จากปลายจวักสู่ภูมิปัญญา เปิดตำรับความอร่อยอาหารพื้นบ้านภาคตะวันออก
พาไปทำความรู้จักอาหารพื้นบ้านภาคตะวันออก พร้อมเรียนรู้ขั้นตอนการทำอาหาร เคล็ดลับความอร่อย และการคัดสรรวัตถุดิบในท้องถิ่นตามฤดูกาลมาสร้างสรรค์เมนูทั้งอาหารคาวและหวาน
อาหารประจำท้องถิ่น เป็นสิ่งสะท้อนอัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ เพราะส่วนประกอบหลักจะเน้นใช้เป็นวัตถุดิบในท้องถิ่นนั้น ๆ มารังสรรค์เป็นเมนูเฉพาะตัว จนกลายเป็นอาหารเอกลักษณ์ของชุมชน อย่างภาคตะวันออกในแต่ละท้องที่ ทั้งจังหวัดชลบุรี, จังหวัดระยอง, จังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด ก็มีของกินดีและเด็ดอยู่มากมาย ดังนั้น องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ร่วมกับชุมชนในพื้นที่ขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ดำเนินการยกระดับวัตถุดิบท้องถิ่นสู่วัฒนธรรมอาหารมากคุณค่า หวังกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน โดยมีเมนูน่าลิ้มลอง ไม่ว่าจะเป็น
1. แกงหมูชะมวง เมนูพื้นถิ่นในจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด นิยมทำในงานเลี้ยงต่าง ๆ โดย "ใบชะมวง" เป็นพืชที่พบได้ทั่วไปในท้องถิ่น มีรสชาติเปรี้ยว นิยมนำมาปรุงอาหารหลากหลายชนิด ทั้งต้มยำ แกงส้ม และแกงชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะเมนูแกงหมูชะมวงอันขึ้นชื่อ
2. แกงส้มผักกระชับ พืชเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีมากในพื้นที่จังหวัดระยอง กินได้ทั้งแบบสดหรือนำไปประกอบอาหาร โดยจะใช้ต้นอ่อนมาเพิ่มความอร่อยหลากหลายเมนู ทั้งแกงส้ม ต้มยำ หรือผัดน้ำมันหอย โดยเฉพาะ “แกงส้มผักกระชับ”
3. ปูไข่ตะกายดาว อาหารท้องถิ่นจังหวัดตราด นำปูไข่ที่ทำความสะอาดเรียบร้อยแล้วแกะกระดองและควักไข่ที่อยู่ในตัวปูออกมาพักไว้ จากนั้นสับตัวปูให้ละเอียด ตำน้ำพริกเกลือ (น้ำจิ้มซีฟู้ด) รสชาติตามใจชอบ ก่อนจะนำไข่ปูไปผสมกับเนื้อปูและคนให้เข้ากัน ตักน้ำพริกเกลือราดให้ฉ่ำ กินคู่กับผักสดต่าง ๆ เข้ากันดีมาก ๆ
4. แกงเผ็ดหน่อสับปะรด อาหารพื้นบ้านจังหวัดระยองที่เป็นผลผลิตจากไร่จากสวนอีกเมนูหนึ่ง เพราะระยองเป็นแหล่งปลูกสับปะรดแหล่งใหญ่ในภาคตะวันออก จึงมักนำหน่อสับปะรด ซึ่งเป็นส่วนยอดของผลสับปะรด โดยปอกเหลือแต่แกนสีขาว จากนั้นซอยเป็นแผ่นบาง ๆ ผัดเครื่องแกงเผ็ดจนหอม ใส่เนื้อสัตว์ตามชอบ (หมู/ไก่/เนื้อ) ผัดพอสุกให้เข้ากัน เติมน้ำเปล่าพอขลุกขลิก ปรุงรสตามใจ ต่อด้วยใส่ไฮไลต์อย่างหน่อสับปะรด คนให้เข้ากัน ตั้งไฟอีกสักพักก็เรียบร้อย
5. ก๋วยเตี๋ยวเส้นจันท์ผัดปู เส้นจันท์ หรือเส้นเล็กที่มีความเหนียวและนุ่มอันเป็นเอกลักษณ์ นอกจากเอาไปทำเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวแล้ว เมนูพื้นถิ่นยอดนิยมก็คือ เส้นจันท์ผัดปู หรือก๋วยเตี๋ยวผัดปู โดยนำเส้นจันท์มาผัดกับน้ำปรุงรส เติมปูกะตอยหรือปูม้าตัวเล็ก ใส่ใบกุยช่าย ถั่วงอก คลุกเคล้าให้เข้ากัน ก็ได้จะเส้นจันท์ผัดปูรสชาติหวานเปรี้ยวพอดี
6. ข้าวคลุกพริกเกลือ นำข้าวสวยร้อน ๆ คลุกเคล้ากับน้ำพริกเกลือหรือน้ำจิ้มซีฟู้ดสูตรเมืองจันทบุรี โดยโขลกพริกขี้หนูสดและกระเทียมให้พอหยาบ ปรุงรสด้วยน้ำปลา น้ำมะนาว น้ำตาลนิดหน่อย มีรสเผ็ด เปรี้ยว เค็ม กินคู่กับไข่ต้ม หมูต้ม และอาหารทะเลต่าง ๆ
7. ปลาคก อาหารรสดีเด็ดของเมืองชลบุรี ทำจากปลาตะเพียนน้ำเค็มต้มกับผักกาดดอง ตะไคร้ กระเทียม พริกแห้งและเกลือ ใส่ปลาไว้บนสุด เติมน้ำพอท่วม ปรุงรสด้วยซีอิ๊ว เกลือ และน้ำตาล เคี่ยวด้วยไฟอ่อน ๆ รวมกันกับน้ำเป็ดพะโล้ จนกระทั่งก้างปลานิ่ม โดยจุดเด่นของปลาคกคือเคี้ยวกินได้ทั้งก้างเลย
8. แกงไก่กะลา เมนูท้องถิ่นของชุมชนตะเคียนเตี้ย จังหวัดชลบุรี ที่นำวัตถุดิบท้องถิ่นมาประกอบอาหารจนกลายเป็นเมนูขึ้นชื่อ ขั้นตอนการทำคือ นำพริกจินดาแดง พริกแห้ง พริกขี้หนู กระเทียม ตะไคร้ ผิวมะกรูด ข่า ดอกผักชี ดอกกะเพรา พริกไทยเม็ด เกลือ และกะปิ โขลกจนละเอียดและเข้ากัน ตั้งไฟให้ร้อน คั่วพริกแกงกับน้ำมันจนกลิ่นหอมฟุ้ง แล้วใส่เนื้อไก่ ผัดให้สุก ตามด้วยกะลามะพร้าวอ่อน ผัดจนเนื้อกะลาอ่อนนุ่มลง ปรุงรส ปิดท้ายด้วยใบกะเพรา ตักขึ้นจัดเสิร์ฟ อร่อยกรุบ ๆ
9. ข้าวเกรียบอ่อนน้ำจิ้ม ของกินเล่นและขนมหวานของจังหวัดจันทบุรี ทำจากแป้งข้าวเจ้า วิธีทำคล้ายข้าวเกรียบปากหม้อแต่แผ่นโตและหนากว่า ม้วนเป็นท่อนกลม ๆ เวลาจะกินก็จิ้มกับน้ำจิ้มพริกตำใส่กุ้งแห้งป่น รสชาติออกเปรี้ยว เค็ม และหวาน
10. ข้าวเกรียบยาหน้า ของกินเล่นพื้นเมืองบ้านน้ำเชี่ยว อำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด ซึ่งเป็นของชาวมุสลิม (แขกจามเชื้อสายมลายู) ในพื้นที่ สำหรับข้าวเกรียบยาหน้ามีลักษณะคล้ายข้าวเกรียบปากหม้อ ประกอบด้วย น้ำตาลอ้อย มะพร้าว กุ้ง และแผ่นแป้ง โดยจะใช้เป็นแผ่นแป้งกรอบ เวลากินให้นำแผ่นแป้งไปย่างไฟ จากนั้นจัดข้าวเกรียบกุ้งใส่จาน เสิร์ฟพร้อมน้ำพริกเผาหรือน้ำจิ้มหวาน
11. ขนมควยลิง ขนมเก่าแก่อายุกว่า 100 ปี หากินได้ยาก มีส่วนผสมแสนง่าย เพียงนำข้าวเหนียวดำผสมกับข้าวเหนียวขาวปั้นเป็นแท่งต้มในน้ำเดือด เมื่อสุกลอยขึ้นมาก็นำมาคลุกมะพร้าว น้ำตาล งา ความพิเศษคือความเหนียวนุ่มและกลิ่นหอมของงา
12. ขนมบอบแบบ (ขนมนิ่มนวล) ขนมหวานพื้นถิ่นของชาวระยอง เป็นขนมไทยที่หากินได้ยากแล้วในปัจจุบัน มีลักษณะคล้ายขนมถั่วแปบ แต่ตัวแป้งโรยด้วยผงแป้งบาง ๆ ทำให้มีสีขาวนวล ข้างในมีไส้ ทำด้วยมะพร้าว น้ำตาล รสชาติกลมกล่อม หอม หวาน นิ่มนวลสมชื่อ
13. ขนมบันดุก (ขนมเปียกปูนขาว) ขนมหวานพื้นเมืองจังหวัดตราด หน้าตาคล้าย ๆ กับขนมเปียกปูน ทำมาจากแป้งข้าวเจ้ากวน เวลากินให้ตัดขนมเป็นชิ้นใส่จาน แล้วราดด้วยน้ำเชื่อม โรยถั่วลิสงคั่วป่น จะได้รสชาติหวาน มัน หนึบ
และนี่คืออาหารและขนมประจำถิ่นในภาคตะวันออกเพียงไม่กี่เมนูที่หยิบมาแนะนำกัน จริง ๆ แล้วยังมีความอร่อยพื้นบ้านรออยู่อีกมากมาย ซึ่งถือเป็นการสืบทอดรากเหง้าทางวัฒนธรรมในพื้นที่ให้คงอยู่สืบไป อีกทั้งแหล่งของวัตถุดิบยังเป็นช่องทางในการท่องเที่ยวเพื่อไปเรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้าน และสร้างรายได้เข้าสู่ชุมชนอย่างยั่งยืน
ขอบคุณข้อมูลจาก
เว็บไซต์ m-culture.go.th
เว็บไซต์ culture.go.th
เว็บไซต์ rayongcity.go.th
เว็บไซต์ tis.dasta.or.th
เว็บไซต์ chonburicity.go.th
เว็บไซต์ museumthailand.com
เว็บไซต์ tis.dasta.or.th