ความเป็นมา ของสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6
คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2552 และวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 ให้ อพท. ดำเนินการปรับปรุงภารกิจด้านการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษโดยให้ดำเนินการพัฒนา “ต้นแบบ” การบริหารจัดการพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว โดยเลือกพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวตามประเภทของแหล่งท่องเที่ยวได้แก่ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวทางโบราณสถาน แหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อหารูปแบบการดำเนินงานที่เหมาะสมแล้วนำไปใช้เป็น "ต้นแบบ" การบริหารจัดการพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมุ่งผลักดันให้เกิดผลสำเร็จทั้งกระบวนการของการบริหารจัดการพื้นที่พิเศษตั้งแต่การจัดทำแผนและการนำแผนไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุผลเพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการปรับบทบาทของ อพท. ในการบริหารจัดการพื้นที่พิเศษหรือปรับปรุง อพท. เป็นองค์กรรูปแบบระยะยาวต่อไป พื้นที่ท่องเที่ยวเมืองเก่าน่านได้ถูกกำหนดให้เป็น "ต้นแบบ" ของการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรม
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนหรือ อพท. ได้ดำเนินการประสานทุกภาคีที่เกี่ยวข้องในการจัดประชุมประชาคมรับฟังความคิดเห็นเบื้องต้นเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน การจัดทำแผนพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคีการพัฒนาพร้อมจัดเวทีแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนการพัฒนาดังกล่าว จังหวัดน่านได้ขอรับการสนับสนุนจากสถาบันการศึกษาวิทยาลัยเทคนิคน่าน ดำเนินการสำรวจความต้องการของประชาชนในพื้นที่ในช่วงวันที่ 8 - 17 เมษายน 2554 มีจำนวนกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 2,500 คน และผลการสำรวจพบว่า มีผู้ที่เห็นด้วยกับการให้พื้นที่ท่องเที่ยวเมืองเก่าน่านเป็นเขตพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จำนวน 2,458 คน คิดเป็นร้อยละ 98.32 และไม่เห็นด้วย 42 คน คิดเป็นร้อยละ 1.68 คน
จังหวัดน่านได้มีหนังสือด่วนที่สุดที่ นน 0016.2/9941 ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2554 ขอรับการสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เนื่องจาก จังหวัดน่าน เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม และเป็นพื้นที่ที่มีคุณค่าทางด้านประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และศิลปวัฒนธรรมแนวความคิดในการสร้างเมืองที่สามารถเชื่อมโยง ไปถึงการตั้งถิ่นฐานของชุมชนล้านนา อันแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของคนเมืองน่านในอดีต ซึ่งควร แก่การอนุรักษ์และพัฒนา ดังนั้น เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมเมืองน่านให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางประวัติศาสตร์และส่งเสริมคุณค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน ตลอดจนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงเห็นสมควรให้พื้นที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน ประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไป
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (1 พ.ค.55) นายชุมพล ศิลปอาชา รองนายกรัฐมนตรี ได้ขอความเห็นชอบต่อที่ประชุม ครม. ตามที่ คณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือและสนับสนุน องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ในการจัดทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดย อพท. ต้องการแปลงทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญา เพื่อสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นจากแนวคิด Creative Economy และเป็นการเชิญชวนให้เกิดกระแสเศรษฐกิจสร้างสรรค์แพร่ขยายในวงกว้าง โดยมีวิสัยทัศน์คือ "น่าน เมืองเก่าที่มีชีวิต" ครอบคลุมพื้นที่ 5 ตำบล ประกอบด้วย ตำบลในเวียง ตำบลดู่ใต้ ตำบลนาซาว ตำบลบ่อสวก อำเภอเมืองน่าน และตำบลม่วงตึ๊ด อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน เนื้อที่ 139.37 ตารางกิโลเมตร จากหลักฐานตามตำนานและพงศาวดารสันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งชุมชนสมัยประวัติศาสตร์หลายยุคหลายสมัย มีแหล่งโบราณสถานที่ทรงคุณค่าอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ เมืองเก่าน่าน เวียงพระธาตุแช่แห้ง กำแพงเมืองและคูเมืองโบราณ แหล่งโบราณคดีชุมชนดอยภูซาง และเตาเผาโบราณบ่อสวก มีการรวบรวมหลักฐานและข้อมูลทางศิลปวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาค้นคว้า อนุรักษ์ และมีการถ่ายทอดไปยังรุ่นลูกรุ่นหลานอย่างเป็นสุข ผูกพันอย่างต่อเนื่องและภาคภูมิใจ รวมทั้งสร้างภาคีเครือข่ายการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่สอดคล้องกับแนวทางที่จังหวัดน่านและองค์กรที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ได้กำหนดนโยบายและวิสัยทัศน์ที่จะอนุรักษ์และพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเมืองน่านให้เป็นเมืองแห่งการศึกษาเรียนรู้เชิงอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมล้านนาตะวันออก เป็นดินแดนมรดกน่าน มรดกไทย และมรดกโลก
เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2555 อพท. จัดกิจกรรมแนะนำพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่านขึ้นที่โรงแรมเทวราช อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน มีหน่วยงานในพื้นที่มาร่วมสร้างพลังสามัคคีเครือข่ายการพัฒนาในพื้นที่เมืองเก่าน่าน ประกอบด้วย เทศบาลเมืองน่าน เทศบาลตำบลดู่ใต้ อบต.บ่อสวก อบต.นาซาว และ อบต.ม่วงตึ๊ด ร่วมกันผลักดันพื้นที่มรดกล้านนาตะวันออกให้เป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่อง เที่ยวอย่างยั่งยืน
ในการนี้ ได้มีการแสดงเจตจำนงความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ระหว่าง อพท.น่าน และภาคีพัฒนาเมืองน่าน รวม 18 หน่วยงานในจังหวัดน่าน ประกอบด้วย จังหวัดน่าน ศิลปากรน่าน โยธาธิการและผังเมืองจังหวัด วัฒนธรรม สำนักงานพระพุทธศาสนา สำนักงานขนส่งจังหวัด แขวงการทางน่านที่ 1 เรือนจำจังหวัด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจังหวัดแพร่ อบจ.น่าน เทศบาลเมืองน่าน เทศบาลตำบลดู่ใต้ อบต.นาซาว อบต.สวก อบต.ม่วงตึ๊ด วัดพระธาตุแช่แห้ง สภาวัฒนธรรม และ อพท.น่าน เพื่อแสดงความร่วมมือ ร่วมแรงใจ ของคนในพื้นที่ซึ่งแสดงออกถึงความเข้มแข็งทางศิลปวัฒนธรรมที่มีอย่างยาวน่าน สู่สายตาบุคคลภาคนอกและนักท่องเที่ยว รักษไว้เป็นมรดกของลูกหลานได้สืบทอดต่อไป