ชวนเที่ยวเชื่อมโยง สัมผัสวิถีชีวิตชุมชน
อพท.4 ดันท่องเที่ยวเชื่อมโยง สุโขทัย กำแพงเพชร ตาก อุตรดิตถ์ พิษณุโลก ชูจุดเด่นประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิตชุมชน ดึงนักท่องเที่ยวแวะพักค้างคืน สร้างรายได้เข้าชุมชนอย่างยั่งยืน
อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร จ.กำแพงเพชร
"โจทย์คือ ทำอย่างไร ให้นักท่องเที่ยวแวะพักค้างคืน หรือแวะท่องเที่ยว ไม่ใช่ขับรถผ่านอย่างเดียว เพราะแต่ละจังหวัดก็มีแหล่งท่องเที่ยวที่งดงาม มีศิลปวัฒนธรรม มีสินค้าที่โดดเด่นไม่แพ้ที่อื่น" ดร.ประคอง สายจันทร์ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 4 กล่าว นั่นเป็นที่มาที่สำนักงานพื้นที่พิเศษ 4 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. มีแผนที่จะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใน 5 จังหวัด ได้แก่ สุโขทัย กำแพงเพชร ตาก อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก โดยนำจุดเด่นของแต่ละจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นศิลปวัฒนธรรม หัตถกรรม สินค้า บริการ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่แล้ว มาพัฒนาขึ้นให้ตรงกับความต้องการของนักท่องเที่ยว โดยทุกพื้นที่จะถูกพัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิด “ความยั่งยืน” ทั้งในแง่ของการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิตชุมชน สร้างความตระหนักรู้ รักและหวงแหนในวิถีชีวิตดั้งเดิม ขณะที่ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืน
ดร.ประคอง สายจันทร์ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 4 กล่าวว่า 5 จังหวัดดังกล่าวมีพื้นที่ติดต่อกัน จึงมีแนวคิดที่จะพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวแต่ละจังหวัดให้เป็นการท่องเที่ยวเชื่อมโยงข้ามจังหวัด มีเป้าหมายให้นักท่องเที่ยวแวะพักค้างคืน หรือแวะท่องเที่ยวในทุกจังหวัด ไม่ใช่แค่ขับรถผ่านเพื่อไปยังจุดหมายปลายทางเท่านั้น เพราะแต่ละจังหวัดมีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย มีเรื่องเล่าให้ค้นหา มีเรื่องราวส่งต่อรุ่นสู่รุ่น รวมถึงวิถีชีวิตชุมชนที่คงอัตลักษณ์ชุมชนมาช้านาน
เริ่มจากจังหวัดสุโขทัย เป็นเมืองที่มีชื่อเสียงและเป็นแหล่งท่องเที่ยวโบราณ เชิงประวัติศาสตร์ มีเมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร ที่ยูเนสโกประกาศเป็นเมืองมรดกโลก ตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคม 2534 อย่างไรก็ดี เมืองสุโขทัยไม่ได้มีความโดดเด่นที่เป็นเมืองประวัติศาสตร์หรือโบราณเท่านั้น แต่ยังมีศิลปะ หัตถกรรมพื้นบ้านที่โดดเด่นด้วย ซึ่งองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ประกาศผลการคัดเลือกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (Creative Cities Network) ประจำปี 2562 ให้จังหวัดสุโขทัยได้รับคัดเลือกเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Art)
สำหรับจังหวัดกำแพงเพชร เป็นดินแดนของพระเครื่อง เป็นแหล่งเรียนรู้และศูนย์ศึกษาการทำพระเครื่องนครชุม (ทุ่งเศรษฐี) ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจเข้าชมการสาธิตการปั้นพระ โดยพระที่มีชื่อเสียง อาทิ พระซุ้มกอ พระกลีบบัว พระเม็ดขนุน พระนางพญา และพระกำแพงลีลา ซึ่งเป็นพระเครื่องที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเซียนพระ รวมถึงเป็นเมืองเกษตรกรรม เป็นแหล่งเพาะปลูกกล้วยไข่อีกด้วย
ขณะที่มีสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ทั้งในเชิงประวัติศาสตร์และธรรมชาติ ซึ่งหลายคนอาจจะไม่รู้หรือยังไม่เคยไปอาบน้ำแร่ หรือแช่เท้าที่บ่อน้ำพุร้อนพระร่วง ที่มีการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์โดยรอบอย่างสวยงาม พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวผู้มาเยือนเพื่อสุขภาพและพักผ่อน บ่อน้ำพุร้อนผุดขึ้นมาจากใต้ดิน 5 จุด มีความร้อนประมาณ 40-65 องศาเซลเซียส ปราศจากสารปนเปื้อนหรือเชื้อโรคอันตรายเกินมาตรฐาน การันตีจากการตรวจสอบของกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงอาจจะยังไม่เคยไปสัมผัสกับอากาศที่เย็นสบายของกำแพงเพชร ที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 27.4 องศาเซลเซียส ซึ่งอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 33.5 องศาเซลเซียส ด้วยจุดเด่นเหล่านั้นเชื่อว่าจะทำให้นักท่องเที่ยวหลั่งไหลไปเที่ยวที่กำแพงเพชร โดย อพท. จะสร้างการท่องเที่ยวโดยชุมชน ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เน้นสร้างต้นแบบ สร้างคน และสร้างอาสาสมัครการท่องเที่ยว เพื่อสร้างความประทับใจให้นักท่องเที่ยว
สำหรับจังหวัดตาก เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือตอนล่าง เป็นแหล่งผลิตสินค้า มีโรงงานอุตสาหกรรมคล้ายกับนิคมอุตสาหกรรม เพื่อส่งออกไปยังประเทศพม่า รวมถึงยังมีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ เช่น อุ้มผาง แม่สอด จะเป็นการท่องเที่ยวโดยชุมชน ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์
เมืองลับแล จ.อุตรดิตถ์
ส่วนอุตรดิตถ์ หรือเรียกกันติดปากว่า เมืองลับแล เป็นเมืองเกษตรกรรม เป็นแหล่งเพาะปลูกผลไม้เลื่องชื่อ ทั้งลางสาด ลองกอง เป็นพืชเศรษฐกิจของจังหวัด อีกทั้งยังมีทุเรียนพื้นถิ่นที่กำลังมาแรง รสชาติหวานหอม เป็นที่นิยมของสาวกทุเรียนด้วย ขณะที่จังหวัดพิษณุโลก มีจุดเด่นที่เป็นเมืองการศึกษา เมืองขนส่ง เป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าของภาคเหนือด้วย ที่ผ่านมา ทีเส็บ ประกาศให้พิษณุโลกเป็นเมืองไมซ์ เพื่อรองรับตลาดประชุม สัมมนา ขณะที่มีแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ อาทิ ทุ่งแสลงหลวง เปิดรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบธรรมชาติที่สวยงาม โดย อพท. จะร่วมมือกับภาคีเครือข่ายพัฒนาสร้างเส้นทางท่องเที่ยว พัฒนาสินค้า อาหารชุมชน และโรงแรม
ดร.ประคอง กล่าวว่า อพท. จะพัฒนาทุกพื้นที่ ทุกชุมชน ให้ได้ตามเกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย หรือ CBT Thailand โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสร้างจุดเด่นให้ทุกพื้นที่ ชูวิถีชีวิต อัตลักษณ์ชุมชน ให้เป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว