ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ
“การท่องเที่ยวยั่งยืน” ส่งมอบความสุขจากรุ่นสู่รุ่น
อพท.เดินหน้าผลักดันนโยบายและแผนแม่บทประจำพื้นที่พิเศษสู่ความสำเร็จ เพื่อให้การท่องเที่ยวเชิงคุณค่าที่เน้นคุณภาพ สร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นไทยให้เข็มแข็ง เป็นพลังหนุนประเทศไทยให้ยั่งยืน
ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เผยมุมมองต่อ “การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” นั่นคือ การท่องเที่ยวที่สร้างโอกาสในชีวิตให้กับผู้คนในแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงผู้คนในประเทศ ตลอดจนต้องมีขีดความสามารถพอที่จะส่งต่อโอกาสดังกล่าวให้คนรุ่นต่อไป เพราะถ้าการท่องเที่ยว สร้างโอกาสให้เพียงคนรุ่นปัจจุบัน แต่ไม่สามารถส่งต่อโอกาสนั้นให้ลูกหลานของเราได้ ก็ถือว่าไม่ใช่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน
| หน้าที่รับผิดชอบและนโยบายการบริหารงาน
ด้วยตำแหน่งรองผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) มีผลทำให้รับผิดชอบทั้ง 3 หน่วยงาน คือ สำนักบริหารยุทธศาสตร์ สำนักพัฒนาขีดความสามารถการท่องเที่ยว และสำนักท่องเที่ยวโดยชุมชน จึงจำเป็นต้องวางยุทธศาสตร์ของการประกาศพื้นที่พิเศษให้มีความสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ชุมชนได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งทาง อพท. มีบทบาทสำคัญในการเข้าไปสร้างเสริมศักยภาพของชุมชน ดังนั้นหน่วยงานดังกล่าวจึงจำเป็นที่จะต้องดำเนินภารกิจอย่างสอดคล้องกัน
| ความเชื่อมโยงระหว่างการประกาศพื้นที่พิเศษของทาง อพท. กับเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก
การใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) มาเป็นกรอบใหญ่ในการทำงาน ซึ่งการจะประกาศพื้นที่พิเศษได้นั้นจำเป็นต้องลงพื้นที่แล้ววัดผลออกมาเป็นระดับสี 4 สี คือ สีแดง คือหนักที่สุด ตามด้วยสีชมพู สีเหลือง และสีเขียว คือดีที่สุด ทาง อพท. มีความตั้งใจอยากจะให้ทุกพื้นที่ได้ในระดับสีเขียว เพื่อสร้างมาตรฐานการท่องเที่ยวตามเกณฑ์ของสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก
โดยแนวทางในการดำเนินงานจะเน้นถ่ายทอดองค์ความรู้ เกี่ยวกับการยกระดับคุณภาพ และมาตรฐานแห่งท่องเที่ยวด้วยเกณฑ์ GSTC ให้ทุกภาคส่วนชุมชนเข้าใจร่วมกัน ซึ่งเกณฑ์ GSTC เป็นแนวทางการดำเนินงานที่ อพท. จะนำไปปรับใช้กับทุกพื้นที่พิเศษ เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานในการจัดการแหล่งท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากลต่อไป
ขณะเดียวกันจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องหาจุดเด่นของพื้นที่พิเศษ โดยยึดหลักใน 3 คุณค่า ประกอบด้วย คุณค่าทางประวัติศาสตร์ คุณค่าทางวัฒนธรรม และคุณค่าทางธรรมชาติ เป็นหลักเกณฑ์คะแนนของการวัดว่าพื้นที่ไหนมีศักยภาพพอที่จะประกาศเป็นพื้นที่พิเศษต่อไป ดังนั้น อพท. จึงได้วางเป้าหมายที่จะประกาศพื้นที่พิเศษในปี 2564 อย่างน้อย 2-3 แห่ง คือ พื้นที่พิเศษคุ้งบางกะเจ้า พื้นที่พิเศษเชียงราย และพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ตามลำดับ
| KPI กับการยกระดับองค์กรให้เป็น High Performance Organization
ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ ยังได้เน้นย้ำเรื่องของการใช้ตัวชี้วัดหรือ KPI มีการกำกับดูแลทุกไตรมาส โดยคาดว่าจะสามารถยกระดับองค์กรขึ้นมาเป็น High Performance Organization ภายใน 1-2 ปี ข้างหน้านี้ ซึ่งการที่องค์กรจะไปสู่จุดนั้นได้จำเป็นต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และยินดีกับการเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ ตลอดจนมีความยืดหยุ่นในการทำงาน ทั้งนี้ อพท. มีข้อได้เปรียบจากการที่มีต้นทุนที่ดีอยู่แล้ว เพราะไม่ได้เป็นหน่วยงานราชการแบบกระทรวง ทบวง กรม เหล่านี้จึงเป็นปัจจัยเอื้อให้ อพท. สามารถไปถึงเป้าหมายดังกล่าวตามแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้
ถึงแม้ว่าโลก ณ ขณะนี้ต้องเผชิญปัญหาโควิด 19 แน่นอนว่าย่อมกระทบกับภาคการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก แต่ถึงอย่างนั้น ดร.ชูวิทย์ มิตรชอบ กลับมองว่านี่เป็นโอกาสดีที่เราจะได้แสวงหาข้อมูลของแหล่งท่องเที่ยวหรือพื้นที่จุดหมายปลายทาง ที่มีระบบการบริหารจัดการที่ดี มีมาตรฐาน เป็นที่ยอมรับของระดับสากล ทั้งเรื่องความปลอดภัย เรื่องสุขอนามัย และเรื่องของการจัดการสิ่งแวดล้อม ภายใต้เกณฑ์ GSTC ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยในการตัดสินใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวได้มากขึ้นและง่ายขึ้น
| ประโยชน์ที่จะได้รับจากการท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน
การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืนที่ อพท. ดำเนินการอยู่นั้น จะสร้างประโยชน์ให้กับภาคชุมชนแทบทุกมิติ ซึ่งไม่ใช่แค่ในรูปของตัวเงินเท่านั้น แต่นำมาซึ่งความภาคภูมิใจในการลุกขึ้นมาเล่าเรื่องราว อัตลักษณ์ และวัฒนธรรม และสิ่งที่สำคัญที่สุด เราจะต้องไม่ทำให้พวกเขาเหล่านั้นรู้สึกว่าการท่องเที่ยวของชุมชนเป็นรายได้หลัก หากแต่ทำให้เขารู้สึกว่าคืออาชีพเสริม ด้วยเพราะอุตสาหกรรมภาคการท่องเที่ยวมีความเปราะบางซ่อนอยู่ ทั้งในเรื่องโรคติดต่อ เรื่องของภัยธรรมชาติ การก่อการร้าย และเศรษฐกิจตกต่ำ หากว่าเขาจำต้องทิ้งอาชีพหลักที่เขามีมาเพื่อสิ่งนี้ นั่นอาจไม่ใช่วัตถุประสงค์หลักที่ทาง อพท. ต้องการ กลายเป็นความหายนะและไม่ยั่งยืนเข้ามาแทนที่ โดยมีเกณฑ์ CBT Thailand เข้ามาจัด ทั้งหมดเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ชุมชนไม่ออกนอกลู่นอกทาง ถ้าทำตามเกณฑ์แล้วเราเชื่อมั่นว่าจะเป็นประโยชน์และเกิดความยั่งยืนให้กับชุมชนอย่างแท้จริง