องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

เสน่ห์ “ผืนผ้าบุรีรัมย์” สืบสานอัตลักษณ์สะท้อนวิถีชุมชน

1625732280
ขนาดตัวอักษร

          เรื่องราวของผ้าบุรีรัมย์ สะท้อนภูมิปัญญาท้องถิ่นอันน่าภาคภูมิใจ อันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร งานประณีตศิลป์บนผืนผ้าสืบสานวิถีชีวิตชุมชน

          บุรีรัมย์ จังหวัดท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก จากเดิมที่ใคร ๆ อาจรู้จักแค่เมืองปราสาทหิน แหล่งอารยธรรมขอมนับพันปี สู่การผันตัวเองเป็นเมืองปราสาททรงพลังในวงการลูกหนัง ทว่าอีกมุมหนึ่งของบุรีรัมย์ก็เต็มไปด้วยเสน่ห์แห่งภูมิปัญญาจากมรดกตกทอดยาวนานกับการทอผ้า เลี้ยงไหม ปลูกหม่อน และกลายเป็นผืนผ้าทออันทรงคุณค่าคู่เมืองบุรีรัมย์ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพและได้เริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุน อาทิ การส่งผู้เชี่ยวชาญเร่งสร้างองค์ความรู้ด้านการออกแบบ ช่วยเพิ่มศักยภาพให้แก่ชุมชน และเพิ่มมูลค่าให้แก่ผลิตภัณฑ์ขยายตลาดเพิ่มขึ้นในอนาคต หรือ การทำเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ บอกเล่าเรื่องราวกว่าจะเป็นผ้าทอหนึ่งผืน ให้นักท่องเที่ยวได้มาเรียนรู้
 


          การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม และทอผ้าไหมของจังหวัดบุรีรัมย์ ได้รับสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น และมีการส่งเสริมอย่างจริงจังในช่วงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ลักษณะเด่นของผ้าไหมบุรีรัมย์ อยู่ที่สีสันลวดลายอันหลากหลายตามความนิยมของชาวบุรีรัมย์ ประกอบด้วยลายผ้าจาก 4 ชนเผ่า คือ

          1. ชนเผ่าไทยเขมร นิยมผ้าไหมลายหางกระรอก ลายอัลปรม ลายโฮล ลายลูกแก้ว
          2. ชนเผ่าชาวกูย นิยมผ้าไหมกระเนียวลายริ้วเป็นทางยาว ผู้หญิงนิยมใส่ซิ่นที่มีหัวและตีนซิ่น และนิยมผ้าไหมลายลูกแก้วย้อมมะเกลือเป็นสีดํา
          3. ชนเผ่าชาวไทยโคราช นิยมผ้าไหมลายหางกระรอก
          4. ชนเผ่าไทยลาว นิยมผ้าย้อมครามและมัดหมี่

          ขณะเดียวกันผ้าไหมบุรีรัมย์ก็มีการพัฒนาการออกแบบและพัฒนาลวดลายต่าง ๆ จนเป็นที่เลื่องลือ ตลอดจนมีการออกแบบลายผ้าไหมแบบโบราณมาประยุกต์ให้สอดคล้องกับสมัยนิยมและแนวโน้มการพัฒนาลวดลายในอนาคตอีกด้วย เช่น

          - ผ้าไหมหางกระรอกคู่ตีนแดง บ้านสนวนนอก อำเภอห้วยราช

ผ้าประจำจังหวัดบุรีรัมย์ ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างผ้าหางกระรอกคู่และผ้าซิ่น ซึ่ง “ผ้าหางกระรอกคู่” เดิมเรียกว่า “ผ้าอันลูนเซียม” เป็นผ้าสมัยโบราณ กรรมวิธีการทอจะใช้ไหม 2 เส้น 2 สีมารวมกัน และจำเป็นต้องอาศัยความชำนาญของผู้ทอ จนสามารถกำหนดว่าอยากได้เกลียวถี่หรือเกลียวห่างตามต้องการ ส่วน “ผ้าซิ่น” ผ้าทอโบราณคงความวิจิตรงดงาม กล่าวกันว่าเป็นผ้าซิ่นตามแบบของกลุ่มชนซึ่งสืบเชื้อสายจากบรรพบุรุษที่เป็นคนลาว มีเอกลักษณ์โดดเด่นอยู่ที่หัวซิ่น และตีนซิ่นสีแดงสด ทอเป็นลวดลายโบราณ ด้วยความสวยงามและมีเอกลักษณ์ของผ้าซิ่นตีนแดง ทำให้ยังคงได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน สำหรับบ้านสนวนนอก อพท. ได้ลงมาพัฒนากิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ให้นักท่องเที่ยวได้มาเรียนรู้กระบวนการผลิตผ้าทอหนึ่งผืน ตั้งแต่ต้น จนถึงกระบวนการสุดท้าย เพื่อสืบทอดภูมิปัญญานี้ไว้ไม่ให้เลือนหายไปตามกาลเวลา
 


          - ผ้าซิ่นมัดหมี่ตีนแดง อำเภอนาโพธิ์

          ลักษณะพิเศษของผ้าซิ่นมัดหมี่ตีนแดง เรียกว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร นั่นคือ เป็นผ้าที่ทอด้วยไหมทั้งผืน แต่เฉพาะหัวซิ่นและตีนซิ่นทุกผืนจะเป็นสีแดง ตีนซิ่นบางผืน ช่างทออาจใช้เทคนิคการขิดเป็นแถบริ้วขนาดเล็กมาผสมผสานเพื่อความสวยงาม ปัจจุบันมีการพัฒนาและเพิ่มเติมสีสันและลวดลายในส่วนของตัวซิ่นมากขึ้นตามความต้องการของตลาด หากคงไว้ซึ่งการทอลวดลายโบราณ บ้างก็เป็นลวดลายใหม่ ๆ ซึ่งที่ได้รับความนิยม เช่น ลายประตูวัง ลายบันไดสวรรค์ ด้วยความเชื่อว่าหากผู้ใดมีผ้าลายนี้อยู่ ก็จะได้ขึ้นสวรรค์ หรือบ้านใดมีไว้ ก็เชื่อว่าจะมีบุญวาสนาแก่คนในบ้านนั้น

 


          - ผ้าภูอัคนี บ้านเจริญสุข อำเภอเฉลิมพระเกียรติ

          บ้านเจริญสุข อยู่ใกล้เขาพระอังคาร ภูเขาไฟ 1 ใน 6 ลูก ของจังหวัดบุรีรัมย์ที่ดับแล้ว ชาวบ้านที่นี่จึงนำดินภูเขาไฟมาเป็นส่วนผสมในการย้อมผ้า ด้วยวิธีการนำดินภูเขาไฟที่ดับแล้ว เป็นมาส่วนผสมในการย้อมผ้า จนเกิดเป็นผ้าที่มีสีสันและเอกลักษณ์เฉพาะตัว วิธีการ คือ นำดินภูเขาไฟมาผสมกับน้ำ กรองเอาเศษตะกอนออก หลังจากนั้นจึงค่อยนำเส้นฝ้าย มาแช่ประมาณ 4 ชั่วโมง ก่อนจะนำไปย้อมกับน้ำเปลือกประดู่ เพื่อให้สีติดทนนาน

 


          การต่อยอดภูมิปัญญา ด้วยการนำเอาวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น มาเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ทำให้มีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ภายใต้แบรนด์ “ผ้าภูอัคนี” ปัจจุบันมีสินค้าออกมาหลากหลายรูปแบบ ทั้งผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ และเสื้อ นอกจากนั้นทางชุมชนยังพัฒนาเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยววัฒนธรรม ซึ่งผู้มาเยือนนอกจากจะได้ชมการทอผ้าและสัมผัสกับวิถีชุมชนแล้ว ยังได้มาเลือกซื้อเป็นของฝากติดไม้ติดมือกลับบ้านไปอีกด้วย

          แต่ละลวดลายของผ้าไหมบุรีรัมย์ นอกจากสะท้อนภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าแล้ว ตลอดจนกรรมวิธีการทำทุกขั้นตอน ทุกเส้นไหมที่ทอลงบนผืนผ้า ซึ่งต้องอาศัยความพิถีพิถันและความตั้งใจเป็นอย่างยิ่ง ทั้งหมดนี้ก็เพื่อผ้าไหมบุรีรัมย์เป็นสินค้าที่คงความสวยงามและคุณภาพนั่นเอง
 
ขอบคุณข้อมูลจาก
เว็บไซต์ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน)
เว็บไซต์ lrp.ac.th
เว็บไซต์ buriram.mots.go.th