พาลัดเลาะปราสาทหิน ถิ่นอีสานใต้ ร่องรอยแหล่งอารยธรรมขอมโบราณ
ตามรอยเส้นทางท่องเที่ยวอารยธรรมขอม ลัดเลาะชื่นชมปราสาทหินในพื้นที่อีสานใต้ ที่ยังมีกลิ่นอายประวัติศาสตร์ของวันวานให้ได้สัมผัส
ดินแดนอีสานใต้อันประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่อารยธรรมขอมโบราณยังคงปรากฏมีร่องรอยอยู่ในปัจจุบัน โดยถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบปราสาทหินและศาสนสถานต่าง ๆ ซึ่งสถานที่เหล่านั้นนอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และสถาปัตยกรรมชั้นดีแล้ว ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญที่ยังมีกลิ่นอายแห่งศรัทธาอบอวลอยู่ จนก่อเกิดเป็นประเพณีและเทศกาลที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. มอบหมายให้สำนักงานพื้นที่พิเศษอารยธรรมอีสานใต้ (อพท.2) ปฏิบัติภารกิจในการประสาน ส่งเสริม และสนับสนุนทุกภาคี เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ ก่อเกิดเส้นทางท่องเที่ยวอารยธรรมขอม เป็นการเที่ยวชมปราสาทหินในพื้นที่อีสานใต้ ไม่ว่าจะเป็น
ปราสาทหินพิมาย จังหวัดนครราชสีมา
โบราณสถานแห่งนี้สร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 16 ตั้งอยู่ภายในอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2479 และได้จัดตั้งเป็นอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย ในวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2532 เป็นปราสาทหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยมีลักษณะพิเศษ คือ ปราสาทประธานสร้างหันหน้าไปทางทิศใต้ ต่างจากปราสาทหินอื่น ๆ ที่มักหันไปทางทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าเพื่อให้หันรับกับเส้นทางตัดมาจากเมืองยโศธรปุระ เมืองหลวงของอาณาจักรขอม โดยเป็นพุทธสถานในลัทธิมหายาน
นอกจากนี้ภายในปราสาทหินพิมายยังมีความน่าสนใจอื่น ๆ เช่น "ปรางค์พรหมทัต" ตั้งอยู่ทางด้านหน้าของปราสาทประธาน สร้างด้วยศิลาแลง ใช้หินทรายขาวประกอบในบางส่วน และจำหลักลวดลายประดับ ด้านในเคยเป็นที่ตั้งของประติมากรรมรูปบุคคลขนาดใหญ่นั่งขัดสมาธิ เชื่อว่าเป็นรูปเหมือนพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ชาวบ้านเรียกว่าท้าวพรหมทัต และประติมากรรมสตรีนั่งคุกเข่า เชื่อกันว่าเป็นรูปพระนางชัยราชเทวี มเหสีของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ชาวบ้านเรียกกันว่า นางอรพิม ตามนิยายพื้นบ้านเรื่องท้าวปาจิตและนางอรพิม ซึ่งปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย และ "สะพานนาคราช" ที่ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าทางเข้า สร้างด้วยหินทรายมีผังเป็นรูปกากบาท ราวสะพานทําเป็นลําตัวนาคที่ปลายราวสะพานทําเป็นรูปนาคราช 7 เศียร ชูคอแผ่พังพาน ซึ่งเป็นลักษณะที่นิยมในศิลปะเขมรแบบนครวัด เป็นต้น
ปราสาทหินพนมรุ้ง จังหวัดบุรีรัมย์
ปราสาทหินทรายสีชมพูที่ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้ง ในพื้นที่ตำบลตาเป๊ก อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดบุรีรัมย์ กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานของชาติ วันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2478 และจัดตั้งโครงการอุทยานประวัติศาสตร์ขึ้น พร้อมเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2531 โดยปราสาทหินพนมรุ้งสร้างขึ้นเพื่อถวายแด่องค์พระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย เขาพนมรุ้งและปราสาทบนยอดเขาจึงเปรียบเสมือนเขาไกรลาส อันเป็นที่ประทับของพระศิวะ และยังเป็นสัญลักษณ์ของศูนย์กลางจักรวาล โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมแบบขอม สร้างด้วยศิลาแลงและหินทราย มีอาคารเรียงรายไปจนถึงปราสาทประธาน
นอกจากนี้ยังมีความมหัศจรรย์ที่ถือเป็นไฮไลต์ของที่นี่ คือ ปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ลอด 15 ช่องประตูปราสาทพนมรุ้ง ซึ่งปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้น 4 ครั้งต่อปีเท่านั้นอีกด้วย
ปราสาทหินเมืองต่ำ จังหวัดบุรีรัมย์
โบราณสถานศิลปะแบบเขมรอันงดงาม ตั้งอยู่ที่ตำบลจรเข้มาก อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ห่างจากปราสาทเขาหินพนมรุ้งเพียง 8 กิโลเมตร สันนิษฐานว่าเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย เนื่องจากได้มีการขุดพบศิวลึงก์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระศิวะ เทพเจ้าสูงสุดในลัทธิไศวนิกาย ที่บริเวณปราสาทประธาน ส่วนพระวิษณุน่าจะได้รับการนับถือในฐานะเทพเจ้าชั้นรอง เพราะภาพสลักส่วนมากที่ปราสาทหลังนี้ สลักเรื่องเกี่ยวกับการอวตารของพระวิษณุ
สำหรับปราสาทเมืองต่ำสร้างขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 16 หรือตรงกับศิลปะแบบบาปวนตอนต้น โดยมีลักษณะเป็นกลุ่มปราสาทอิฐ 5 องค์ ตั้งอยู่บนศิลาแลงอันเดียวกัน รอบล้อมด้วยระเบียงคดและซุ้มประตู, กำแพงแก้วและซุ้มประตู และบาราย (ทะเลเมืองต่ำ) หรืออ่างเก็บน้ำที่ขุดเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคของชุมชนเมืองในสมัยโบราณ เป็นต้น ซึ่งชุมชนโดยรอบปราสาทก็ยังคงใช้ชีวิตกันอย่างกลมกลืนกันเฉกเช่นอดีต เพิ่มเติมด้วยการดูแลรักษาและร่วมอนุรักษ์ให้คงอยู่ได้อย่างดี
ปราสาทศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์
ปราสาทศีขรภูมิ ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านระแงง อำเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 17 เนื่องในศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย (บูชาพระศิวะเป็นใหญ่) ต่อมามีการบูรณะส่วนยอดของปราสาทหลังทิศตะวันตกเฉียงใต้ ในราวพุทธศตวรรษที่ 22 สมัยศิลปะล้านช้าง ดังมีจารึกอักษรธรรมปรากฏอยู่ ณ ปราสาทแห่งนี้ ลักษณะทางสถาปัตยกรรมภายในประกอบด้วยปราสาทก่ออิฐที่ไม่สอปูน จำนวน 5 ห้อง องค์กลางเป็นปรางค์ประธาน ตั้งอยู่บนฐานศิลาแลงเดียวกัน มีคูน้ำล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน และเว้นเป็นทางเข้าอยู่ทางทิศตะวันออก
ไฮไลต์อีกอย่างหนึ่งของที่นี่ คือ แผ่นศิลาทับหลังเหนือกรอบประตูปราสาทหลังประธาน สลักเป็นภาพพระศิวนาฏราชสิบกร ทรงฟ้อนรำอยู่เหนือเกียรติมุข ภายใต้วงโค้งของลายท่อนพวงมาลัยสลักเป็นภาพพระคเณศ พระพรหมสี่พักตร์ พระนารายณ์สี่กร และพระนางอุมา บริเวณเชิงเสาประดับผนังที่กรอบประตูด้านหน้าสลักเป็นรูปนางอัปสรถือดอกบัว และรูปทวารบาลยืนกุมกระบอง จากลักษณะลวดลายสลักปรากฏอยู่บนแผ่นศิลาทับหลังและเสาประดับผนัง
กลุ่มปราสาทตาเมือน จังหวัดสุรินทร์
โบราณสถานที่มีร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ตั้งอยู่ในอำเภอพนมดงรัก ใกล้แนวชายแดนประเทศกัมพูชา เป็นโบราณสถานแบบขอม 3 หลัง ได้แก่
- ปราสาทตาเมือน ตั้งอยู่ที่บ้านหนองคันนา ตำบลตาเมียง สิ่งก่อสร้างที่เชื่อว่าคือที่พักคนเดินทางแห่งหนึ่งใน 17 แห่ง ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราช โปรดฯ ให้สร้างขึ้น มีลักษณะเป็นปรางค์เดียวมีห้องยาวเชื่อมต่อมาทางด้านหน้าผนังด้านหนึ่งปิด ทึบ แต่สลักเป็นหน้าต่างหลอก ส่วนอีกด้านมีหน้าต่างเรียงกันโดยตลอด
- ปราสาทตาเมือนโต๊ด ตั้งอยู่ที่ตำบลตาเมียง เป็นอโรคยศาล สร้างขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 อโรคยศาลแห่งนี้ยังคงสภาพเกือบจะสมบูรณ์ อีกทั้งยังพบศิลาจารึก 1 หลัก จารึกด้วยอักษรขอมภาษาสันสกฤต มีข้อความกล่าวนมัสการพระพุทธเจ้า พระไภษัชยคุรุไวฑูรยประภาตถาคต ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ผู้ประทานความไม่มีโรคแก่ประชาชนผู้นับถือ และกล่าวถึงการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ประจำสถานพยาบาลในแผนกต่าง ๆ ปัจจุบันหลักนี้เก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติท่าวาสุกรี
- ปราสาทตาเมือนธม ตั้งอยู่ถัดจากปราสาทตาเมือนโต๊ดไปทางทิศใต้ประมาณ 200 เมตร เป็นปราสาทขนาดใหญ่ ประกอบด้วยปรางค์ 3 องค์ สร้างด้วยหินทรายหันหน้าไปทางทิศใต้ ที่ปรางค์ประธานมีลวดลายจำหลักงดงาม แม้ว่าจะถูกลักลอบทำลายและทรุดโทรมไปตามกาลเวลาก็ตาม
และนี่คือปราสาทหินถิ่นอีสานใต้ที่ยังมีร่องรอยประวัติศาสตร์สำคัญหลงเหลือเอาไว้ให้ได้เรียนรู้ พร้อมกับชื่นชมโบราณสถานที่มีสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่า อีกทั้งยังถูกพัฒนาและรักษาจากชุมชนในพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ จนเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น และกระจายรายได้สู่ชุมชนจากการเดินทางไปเยือนของนักท่องเที่ยว
ขอบคุณข้อมูลจาก
เว็บไซต์ virtualhistoricalpark.finearts.go.th
เว็บไซต์ nakhonratchasima.go.th
เว็บไซต์ finearts.go.th
เว็บไซต์ buriram.go.th
เว็บไซต์ surin.go.th