"ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา" มรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้
"ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา" เตรียมขึ้นแท่นพื้นที่พิเศษ ชูวิถีชีวิตและทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวและอัตลักษณ์ พร้อมสร้างคุณค่าและมูลค่าผ่านเรื่องเล่า สู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
เกาะยอ ทะเลสาบสงขลา
หลังจากที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เข้าไปสำรวจพื้นที่ "ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา" อันประกอบด้วย 3 จังหวัด ได้แก่ สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช ในปี พ.ศ. 2563 พบว่าทั้ง 3 จังหวัดมีอัตลักษณ์ที่หลากหลายและโดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของผู้คนในแถบนี้ที่ยังคงปฏิบัติสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ประกอบกับความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางด้านการท่องเที่ยว ทั้งคุณค่าทางธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ และด้านวัฒนธรรม ซึ่งมีความพร้อมที่จะประกาศเป็นพื้นที่พิเศษ
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า อพท. จะเข้าไปสนับสนุนและส่งเสริมการทำงานร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ สภาหอการค้าจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ผู้ประกอบการ และที่ขาดไม่ได้คือ ชุมชนเจ้าของพื้นที่ ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการช่วยวางโรดแม็ปในการพัฒนาการท่องเที่ยวทั้ง 3 จังหวัด เพื่อขับเคลื่อนการทำงานให้บรรลุผลสำเร็จโดยเร็ว ซึ่งพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวที่หลากหลาย อพท. จึงมีรูปแบบการนำเสนอและสร้างการรับรู้ในวงกว้าง รวมถึงพัฒนาให้เกิดเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ และให้มีการรวบรวมสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เป็นข้อบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อยกระดับ อีกทั้งยังเป็นการสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่ม โดย อพท. จะนำศักยภาพของแต่ละชุมชนมาพัฒนาร้อยเรียงเป็นเส้นทางท่องเที่ยว (Routing) ที่นำเสนออัตลักษณ์ของพื้นที่ให้กับนักท่องเที่ยวที่สนใจ รวมถึงการพัฒนาบุคลากรทางการท่องเที่ยว การสร้างคุณค่าและมูลค่าผ่านเรื่องเล่า (Story Telling)
หนึ่งในศิลปวัฒนธรรมที่น่าเรียนรู้ คือ อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา ซึ่งเป็นโบราณสถานของชาติ มีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบจีนผสมตะวันตก อายุกว่า 100 ปี ภายในจัดแสดงศิลปวัตถุที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม อันเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ตอนล่าง และเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ทางด้านโบราณคดี ประวัติศาสตร์ ศิลปะ ชาติพันธุ์วิทยา ศิลปะจีน ศิลปะพื้นบ้านพื้นเมือง นอกจากนี้ยังจัดแสดงศิลปโบราณวัตถุที่เกี่ยวกับตระกูล ณ สงขลา ซึ่งเป็นตระกูลเจ้าเมืองสงขลาในอดีตด้วย
อาคารพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา
นอกจากนี้ยังมีแนวทางการขับเคลื่อนเมืองเก่าสงขลาสู่มรดกโลก และเส้นทางท่องเที่ยวโดยชุมชน ของชุมชนบ้านหัวเขาแดง อำเภอสิงหนคร ตามเส้นทางและกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชมที่น่าสนใจ และเยี่ยมชมป้อมเมืองโบราณหมายเลข 1 และหมายเลข 9 ริมถนนสงขลา-ระโนด ที่ยังคงมีสภาพสวยงามเป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้
ความสำคัญของการสนับสนุนครั้งนี้ นาวาอากาศเอก อธิคุณ บอกว่า "ต้องการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น และสร้างการรับรู้ให้กับนักท่องเที่ยว เพื่อสร้างและกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวให้เกิดกับชุมชนท้องถิ่นอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรการท่องเที่ยวที่แท้จริง อันจะนำไปสู่การบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ อพท. ตั้งเป้าจะประกาศให้ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาแห่งนี้เป็นพื้นที่พิเศษภายในสิ้นปี 2564"