องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

ตามรอย “พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ” จ.สุพรรณบุรี พระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาสุดงดงาม

1625727000
ขนาดตัวอักษร

          พาชมความงดงามของ พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ หรือ หลวงพ่ออู่ทอง พระพุทธรูปแกะสลักหน้าผา ณ วัดเขาทำเทียม อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี และย้อนรอยไปพร้อมกันกับหลักฐานโบราณคดีต่าง ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงจุดเริ่มต้นของการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิแห่งนี้

          "อู่ทอง" นับเป็นเมืองโบราณที่มีความเป็นมายาวนานนับพันปี ทั้งยังเป็นเมืองที่มีความสำคัญดังจะเห็นได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ ที่ปรากฏ ว่าที่นี่เคยเป็นทั้งเมืองหลวงของอาณาจักรทวารวดี และเป็นศูนย์กลางของดินแดนสุวรรณภูมิ จุดก่อกำเนิดวัฒนธรรม ประเพณี และศิลปะมากมายอย่างในปัจจุบัน โดยวันนี้จะพาย้อนรอยการเผยแพร่พุทธศาสนา ณ วัดเขาทำเทียม ที่มีการสันนิษฐานว่าเป็นวัดแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นที่ตั้งของ "พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ" พระพุทธรูปแกะสลักหน้าผาขนาดใหญ่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของชาว จ.สุพรรณบุรี ที่มีผู้คนหลั่งไหลเข้ามาเคารพสักการะกันอย่างไม่ขาดสาย

 


พระพุทธรูปแกะสลักภูผาใหญ่ที่สุดในโลก

          พระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ (หลวงพ่ออู่ทอง) ปางโปรดพุทธมารดา เป็นพระพุทธรูปในอิริยาบถประทับนั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) บางแบบวางบนพระชานุ (เข่า) พระหัตถ์ขวายกขึ้นเสมอพระอุระ (อก) จีบนิ้วพระหัตถ์ บางแบบงอนิ้วพระหัตถ์ โดยเป็นพระพุทธรูปแกะสลักด้วยหินธรรมชาติ ขนาดความสูง 108 เมตร ฐานกว้าง 88 เมตร หน้าตักกว้าง 65 เมตร สร้างขึ้นบนผาสูงใหญ่เสียดฟ้าที่มีชื่อว่า "ผามังกรบิน" ซึ่งเกิดจากการดำริของ พระเทพสุวรรณโมลี (สอิ้ง สิรินนฺโท ป.ธ.๘) ที่ปรึกษาเจ้าคณะ จ.สุพรรณบุรี และเจ้าอาวาสวัดป่าเลไลยก์วรวิหาร หลังมีหลักฐานจากกรมศิลปากรระบุว่า ในอดีตพื้นที่แห่งนี้เคยเป็นจุดเริ่มต้นของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ

 


          และเนื่องจากเดิมที่แห่งนี้เคยเป็นเขตสัมปทานระเบิดภูเขาทำโรงโม่หิน ก่อนจะหมดสัญญาและทิ้งให้รกร้าง ทางองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. จึงเข้ามาปรับทัศนียภาพด้านหน้าองค์พระให้สวยงามน่ามอง เมื่อเดินทางเข้ามาภายในจะเห็นทั้งภาพน้ำตกธรรมชาติ สายน้ำไหลเย็น และความเขียวขจีของภูเขาที่มีทั้งต้นไม้น้อยใหญ่อันอุดมสมบูรณ์ พร้อมแอ่งน้ำขนาดใหญ่ 

จุดเริ่มต้นการเผยแพร่ศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ

          นอกจากความยิ่งใหญ่และงดงามขององค์พระพุทธรูปแล้ว ณ พื้นที่แห่งนี้ยังมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน โดยมีการสันนิษฐานกันว่า วัดเขาทำเทียม ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิ เป็นวัดแห่งแรกในประเทศไทย หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ 300 ปี ในขณะนั้นพระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระ ได้ทำการสังคายนา หรือการรวบรวมพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ครั้งที่ 3 โดยพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดีย เป็นพระอุปถัม์ ส่งพระโสณะ และพระอุตตรเถระ เดินทางมาเผยแพร่พุทธศาสนาในดินแดนสุวรรณภูมิ พร้อมจารึกภาษาสันสกฤตโบราณบนแผ่นศิลาไว้ว่า ปุษยคิริ หรือ ปุษยคีรี หมายถึง ภูเขา ดอกไม้ เนื่องจากบนภูเขามีดอกไม้ที่สวยงาม ซึ่งประกอบด้วย ดอกสุพรรณิกา (สมอฝ้าย) ดอกงิ้วป่าสามสี เป็นที่น่าอัศจรรย์ ที่ชื่อ ปุษยคิริ ซึ่งพ้องกับชื่อภูเขาปุษยคีรีสังฆาราม ในเมืองสาญจี รัฐโอริสสา นั่นเอง

 


          สำหรับชื่อวัดเขาทำเทียมนั้น หมายถึง วัดที่สร้างคู่กับวัดเขาพระ เพราะคำว่าเทียม หมายถึงคู่กัน โดยในปี พ.ศ. 2460 ได้รับการอนุญาตให้สร้างพร้อมวัดเขาพระ และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา (เขตที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่สงฆ์เพื่อใช้เป็นที่สร้างพระอุโบสถ) ในปี พ.ศ. 2571

อุโมงค์หิน สถานที่ศักดิ์สิทธิ์

          นอกจากองค์พระพุทธรูปที่ตั้งตระหง่านสะดุดตาแล้วนั้น เมื่อเดินมาที่ด้านหลังองค์พุทธรูป ก็จะพบกับอุโมงค์ขนาดใหญ่ ความกว้าง 20 เมตร ความลึก 50 เมตร จังหวะที่ย่างเท้าก้าวเข้ามาก็จะได้สัมผัสกับความเย็นสบาย ของลมที่พัดผ่านให้ความรู้สึกถึงความร่มเย็นเป็นสุขของสถานที่แห่งนี้ได้จริง ๆ

 


          นอกจากนี้ด้านในยังมีพระแม่ธรณีบีบมวยผมประดิษฐานอยู่ รวมถึงพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ประดิษฐานที่เปิดให้ผู้คนเข้ามาสักการบูชาขอพรเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต และใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจในวันสำคัญต่าง ๆ ทางพุทธศาสนา

 


          พุทธมณฑลประจำจังหวัดสุพรรณบุรีแห่งนี้ นอกจากจะเป็นประติมากรรมอันงดงามและยิ่งใหญ่แล้ว ที่นี่ยังเป็นทั้งแหล่งเรียนรู้ของทั้งเยาวชน ประชาชนทั่วไป และพุทธศาสนิกชนที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนา เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ จากการสนับสนุนของหน่วยงานจากภาครัฐ โดยเฉพาะ อพท. ที่เข้ามาช่วยพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสถานที่ให้เป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชนโดยรอบในระยะยาว สมกับคำนิยามของพระพุทธปุษยคีรีศรีสุวรรณภูมิที่ว่า "หนึ่งเดียวในไทย ยิ่งใหญ่ในโลก มรดกคู่ฟ้าดิน"

ขอบคุณข้อมูลจาก
เว็บไซต์ thailandtourismdirectory.go.th
เว็บไซต์ cbtthailand.dasta.or.th
เว็บไซต์ suphanburi.go.th
เว็บไซต์ suphan.biz
เว็บไซต์ suphan.biz