องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

สำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 และหน่วยงานภาคีเครือข่าย จัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจังหวัดน่าน “Nan Sustainable Tourism Forum”

1694512380
ขนาดตัวอักษร

วันที่ 11 กันยายน 2566 ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเทวราช อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธานในพิธีเปิด กิจกรรม “Nan Sustainable Tourism Forum” เวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนจังหวัดน่าน พร้อมด้วยนางศุภรดา กานดิศยากุล ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 เทศบาลเมืองน่าน หน่วยงานราชการ เครือข่ายภาคเอกชน เครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดน่าน และภาคีเครือข่ายชุมชนท่องเที่ยวในเขตอารยธรรมธรรมล้านนา เข้าร่วมกิจกรรม

นายวิบูรณ์ แววบัณฑิต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวว่า “น่าน” มีวิสัยทัศน์ประจำจังหวัด คือ “เมืองแห่งความสุข และสร้างสรรค์” จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืนเพื่อให้เป็นเมืองที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน

การขับเคลื่อนการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่านตามแนวทางเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC) การยกระดับการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่านตามแนวทางเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย และการขับเคลื่อนจังหวัดน่านเพื่อเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (The Creative Cities Network) จึงเป็นแนวทางที่ส่งเสริมให้จังหวัดน่านเกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจังหวัดน่าน โดยเทศบาลเมืองน่านได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ในสุดยอด 100 แหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก ประจำปี 2021 จากหน่วยงาน Green Destination Standard ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นปีที่สองติดต่อกัน กับรางวัลแห่งความภาคภูมิใจ 2022 Top 100 Destination ภายใต้ Nan Old City “น่าน เมืองเก่าที่มีชีวิต”

อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 ถึงแม้ว่าจังหวัดน่านจะไม่ได้รับการพิจารณาให้เป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์จากองค์การยูเนสโก แต่จังหวัดน่านก็พร้อมที่จะนำแนวทางการพัฒนาของยูเนสโกในการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ เป็นแนวทางในการพัฒนาเมืองน่านต่อไป โดยให้ความสำคัญกับปราชญ์ ศิลปิน ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้รักษามรดกทางภูมิปัญญาของเมือง เพื่อที่จะส่งต่อองค์ความรู้ทางภูมิปัญญาถ่ายถอดไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน การสนับสนุนให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) เพื่อเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้เชิงสร้างสรรค์ พื้นที่นำเสนอผลงานด้านงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านจังหวัดน่าน ส่งเสริมให้ศิลปิน ผู้ประกอบการงานหัตถกรรมในพื้นที่จังหวัดน่านให้มีพื้นที่ในการจัดแสดงผลงาน และนำเสนอขายสินค้าหัตถกรรมท้องถิ่น เกิดการพัฒนาทักษะบุคลากรเชิงสร้างสรรค์ที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเมืองน่านและหัตถกรรมพื้นบ้าน ซึ่งจะเป็นรากฐานในการพัฒนาให้เมืองน่านก้าวสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกต่อไป

นางศุภรดา กานดิศยากุล ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า จากผลสำเร็จในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในเขตพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน โดยความร่วมมืออย่างดียิ่งของภาคีพัฒนาทุกภาคส่วน โดยเฉพาะทีมท่องเที่ยวน่าน ภายใต้การกำกับดูแลของท่านผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ประกอบกับชุมชนในเขตพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ตระหนักถึงความสำคัญในการมีส่วนร่วมในการพัฒนา และจิตสำนึกในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพในรูปแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร และการจัดตั้งชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ส่งผลให้แหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมเมืองน่าน ที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมืองเก่าน่าน ได้รับรางวัลด้านการท่องเที่ยว ด้านการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม ด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนรางวัลด้านการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ เกิดการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน มีการจัดการด้านความปลอดภัยในแหล่งท่องเที่ยวที่มีมาตรฐาน มีการบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์การจัดการท่องเที่ยวโลกอย่างยั่งยืน (GSTC) สามารถคงคุณภาพการให้บริการนักท่องเที่ยวได้มีมาตรฐานสม่ำเสมอ ภายใต้แนวคิด “น่าน เมืองเก่าที่มีชีวิต” โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 อพท. ได้ดำเนินกิจกรรม โครงการต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก มาตรฐาน Sustainable Destinations Top100 มาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล และการขับเคลื่อนการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของ UNESCO

นอกจากนี้ภายในงานมีการออกบูธสินค้าและ workshop ชุมชน และมีการเสวนาร่วมแลกเปลี่ยนทิศทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในจังหวัดน่าน 4 หัวข้อ ดังนี้

1. หัวข้อ “แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (GSTC)” โดย เทศบาลเมืองน่าน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชมรมที่พักจังหวัดน่าน วัดพระธาตุช้างค้ำ วรวิหาร

2. หัวข้อ “การขับเคลื่อนเมืองอย่างยั่งยืนผ่านการใช้มรดกทางวัฒนธรรม” โดยวัฒนธรรมจังหวัดน่าน คณะทำงานส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นต่อการพัฒนาพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน กองทุนพัฒนาศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน (DNYC) สำนักงานพื้นที่พิเศษ 6 (อพท.6)

3. หัวข้อ “แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยการท่องเที่ยวโดยชุมชน (CBT : Community Based Tourism)” โดยสมาคมท่องเที่ยวโดยชุมชนแห่งประเทศไทย เครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดน่าน และเครือข่ายชุมชนท่องเที่ยวในเขตอารยธรรมล้านนา

4. หัวข้อ “ทิศทางการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในจังหวัดน่าน” โดย ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดน่าน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานน่าน สถานีตำรวจท่องเที่ยวน่าน สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดน่าน สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวน่าน