บ้านผาชัน จ.อุบลฯ กับวิถีประมงพื้นบ้านริมโขง ช่วยฟื้นชีวิตให้ชุมชน
เรียนรู้วิถีประมงพื้นบ้านริมโขง ณ บ้านผาชัน จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งการหว่านแห จับปลาริมน้ำโขง การวางมอง การช้อนกุ้ง รวมถึงไปเยือนสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจต่าง ๆ
บ้านผาชัน จังหวัดอุบลราชธานี ชุมชนริมฝั่งโขงที่ยังคงมีวิถีชีวิตผูกพันอยู่กับการทำประมงพื้นบ้าน ก่อเกิดรายได้หล่อเลี้ยงชีวิต ตลอดจนเรื่องราวความผูกพันมิตรภาพของคนสองฝั่งโขงไทย-ลาว วัฒนธรรม โดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. สำนักงานพื้นที่พิเศษ 2 ได้เข้ามาวางแผนและพัฒนาศักยภาพของชุมชนบ้านผาชัน ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญเพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนอย่างยั่งยืนโดยไม่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตเดิม อันสะท้อนถึงความรุ่มรวยมรดกแห่งชีวิตและภูมิปัญญาอย่างแท้จริง
บ้านผาชัน วิถีชาวบ้านที่ผูกพันกับแม่น้ำโขง
หินผาเบื้องหน้าใครเล่าจะรู้ว่ามีอายุร่วมกว่าร้อยล้านปี ตั้งเรียงรายสูงกว่าระดับน้ำประมาณ 20-30 เมตร เป็นประติมากรรมทำหน้าที่พรมแดนธรรมชาติกั้นประเทศไทยและลาวเป็นระยะทางยาวเกือบ 10 กิโลเมตร จนเป็นที่มาของชื่อ "บ้านผาชัน" ในส่วนของเบื้องล่างของหินผา ถูกจับจองพื้นที่ด้วยเรือประมงหลายสิบลำ ซึ่งชาวบ้านใช้เป็นพาหนะออกหาปลา ก้นบึ้งของแม่น้ำโขงแห่งนี้ ยังคงอุดมไปด้วยพันธุ์ปลาหลากหลายชนิด แต่ละวันชาวบ้านจะจับปลาเหล่านี้ บ้างก็นำไปทำกิน บ้างก็นำไปขาย ณ กองทุนปลาบ้านผาชัน สถานที่แห่งนี้เป็นจุดซื้อขายปลาน้ำโขง ทั้งที่มาจากบ้านผาชันและหมู่บ้านใกล้เคียง ปลาน้ำโขงสด ๆ ตัวโต ๆ ดึงดูดลูกค้าจากหลากหลายแห่ง ตาชั่งน้ำหนักพร้อมเสียงขานบอกตัวเลขน้ำหนักปลาแต่ละตัวของเหล่าแม่ค้าพ่อค้าประจำแผง เมื่อเลือกขนาดปลาสมใจอยากแล้ว ก็ถึงเวลากลับบ้านพร้อมรอยยิ้ม พลางคิดถึงเมนูอาหารในหัว รอถึงบ้านเมื่อไร ก็พร้อมจับปรุงความอร่อยเป็นแม่นมั่น
หลากกิจกรรมท่องเที่ยว ณ บ้านผาชัน
นอกจากวิถีชีวิตคนประมงอันเป็นเอกลักษณ์แล้ว บ้านผาชันยังมีหลากหลายกิจกรรมท่องเที่ยว เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามาสัมผัสเสน่ห์ ชนิดที่พูดได้เลยว่าบ้านผาชันมี "ดี" และ "ดีกรี" ความสุขระดับสูง รอคอยให้ผู้มาเยือนเดินทางมาเห็นด้วยตาตัวเอง เช่น
- นอนโฮมสเตย์ กินอาหารพื้นถิ่นสุดแซ่บกับแจ่วบอง
พักผ่อนนอนหลับ พร้อมกับเรียนรู้วิถีชีวิตชาวบ้านผาชัน ท่ามกลางบรรยากาศแบบโฮมสเตย์ เน้นความเรียบง่ายเป็นหลัก รวมถึงการได้ลิ้มรสอาหารพื้นถิ่นอย่าง "แจ่วบอง" อาหารที่ขึ้นชื่อลือชา ส่วนสูตรเด็ดเคล็ดไม่ลับจนต้องบอกต่อ นั่นเพราะทำจากปลาแม่น้ำโขงโดยเฉพาะ รวมถึงปลาร้า อีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ของดี ที่ใครมาบ้านบางชันก็ต้องขอแวะลองแวะชิม
- ชมและศึกษาวิถีชีวิตชาวบ้านผาชันแถบริมแม่น้ำโขง
วิถีการจับปลาของชาวบ้านผาชันไม่ได้มีเครื่องมือที่ทันสมัย โดยชาวบ้านจะดูจากทำเลในการจับจอง “ลวง” ซึ่งลวงคือพื้นที่หาปลาบนผืนน้ำโขงที่บรรพบุรุษชาวประมงเขามาจับจอง ด้วยวิธีการทำเครื่องหมายไว้บนหน้าผา ปลาตัวโต ๆ ที่เราเห็น ชาวบ้านจะใส่เครื่องมือหาปลาไว้ข้ามคืน โดยใช้แค่เบ็ดและตาข่ายเท่านั้น ในแต่ละช่วงเดือน ก็จะมีวิธีหาปลาแตกต่างกัน เป็นต้นว่าเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม จะเห็นชาวบ้านส่วนใหญ่ จับปลากันด้วยการตักช้อน แล้ววางเบ็ดใหญ่ เดือนกันยายนช่วงน้ำหลาก ชาวบ้านก็จะหาปลาริมโขงแทน
ภาพจาก PixHound / Shutterstock.com
- การปลูกผักสวนครัวริมแม่น้ำโขง
ทุกช่วงเดือนพฤศจิกายนเรื่อยไปจนถึงเดือนมกราคม เป็นช่วงที่น้ำโขงลดระดับ ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะนิยมปลูกผักสวนครัวริมแม่น้ำโขง เช่น ถั่วลิสง มันแกว ข้าวโพด ถั่วฝักยาว ส่วนในช่วงปลายเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์เป็นช่วงเวลาเก็บเกี่ยว แล้วก็นำไปขายสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง
- การตักบาตรทำบุญ และการบายศรีสู่ขวัญ
สร้างเสริมสิริมงคลให้กับชีวิตด้วยกิจกรรมการตักบาตรทำบุญ และการบายศรีสู่ขวัญ อันเป็นประเพณีสำคัญสะท้อนถึงความเชื่อของชุมชนผาชัน ที่ว่าทุกคนเกิดมาพร้อมกับสิ่งนามธรรมอย่างหนึ่งที่เรียกว่า "ขวัญ" ซึ่งมีหน้าที่รักษาประคับประคองชีวิตและติดตามเจ้าของไปทุกหนแห่ง การทำพิธีสู่ขวัญจึงเป็นการเชิญขวัญที่หนีหายไปให้เข้ามาอยู่กับตัว และเชื่อว่าเป็นการส่งเสริมพลังใจ เกิดสิริมงคลและใช้ชีวิตได้อย่างเป็นสุข
- เดินป่าศึกษาธรรมชาติ ชมอุทยานธรณีแห่งแรกของไทย เสาเฉลียงยักษ์ ถ้ำโลง เสาหินตั้ง ฝายวังอีแร้ง
ที่หมายแรกกับการแวะ "เสาเฉลียงใหญ่" มีลักษณะเป็นเสาหินยักษ์คู่ มีแผ่นหินวางอยู่ด้านบน ซึ่งเชื่อกันว่าเสาหินนี้จะทำหน้าที่คุ้มครองคนในหมู่บ้าน ต่อด้วย "ถ้ำโลง" ที่มีลักษณะเป็นเพิงผา มีโลงศพอายุกว่าสองพันปีก่อนประวัติศาสตร์ ทำจากไม้พะยอมท่อนเดียว ใช้บรรจุศพคนโบราณ เพื่อนำศพไปเผาก่อนนำโลงกลับมาใช้งานต่อ บริเวณหัวโลงทำเป็นแผนโค้งคล้ายเขาควาย เพื่อใช้ในการจับยก ทำให้ชาวบ้านบางคนเรียกว่า "โลงเขาควาย" รวมถึงเยี่ยมชม "ฝายอีแร้ง" นวัตกรรมจากภูมิปัญญาชาวบ้าน แก้ปัญหาภัยแล้งของชุมชน ซึ่งก่อนหน้านี้ต้องเผชิญปัญหาภัยแล้วอย่างหนัก โดยฝายจะรับน้ำหลากจากลำห้วยภูโลง จากที่เคยไหลหลากลงแม่น้ำโขง ก็ถูกกักเก็บไว้ใช้ในชุมชน ทั้งเพื่อการเกษตรและผลิตน้ำประชาหมู่บ้าน กระจายผ่านระบบท่อ โดยชาวบ้านที่อยู่เหนือฝาย จะใช้มอเตอร์สูบน้ำผ่านระบบแอร์แว อุปกรณ์เสริมแรงดันน้ำที่ชุมชนร่วมกันวิจัยขึ้น จากเดิมที่เป็นหมู่บ้านขาดน้ำ ในวันนี้กลับกลายเป็นหมู่บ้านที่อุดมสมบูรณ์
- ล่องเรือชมแม่น้ำโขง แวะชมสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจ
พลาดไม่ได้กับกิจกรรมล่องเรือชมแม่น้ำโขง โดยเริ่มตั้งแต่ท่าเรือผาชัน ทัศนามองสายน้ำโขงที่ทอดแนวยาว ล้อมรอบด้วยหน้าผาชัน และเมื่อคราวใดที่น้ำลด แนวผาที่นี่จะเผยให้เห็นระลอกลวดลายของหิน และแวะสถานที่ต่าง ๆ เช่น ชมต้นหว้าน้ำ ลักษณะคล้ายบอนไซ ขึ้นเรียงรายอยู่สองฟากฝั่ง, ผาหัวช้าง หินที่ยื่นออกมากลางแผ่นผา มองแล้วก็ชวนจินตนาการให้นึกถึงหัวช้าง, ผามาว้อ สถานที่ที่ชาวบ้านให้ความเคารพในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ หรือหมื่นรู หน้าผายาว โดยตลอดแนวหน้าผาถูกน้ำกัดเซาะ หรือไม่ก็ถูกกรวดและหินทำปฏิกิริยาจนเกิดเป็นร่องเป็นรูต่าง ๆ เป็นต้น
วิถีชีวิตตลอดจนวิถีประมงของคนลำน้ำโขงของบ้านผาชัน ยังคงมีเสน่ห์อย่างน่าตรึงใจ ทุกเช้าที่เรือประมงลอยละลิ่ว ทิ้งรอยระลอกคลื่นเป็นวงกว้างกระทบผาหิน เหล่านี้เป็นดั่งสัญญาณชีวิตมีลมหายใจ ตราบจนมาถึงทุกวันนี้
ขอบคุณข้อมูลจาก
เว็บไซต์ Phachan_Fish
เว็บไซต์ dmr.go.th