ยกระดับ "สุพรรณบุรี" เข้าสู่การท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล
การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุทำให้คนในสังคมเกิดความตื่นตัว เพื่อรองรับผู้สูงวัย รวมถึงผู้พิการ ทุกเพศสภาพ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่เตรียมการรับมือกับภาวะดังกล่าว เพราะสุพรรณบุรีเป็นเมืองท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว เพราะมีแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งที่น่าสนใจ นักท่องเที่ยวจำนวนมากไม่เคยไปท่องเที่ยวในจังหวัดสุพรรณบุรี อีกทั้งยังอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร
จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นพื้นที่พิเศษที่องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ดูแลรับผิดชอบ อพท. จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว สถานบริการต่าง ๆ รวมถึงร้านค้า ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอารยสถาปัตย์ หรือ (Friendly Design) เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวด้วยความเสมอภาค
ดร.สมจินต์ ชาญกระบี่ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 7 (อพท.7) เปิดเผยว่า การออกแบบอารยสถาปัตย์เป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นเพื่อให้สถานที่ท่องเที่ยวสามารถรองรับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสภาพร่างกาย สามารถเข้าถึงได้ ใช้ประโยชน์ได้ และใช้บริการได้ในสถานที่ แหล่งท่องเที่ยว และบริการต่าง ๆ ของภาครัฐและเอกชนได้โดยสะดวก ปลอดภัย เสมอภาค เท่าเทียมอย่างแท้จริง เพื่อขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลสามารถเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
ดร.สมจินต์ ชาญกระบี่
อพท. และภาคีเครือข่าย มีนโยบายส่งเสริมและผลักดันการสร้างอารยสถาปัตย์ในจังหวัดสุพรรณบุรี และพื้นที่เชื่อมโยงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เป็นเส้นทาง Tourism for All ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่คนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้พิการ ที่สังคมไทยก้าวสู่สังคมสูงวัยแล้ว ซึ่งจะผลักดันให้สถานที่ท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร สถานีบริการปั๊มน้ำมัน จุดแวะพัก จัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เช่น ที่จอดรถวีลแชร์ ทางลาด ห้องน้ำ รวมถึงป้ายสัญลักษณ์สำหรับผู้สูงอายุและคนพิการด้วย ตั้งเป้าแล้วเสร็จภายใน 3 ปี นอกจากนี้ อพท. จะเข้าไปประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ส่งเสริมการเข้าถึงการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for All)
ดร.สมจินต์ กล่าวว่า แผนพัฒนาสู่เมืองอารยสถาปัตย์ จะเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจ และจัดให้มีการท่องเที่ยวที่มีความพร้อมด้านอารยสถาปัตย์ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 3 ข้อ ได้แก่
1. สร้างความรู้ ความเข้าใจ และประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ในจังหวัดสุพรรณบุรี ให้มีการจัดการการท่องเที่ยวที่มีความพร้อมด้านอารยสถาปัตย์ และเป็นต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล
2. สร้างเครือข่ายความร่วมมือในหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อพัฒนาปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวสถานบริการ ให้มีความพร้อมด้านอารยสถาปัตย์อย่างยั่งยืน
3. ส่งเสริม สนับสนุน และผลักดัน ให้สถานประกอบการ สถานบริการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในจังหวัดสุพรรณบุรี มีความพร้อมด้านอารยสถาปัตย์ เพื่อขับเคลื่อนจังหวัดสุพรรณบุรี และพื้นที่เชื่อมโยงลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา สู่ต้นแบบเมืองอารยสถาปัตย์