องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

เร่งประกาศพื้นที่พิเศษ อารยธรรมอีสานใต้

1625819760
ขนาดตัวอักษร

          อพท.2 เดินหน้าพัฒนาพื้นที่อารยธรรมอีสานใต้  5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี เป็นพื้นที่พิเศษ เพิ่มความคล่องตัวสู่พัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน



อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี
 

          นายพลากร บุปผาธนากร ผู้อำนวยการ สำนักยุทธศาสตร์ และรักษาการผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 2 หรือ อพท.2 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า อพท.2 มีบทบาทในการดำเนินงานในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ ประกอบด้วย 5 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ใน 2 บทบาทหลัก คือ
 


นายพลากร บุปผาธนากร

 

          1. ในฐานะเป็นผู้ช่วยฝ่ายเลขานุการในคณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยว ประจำเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ มาเป็นระยะเวลา 3 ปี มีหน้าที่ในการสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการเขตพัฒนาการท่องเที่ยว ด้วยการให้คำแนะนำ (Advise) ติดตามการดำเนินงาน (Monitor) และรายงานผลการดำเนินงาน (Report) ในด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวด้านต่าง ๆ ในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้

          2. การดำเนินการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน ตามมติของคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ททช.) ที่ให้ อพท. สามารถดำเนินการด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนนอกเขตพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้

          อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานด้านอื่น ๆ ในเขตอีสานใต้ อพท.2 ยังไม่สามารถดำเนินงานได้อย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากยังไม่ได้มีพื้นที่ที่ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อพท.2 จึงยังไม่สามารถดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง อพท. ได้ ดังนั้น แผนการดำเนินงานในปี 2564-2565 อพท.2 จะมุ่งเน้นไปที่การศึกษาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมเพื่อประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ เพื่อให้ อพท.2 มีอำนาจหน้าที่เต็มตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง อพท. และสามารถดำเนินการพัฒนาด้านต่าง ๆ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเทียบเท่าสำนักงานพื้นที่พิเศษอื่น ๆ ที่ประกาศไปแล้วก่อนหน้านี้

          ทั้งนี้ ในระหว่างรอการประกาศพื้นที่พิเศษนั้น อพท.2 ก็ได้มีการวางแนวทางการดำเนินงานและแผนงานการพัฒนาพื้นที่อารยธรรมอีสานใต้ หลังจากได้รับการประกาศพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในแนวทางดังต่อไปนี้

          1. ส่งเสริมการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว (Destination) ตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria: GSTC) เพื่อให้แหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ในพื้นที่พิเศษมีการบริหารจัดการ การจัดสรรรายได้ การสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การปกป้องมรดกทางวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเป็นไปตามมาตรฐานระดับสากล รวมไปถึงการมีส่วนร่วมในการพัฒนาการบริการ สาธารณูปโภค การออกแบบสินค้าและบริการ การสื่อสารประชาสัมพันธ์ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ และชุมชน

          2. พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนตามเกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT-Thailand) เป็นการนำวิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณี และอื่น ๆ ที่เป็นจุดเด่นหลักของชุมชนมานำเสนอในรูปแบบกิจกรรมการท่องเที่ยว โดยให้ชุมชนเองเป็นผู้บริหารจัดการและจัดสรรผลประโยชน์
 


          3. พัฒนามรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ (Intangible Cultural Heritage) เป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ คล้ายคลึงกับแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน แต่จะเน้นไปที่วัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ มานำเสนอเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวมาเรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมต่าง ๆ อย่างลึกซึ้ง และพัฒนาต่อยอดไปสู่การพัฒนาในระดับเมือง สู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ตามแนวทางของ UNESCO

          4. การพัฒนาการท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างประเทศ อพท. ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างเป็นรูปธรรมมาแล้วในพื้นที่สี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง ดังนั้น เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ที่มีพื้นที่ติดต่อกับประเทศลาวและกัมพูชาจึงเป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญที่จะขยายผลการดำเนินงานเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ซึ่งจะสร้างประโยชน์ให้กับพื้นที่และประเทศเพื่อนบ้านในอนาคต
 


ผ้าภูอัคนี ของดีบุรีรัมย์
 

          ขณะที่แนวทางอื่น ๆ ที่อยู่ในช่วงของการพัฒนาแนวทางการดำเนินงาน อาทิ การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยาตามแนวทางอุทยานธรณีโลก ร่วมกับอุทยานธรณีต่าง ๆ ในพื้นที่อีสานใต้ การพัฒนาการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามมาตรฐาน STMS การยกระดับการให้บริการด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นต้น

          ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในด้านการยกระดับคุณภาพชีวิต โดยใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม การพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยว การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของพื้นที่อารยธรรมอีสานใต้