ดร.ชุมพล มุสิกานนท์
อนุรักษ์ ต่อยอด และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ : หัวใจหลักสำคัญของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
อพท. มุ่งเน้นการดำเนินงานพัฒนาท่องเที่ยวแบบยั่งยืน หวังลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้บนพื้นฐานหัวใจหลักสำคัญของการอนุรักษ์ ต่อยอด และแลกเปลี่ยนความรู้ ระหว่างองค์กรและชุมชน
ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ รองผู้อำนวยการ (2) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ผู้เผยมุมมองและหัวใจหลักของการทำงาาน โดยยึดหลัก “Do the Things Right กับ Do the Right Things ต้องไปด้วยกัน” ทั้งนี้ ต้องอาศัยทักษะในการเจรจาสื่อสาร เพื่อสร้างมนุษยสัมพันธ์และเสริมสร้างความเข้าใจ เพื่อให้เกิดความร่วมมือของทุกภาคส่วน
| หน้าที่รับผิดชอบและนโยบายการบริหารงาน
มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่พิเศษเป็นหลัก ประกอบด้วย สำนักงานพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร (อพท.4), สำนักงานพื้นที่พิเศษเลย (อพท.5), สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน (อพท.6), สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง (อพท.7) และเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน และเขตพัฒนาการท่องเที่ยวหมู่เกาะทะเลใต้ (อพท.9) และอีก 1 สำนักคือ สำนักจัดการองค์ความรู้
| การรับมือและสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อรองรับวิกฤตโควิด 19 ในพื้นที่พิเศษ
แม้ว่าที่ผ่านมาภาคการท่องเที่ยวของไทยจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด 19 ในส่วนนี้เองทาง อพท. ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้เร่งพัฒนาชุมชนในพื้นที่ให้ได้มาตรฐาน SHA (Amazing Thailand Safety & Health Administration) เพื่อสร้างความมั่นใจด้านสุขอนามัยยุค New Normal ให้กับนักท่องเที่ยว รวมถึงจัดหาวัคซีนให้กับชุมชนที่เป็นพื้นที่พิเศษของ อพท. อีกด้วย
| เป้าหมายของยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษ และแนวทางสำหรับการบูรณาการเพื่อจัดการการท่องเที่ยว
ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการยกระดับแหล่งท่องเที่ยวและชุมชนในพื้นที่พิเศษ อพท. กำลังทำเรื่อง Online Marketing โดยมีแฟลตฟอร์มเฉพาะขึ้นมา เสมือนเป็นตัวกลางในการขาย ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ชุมชน พร้อมด้วยรายละเอียดต่าง ๆ ซึ่งผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดต่อกันได้เองโดยตรง นับเป็นอีกหนึ่งช่องทางเพิ่มรายได้ของชุมชน
ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ ยังเผยแนวทางในการบูรณาการ และการมีส่วนร่วมของภาคเพื่อการจัดการการท่องเที่ยว ซึ่งเดิมที อพท. มีหลักการทำงานแบบ Co-creation คือร่วมคิด ร่วมวางแผนและรับผิดชอบ และร่วมรับผลประโยชน์ แต่ล่าสุดได้เพิ่ม Co-Own หรือความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของเข้ามาด้วย เป็นต้นว่าชุมชนทอผ้านั้น ๆ ยังขาดแคลนอุปกรณ์เครื่องปั่นด้าย อพท. จะเข้าไปจัดการ และยกอุปกรณ์ดังกล่าวให้กับชุมชนนั้น ๆ เป็นเจ้าของ เพื่อเป็นเครื่องทำมาหากินต่อไป
การดำเนินงานทั้งหมดนี้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาพื้นที่พิเศษอย่างยั่งยืนตามมาตรฐาน Global Sustainable Tourism Criteria (GSTC) และหลังจากถูกจัดอันดับให้อยู่ใน Top 100 หรือที่สูงกว่านั้นไปเป็น Green Destinations ก็เสมือนเป็นใบรับรองว่าคุณได้รับการยอมรับในเวทีระดับโลก และกลุ่มเป้าหมายที่เข้ามาจะกลายเป็นนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก และสิ่งต่อไปที่เราจะต้องเดินหน้าทำนั่นคือ เอาการท่องเที่ยวไปสร้างรายได้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ รวยกระจุกจนกระจาย เป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า CBTT (Community Based to Tourism) ถึงแม้ชุมชนจะไม่ได้อยู่ในห่วงโซ่ของการท่องเที่ยวโดยตรง แต่ก็สามารถได้ประโยชน์เช่นกัน
“อนุรักษ์ ต่อยอด ทำการตลาด ขาย และแลกเปลี่ยนเรียนรู้” จึงเป็นคำนิยามการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนของ ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ ที่มีการนำต้นทุนวัฒนธรรมท้องถิ่น มาต่อยอดและทำการตลาด สุดท้ายนำไปสู่การหมุนเวียนแลกเปลี่ยนความรู้ สร้างสายธารแห่งความยั่งยืน ยังประโยชน์ให้กับชุมชนและชาวบ้าน ผ่านระบบบริหารจัดการที่ดี นี่แหละคือหัวใจหลักที่การท่องเที่ยวจะยั่งยืนสมชื่อได้