แล้วคุณจะหลงรัก "น่าน เมืองเก่าที่มีชีวิต"
หากคุณได้มีโอกาสไปเยือน "น่าน" สักครั้ง คุณจะหลงใหลในความเป็น "น่าน เมืองเก่าที่มีชีวิต" อย่างที่นึกไม่ถึง จนคุณต้องกลับมาเยือนน่านอีกครั้ง นั่นเป็นเพราะมนตร์เสน่ห์ในความเป็นเมืองของน่านที่มีความโดดเด่น ไม่เหมือนใคร ไม่เหมือนเมืองเก่าในสถานที่อื่น ๆ
ลองจินตนาการตามไปว่า เมืองเก่าทั่ว ๆ ไป จะมีภาพของความเป็นเมืองโบราณ มีโบราณวัตถุ โบราณสถาน วัดวาอาราม พระราชวัง ซึ่งเมืองเก่าในสถานที่อื่น ๆ ไม่ว่า สุโขทัย หรืออยุธยา ล้วนเป็นเมืองเก่าที่สะท้อนภาพในอดีตของเมืองแห่งนั้น ซึ่งเป็นภาพการใช้ชีวิตความเป็นของคนในอดีต ปัจจุบันนี้เหลือแค่ซากปรักหักพังหรือร่องรอยของโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัฒนธรรม กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เปิดรับนักท่องเที่ยวและผู้สนใจเท่านั้น
วัดภูมินทร์
กำแพงเมืองเก่าน่าน
แต่สำหรับที่น่าน แม้ว่าจะมีความเป็นเมืองเช่นเดียวกับสุโขทัยหรืออยุธยา แต่ที่นี่ยังคงความเป็นเมืองที่มีผู้คนพักอาศัย มีการใช้ชีวิตเฉกเช่นเดียวกับในอดีต เห็นได้จากวัดวาอารามที่มีอายุกว่า 100 ปี ยังเป็นศูนย์รวมจิตใจ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านหรือชาวชุมชน มากราบไหว้ขอพร หรือใช้ทำพิธีต่าง ๆ รวมถึงยังเป็นสถานที่ค้าขายเช่นเดิมด้วย โดยเฉพาะประวัติศาสตร์สมัยอาณาจักรน่านเจ้า ที่มีอายุกว่า 400 ปี ที่สามารถย้อนภาพในอดีตที่ยังคงอยู่ให้เห็นจนถึงปัจจุบัน ทั้งพระธาตุแช่แห้ง วัดภูมินทร์ วัดพระธาตุช้างค้ำ อาคารบ้านเรือนในเขตเมืองเก่า ที่ยังเปิดรับนักท่องเที่ยวมาท่องเที่ยว รวมถึงผู้ที่สนใจเข้าศึกษาเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนในสมัยโบราณ รวมไปถึงเครื่องมือเครื่องใช้ในการดำเนินชีวิตของคนในอดีต ที่สำคัญชุมชนยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ชุมชน วิถีชีวิตเช่นเดียวกับในอดีต ที่ส่งต่อรุ่นสู่รุ่นมาถึงปัจจุบัน
พระธาตุแช่แห้ง
วัดพระธาตุช้างค้ำ
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. โดยนายสุขสันต์ เพ็งดิษฐ์ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 กล่าวว่า "น่าน เมืองเก่าที่มีชีวิต" เป็นเมืองเก่าแห่งที่ 2 รองจากเกาะรัตนโกสินทร์ ที่เกิดจากร่วมมือร่วมใจกันรักษาความเป็นเมืองไว้ของคนน่าน โดยความร่วมมือกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ที่เริ่มทำแผนพัฒนาเมือง และหลังจากนั้น กรมโยธาธิการและผังเมืองเข้ามารับช่วงต่อ อพท. เริ่มเข้ามาดูแลพื้นที่ในปี 2553 โดยได้รับโจทย์ว่า ไม่ต้องทำแผนใหม่ ให้นำแผนเดิมมาปรับปรุง เปิดเวทีฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะชุมชน ซึ่งได้ข้อสรุปว่า จะนำพื้นที่เมืองเก่ามาเป็นจุดขาย ที่มีทั้งหัตถกรรม ศิลปะ รวมถึงทุนทางวัฒนธรรม ทุนวิถีชีวิต เป็นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์
นายสุขสันต์ เพ็งดิษฐ์
ความโดดเด่นของเมืองเก่าที่มีอัตลักษณ์ วิถีชีวิตชุมชนของคนน่าน ทำให้ผู้มาเยือนหลงใหลในวิถีชีวิตที่มีความเรียบง่าย ไม่เร่งรีบ สโลว์ไลฟ์ ที่มีกลิ่นอายของศิลปวัฒนธรรมที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร อีกทั้งยังเป็นเมืองท่ามกลางหุบเขา ใกล้ชิดธรรมชาติที่สวยงามที่หาไม่ได้ในชีวิตเมือง
นายสุขสันต์ กล่าวว่า ความสมบูรณ์ของ "น่าน เมืองเก่าที่มีชีวิต" ทำให้อพท. มีแผนจะผลักดัน "น่าน" เข้าประกวดเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (Creative Cities Network) สาขาหัตถกรรมและศิลปะ ในโครงการ "เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก" (UNESCO Creative Cities Network หรือ UCCN) ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO ในปีงบประมาณ 2564