10 เมนูอาหารพื้นเมืองสุโขทัย-กำแพงเพชร ต้นตำรับความอร่อยหลากรสชาติ
พาไปลิ้มลองเมนูอาหารพื้นเมืองทั้งคาวและหวานของคนสุโขทัยและกำแพงเพชร รสดั้งเดิมต้นตำรับ เป็นเอกลักษณ์ที่บ่งชี้ถึงวัฒนธรรมและภูมิปัญญาในแต่ละท้องถิ่น ที่นำวัตถุดิบในชุมชนสร้างสรรค์มาประกอบอาหาร จนเกิดเป็นเมนูเด็ดที่หากินได้ในท้องถิ่นเท่านั้น
สุโขทัย-กำแพงเพชร เมืองที่อยู่คู่กันมายาวนานนับร้อยปี มีเรื่องราวผูกพันทางประวัติศาสตร์ เพราะกำแพงเพชรเคยเป็นเมืองหน้าด่านของสุโขทัยในยุคหนึ่ง และด้วยความที่ทำเลที่ตั้งของทั้งสองเมืองอยู่ใกล้ชิดติดชายรั้ว ชาวบ้านก็เป็นดั่งพี่น้อง เดินทางไปมาหาสู่กันเรื่อยมา ทำให้ทั้งสองเมืองมีวัฒนธรรมประเพณีคล้ายคลึงกัน โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน ที่มีการรังสรรค์อาหารต่าง ๆ จากวัตถุดิบในท้องถิ่น กลายเป็นเมนูอร่อยขึ้นชื่อมากมาย แขกบ้านแขกเมืองได้ลิ้มลองต่างก็ติดใจ ผนวกกับเป็นต้นแบบเส้นทางท่องเที่ยวอาหารพื้นถิ่นขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เราจึงอยากพาไปเปิดสำรับชาวสุโขทัยและกำแพงเพชรกัน กับ 10 เมนูอาหารพื้นเมืองที่ไม่ควรพลาด
1. ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย
ก๋วยเตี๋ยวโบราณที่นักชิมต่างยกนิ้วให้ ด้วยมีรสชาติของน้ำซุปที่อร่อยกลมกล่อม หอมเครื่องต่าง ๆ เส้นเหนียวนุ่ม และยังมีเอกลักษณ์โดดเด่น เพราะเป็นก๋วยเตี๋ยวแบบเดียวของไทยที่ใส่ถั่วฝักยาว โดยจะมีลักษณะเป็นก๋วยเตี๋ยวต้มยำ ถ้าแบบต้นตำรับจะเป็นเส้นเล็ก มีทั้งแบบน้ำและแห้ง รสชาติเปรี้ยว-หวาน-เผ็ด-เค็ม อร่อยลงตัว
2. ข้าวเปิ๊บ (ก๋วยเตี๋ยวพระร่วง)
เมนูอาหารพื้นบ้านที่ดัดแปลงมาจากข้าวแคบตากแห้ง ผสมผสานกับวิธีการคล้ายกับขนมข้าวเกรียบปากหม้อ ได้เป็นก๋วยเตี๋ยวพื้นบ้านแปลกใหม่ไม่เหมือนที่ไหน กรรมวิธีก็น่าสนุกคล้ายคลึงกับข้าวเกรียบปากหม้อ เพียงแค่พอแป้งสุกก็ใส่วุ้นเส้น ผักบุ้ง กะหล่ำปลีหั่นฝอย และถั่วงอกพอประมาณ ปิดฝาไว้อีก 30-40 วินาที ดูให้ผักพอสุก แล้วพับแป้งไปมาเพื่อห่อไส้ไว้ด้านใน จากนั้นตักขึ้นใส่ชาม วางตามด้วยไข่ดาวนึ่ง กระเทียมเจียวหมูกรอบ หมูสับ ผักชี-ต้นหอม ตักน้ำซุปร้อน ๆ ลงใส่เป็นอันเสร็จ
3. โซเล่ไก่
อาหารอร่อยแซ่บของชาวไทครั่ง แห่งเมืองศรีสัชนาลัย เมนูพื้นบ้านที่ทำมาจากวัตถุดิบง่าย ๆ หาได้จากในท้องถิ่น อย่างไก่และก้านกล้วย ดั้งเดิมเมนูนี้มีเพียงเนื้อไก่เท่านั้น มักจะทำเลี้ยงเวลาลงแขกดำนา-เกี่ยวข้าว แต่ด้วยความที่มีคนจำนวนมาก แต่ปริมาณไก่มีน้อย จึงได้นำก้านกล้วยมาสับผสมลงไป กลายเป็นความกรุบกรอบนุ่ม ๆ นัว ๆ ไม่เหมือนใคร
4. แกงหยวก
เมนูพื้นบ้านชาวสุโขทัยที่ต้องมีแทบทุกงานบุญหรืองานเลี้ยงฉลอง มักทำใส่หม้อใหญ่ ๆ เพื่อให้ได้กินกันทั่วถึง รสชาติอร่อย กินง่าย วัตถุดิบก็หาได้จากสวนหลังบ้านและในชุมชน เช่น หยวกกล้วยและเนื้อไก่บ้าน/เนื้อหมู ใส่เครื่องพริกแกง หยวกกล้วยท่อนซีกเล็ก ๆ เติมน้ำตามชอบ ปรุงรสตามใจ รอเดือด ปิดไฟ ตักเสิร์ฟ โรยหน้าด้วยต้นหอม-ผักชีเล็กน้อย หน้าตาสวยงาม รสชาติอร่อย
5. แกงนอกหม้อ
เมนูเก่าแก่แห่งอำเภอสวรรคโลก ชื่อแปลกแต่ความอร่อยเต็มสิบ วัตถุดิบอุดมไปด้วยสมุนไพรและผักที่มีประโยชน์ วิธีการทำก็ไม่เหมือนแกงอื่น ๆ เพราะจะต้มไก่กับกะทิไว้เท่านั้น แล้วค่อยตักมาปรุงนอกหม้อทีละชาม ซึ่งเป็นที่มาของชื่อ "แกงนอกหม้อ" นั่นเอง
6. แกงพันงู
อาหารพื้นบ้านที่อยู่คู่กับชาวกำแพงเพชรมายาวนาน ทุก ๆ ช่วงปลายฤดูร้อน ต้นฤดูฝน จะมีผักท้องถิ่นชนิดหนึ่งแตกยอดเขียวชอุ่ม ลักษณะลำต้นเดี่ยว เส้นผ่าศูนย์กลางไม่ถึง 1 เซนติเมตร ยาวประมาณ 1 เมตร รูปร่างคล้ายงู ชาวบ้านจะเรียกกันว่า "ผักพันงู" มักขึ้นอยู่แถวหัวไร่ปลายนาชายป่าชายเขา สามารถเก็บมาต้มจิ้มน้ำพริกก็ได้ หรือจะแกงส้ม แกงกะทิก็ได้หมด ในท้องตลาดส่วนใหญ่นิยมนำผักพันงูมาแกงกะทิกับเนื้อสัตว์ต่าง ๆ เช่น หมูสับ/หมูย่าง, ปลาย่าง และกบย่าง เป็นต้น การทำก็เหมือนแกงคั่วทั่วไป รสชาติน้ำแกงอร่อย หอม มัน เปรี้ยวนิด ๆ จากใบมะขามอ่อน ช่วยเพิ่มอรรถรสในการกินข้าวได้มากโข
7. ขนมสี่ถ้วย
งานแต่งงาน เป็นประเพณีที่ลูกหลานชาวสุโขทัยให้ความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากจะเป็นการบอกกล่าวญาติพี่น้อง รวมถึงผีบรรพบุรุษ ว่าหนุ่ม-สาวที่รักใคร่ชอบพอกันจะไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน โดยมีหนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้ในงานมงคลแบบนี้ นั่นก็คือ "ขนมสี่ถ้วย" ขนมหวานไทย ๆ ที่ใช้เลี้ยงแขก ประกอบไปด้วย เมล็ดแมงลักน้ำกะทิ (ไข่กบ), ลอดช่องน้ำกะทิ (นกปล่อย), ข้าวตอกน้ำกะทิ (มะลิลอย) และข้าวเหนียวดำน้ำกะทิ (อ้ายตื้อ) โดยถ้าจัดไหว้ผีจะใส่ในถาด 4 ถ้วย แต่ถ้าเลี้ยงแขกจะจัดใส่ในถาด 5 ถ้วย แยกน้ำกะทิออกมา
8. ขนมข้าวตอก
ขนมพื้นบ้านของชาวนครชุม กำแพงเพชร ส่วนผสมในการทำขนมข้าวตอกหาได้ง่ายในท้องถิ่น มี 3 สิ่งที่สำคัญ คือ ข้าวเปลือกข้าวเหนียว น้ำตาลปี๊บ และน้ำกะทิ รสอร่อยหนุบหนับและกลิ่นหอมหวานละมุน
9. เมี่ยงมะพร้าวคั่ว
อาหารว่างของชาวสวรรคโลกที่หากินยากแล้วในปัจจุบัน มีมาตั้งแต่สมัยล้านนา ซึ่งเป็นของกินประจำบ้านเพื่อขบเคี้ยวเล่นและต้อนรับแขกหลังจากกินอาหารเสร็จ เมื่อชาวล้านนาจากอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง อพยพมาอยู่ทางฝั่งสวรรคโลกและทุ่งเสลี่ยม ก็ได้นำวัฒนธรรมการกินเมี่ยงนี้มาด้วย แต่ปัจจุบันมีการประยุกต์ให้กลายเป็นเมี่ยงหวาน เพื่อให้กินง่ายมากขึ้น การทำเมี่ยงมะพร้าวคั่วจะใช้ส่วนผสมหลัก 4 อย่าง คือ ใบชะพลู มะพร้าวคั่ว ถั่วลิสง และน้ำตาลปี๊บ เมื่อส่วนผสมพร้อมก็นำมาห่อลงบนใบชะพลู เพิ่มรสชาติด้วยหอมแดง ขิง มะนาวชิ้นเล็ก และพริก ราดด้วยน้ำตาลปี๊บเคี่ยว จับเข้าปากจะสัมผัสได้ถึงความหอม หวาน มัน เผ็ด เปรี้ยว ครบทุกรสชาติ
10. ข้าวเหนียวแดง
ข้าวเหนียว เป็นผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญอย่างหนึ่งของชาวสวรรคโลก เมื่อจำหน่ายแล้ว ก็นำเอาข้าวเหนียวที่เหลือมาทำเป็นอาหารและขนมต่าง ๆ หนึ่งในเมนูขนมหวานขึ้นชื่อก็คือ ข้าวเหนียวแดง มักจะทำเก็บไว้กินเพลิน ๆ และพกพาไปกินตามท้องไร่ท้องนาให้อิ่มท้องเพื่อเพิ่มพลังงานระหว่างวัน
นอกจาก 10 เมนูข้างต้น ยังมีของดีของขึ้นชื่ออีกหนึ่งเมนูจากสุโขทัย อย่าง "ยาดอง" เครื่องดื่มสมุนไพรมีดีกรีแบบไทย ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่ทำกันตั้งแต่สมัยโบราณ โดยใช้พืชสมุนไพรไปผสมกับน้ำหมักจากข้าว บางตัวก็มีสรรพคุณทางยา ช่วยบำรุงร่างกายและแก้ปวดเมื่อยได้ด้วย ซึ่งปัจจุบันหลงเหลือผู้มีความรู้ด้านนี้น้อยแล้ว แต่ที่สุโขทัยก็ยังมีร้านดังอย่าง Dream Cafe ให้ได้ไปลิ้มลอง
จากเมนูอาหารคาวและขนมหวานข้างต้น จะเห็นได้ว่าชาวสุโขทัยและกำแพงเพชร มีการทำอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ เลือกใช้วัตถุดิบที่หาได้ง่ายจากในชุมชนมาปรุงอาหาร กลายเป็นเมนูอร่อยประจำท้องถิ่นที่สามารถต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองได้อย่างดี และยังสร้างเสริมรายได้กลับคืนสู่ครัวเรือนและชุมชนได้อย่างยั่งยืน นี่แหละคือการเติมรสชาติความสุขจากสิ่งใกล้ตัวที่แท้จริง
ขอบคุณข้อมูลจาก
เว็บไซต์ sukhothailocal.go.th
เว็บไซต์ sukhothailocal.go.th
เว็บไซต์ arit.kpru.ac.th
เว็บไซต์ rakbankerd.com
เว็บไซต์ museumthailand.com
เว็บไซต์ uniserv.buu.ac.th
เว็บไซต์ arit.kpru.ac.th
เฟซบุ๊ก Dream Cafe at Sukhothai, Thailand
เฟซบุ๊ก ตลาดย้อนยุคนครชุม