาหารถิ่น รวมถึงความสงบ เรียบง่าย มีน้ำใจ ยิ้มแย้มแจ่มใสของชุมชน "บ้านนาป่าหนาด" จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ เป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีอายุและความเป็นมามากกว่า 100 ปี สร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับนักท่องเที่ยว ใช้เวลาพักนานขึ้นและใช้จ่ายเพิ่มขึ้น พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ซึ่งการพัฒนารูปแบบนี้ อพท. จะใช้ "บ้านนาป่าหนาด" ชุมชนไทดำแห่งนี้ เป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่น ๆ ที่สนใจ เข้ามาศึกษาเรียนรู้และนำไปปรับใช้กับชุมชนของตัวเองได้ต่อไป"