"การท่องเที่ยวโดยชุมชน" สู่เป้าหมายกระจายรายได้สู่ชุมชน
อพท. ปั้น "ท่องเที่ยวโดยชุมชน" หวังกระจายรายได้สู่ชุมชน ให้ชุมชนสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง เพื่อความยั่งยืนที่แท้จริง
คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การท่องเที่ยวโดยชุมชน กำลังได้รับความนิยมในวงกว้างจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อให้การพัฒนาชุมชนเป็นไปอย่างยั่งยืน
นางสาววรรณวิภา ภานุมาต ผู้อำนวยการสำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน อพท. เปิดเผยว่า แนวทางการนำการท่องเที่ยวโดยชุมชนไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนนั้นจะมีความแตกต่างกันในแต่ละชุมชน เนื่องจากเป้าหมายในการพัฒนาของแต่ละชุมชนจะไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่พิเศษและนอกพื้นที่พิเศษ จะมีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
ยกตัวอย่างเช่น หากชุมชนที่มีเป้าหมายในการใช้การท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน หรือเพื่ออนุรักษ์วิถีชีวิตหรือสิ่งแวดล้อม จุดเน้นในแนวทางการพัฒนาก็จะแตกต่างกันไป นอกจากนั้นยังขึ้นอยู่กับต้นทุนและศักยภาพของแต่ละชุมชนอีกด้วย หากเป็นชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงแหล่งท่องเที่ยวหลักก็จะได้เปรียบทางด้านการตลาด แต่หากเป็นชุมชนที่อยู่ในเมืองรองหรือไม่ได้มีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่โดดเด่น อาจจะต้องเน้นการพัฒนาเพื่อเชื่อมโยงกับห่วงโซ่การท่องเที่ยวที่แตกต่างออกไป
นางสาววรรณวิภา ภานุมาต
โดยการทำงานในพื้นที่พิเศษและนอกพื้นที่พิเศษจะมีความแตกต่างกันตามอำนาจหน้าที่ของ อพท. โดยในพื้นที่พิเศษ อพท. จะเน้นพัฒนาชุมชนต้นแบบที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อให้สามารถได้รับการกระจายรายได้อย่างชัดเจน โดยเน้นการพัฒนาคนในชุมชนและโครงสร้างพื้นฐานให้มีความพร้อมร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ โดย อพท. จะเป็นหน่วยงานหลักในการเป็นตัวกลางประสานภาคส่วนต่าง ๆ มาร่วมกันพัฒนา เพราะเราเชื่อว่า "ทำท่องเที่ยวเก่งคนเดียวไม่ได้"
ในขณะที่หากเป็นชุมชนนอกพื้นที่พิเศษ อพท. จะดำเนินการโดยสร้างการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่นั้น ๆ เป็นหลัก เพื่อให้หน่วยงานในพื้นที่เป็นเจ้าภาพในการพัฒนา แต่ อพท. จะเข้าไปช่วยในการให้องค์ความรู้ Train the Trainer เน้นการจัดทำแผนบูรณาการร่วมกันและพัฒนาคนเป็นหลัก โดยเน้นการสร้างเครือข่ายและการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานและคนในพื้นที่ เพื่อที่หาก อพท. ออกมาจากพื้นที่ดังกล่าว หน่วยงานและคนในพื้นที่ก็จะสามารถดำเนินการต่อได้อย่างต่อเนื่องนั่นเอง
ผู้อำนวยการสำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน กล่าวว่า กระบวนการพัฒนาชุมชนไปสู่มาตรฐานหรือรางวัลนั้น มีขั้นตอนตั้งแต่ อพท. เข้าไปร่วมคิด ร่วมวางแผนกับชุมชน ตั้งแต่การค้นหาของดีในชุมชน การประเมินศักยภาพชุมชน การพัฒนาศักยภาพคนในชุมชนให้เข้าใจการท่องเที่ยว การจัดทำแผนการพัฒนาร่วมกับชุมชน การเพิ่มมูลค่าทรัพยากรท้องถิ่นผ่านกระบวนการออกแบบประสบการณ์และเรื่องเล่า การทดสอบสินค้าและบริการการท่องเที่ยว การเชื่อมโยงตลาดการท่องเที่ยวที่เหมาะสม การติดตามประเมินผลและถอดบทเรียนร่วมกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยมีการใช้เครื่องมือที่สำคัญเป็นกรอบการพัฒนา คือเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนระดับสากล Global Sustainable Tourism Criteria (GSTC) ของสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก
ตัวอย่างชุมชนที่เป็นความภาคภูมิใจของ อพท. คือ ชุมชนบ้านไร่กองขิง จ.เชียงใหม่ ที่ อพท. มีโอกาสเข้าไปร่วมทำงานตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งชุมชนมีเป้าหมายชัดเจนในการใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการพัฒนาสวัสดิการชุมชน ดังนั้น จุดอื่นของชุมชนคือการมีส่วนร่วมและการกระจายประโยชน์จากการท่องเที่ยวให้ทั่วถึงทั้งชุมชน
ภาพจาก A.Khachachart / Shutterstock.com
รวมถึงชุมชนตะเคียนเตี้ย จ.ชลบุรี ซึ่งมีการพัฒนามาไกลมาก จนปัจจุบันเป็นที่ยอมรับได้โอกาสเชื่อมโยงไปถึงตลาดทั้งไทยและต่างประเทศที่หลากหลาย
นางสาววรรณวิภา กล่าวว่า เป้าหมายในยุทธศาสตร์ของ อพท. คือ การที่ชุมชนได้รับการพัฒนาจนมีศักยภาพในการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาการท่องเที่ยวได้ และนั่นคือเพื่อกระจายรายได้สู่ชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง เพื่อความยั่งยืนที่แท้จริง