องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

มนตร์เสน่ห์วิถีมอญทรงคนอง ประตูสู่คุ้งบางกะเจ้า

1625666760
ขนาดตัวอักษร

          เส้นทางท่องเที่ยวตำบลทรงคนอง สัมผัสวิถีชีวิตชาวมอญพระประแดง ที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ ตลอดจนศิลปวัฒนธรรมภายในชุมชน

          คุ้งบางกะเจ้า จังหวัดสมุทรปราการ เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ส่วนใหญ่เป็นคนไทยพื้นถิ่น ยกเว้นก็แต่พื้นที่ตำบลทรงคนอง ที่มีคนเชื้อสายรามัญ (มอญ) ที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 แต่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียมของตนเองไว้เป็นอย่างดี จนเกิดเป็นกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ซึ่งได้รับการพัฒนาโดยองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ให้เป็น 1 ใน 6 เส้นทาง 6 คอนเซ็ปต์ ได้แก่ เส้นทางวิถีมอญทรงคนอง, เส้นทางวิถีคลองแพบางกอบัว, เส้นทางวิถีตลาดน้ำบางน้ำผึ้ง, เส้นทางวิถีจากบางกระสอบ, Inside บางกะเจ้า และเส้นทางวิถีเกษตรบางยอ เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสอีกหนึ่งมุมน่าสนใจแห่งคุ้งบางกะเจ้า

         วัดโปรดเกศเชษฐาราม วัดเก่าแก่คู่พระประแดง

         ครั้นเมื่อย่างกรายเข้ามาภายในวัดโปรดเกศเชษฐาราม พระอารามหลวง สิ่งที่ชวนให้สะดุดตานอกเหนือจากวิถีปฏิบัติของผู้คน ที่บ้างทำบุญ บ้างไหว้พระ คือการโอภาปราศรัยในฐานะคนรู้จักมักคุ้น ด้วยวัดแห่งนี้เป็นวัดสำคัญเก่าแก่คู่ตำบลทรงคนอง เราลัดเลาะเดินชมความงดงามของอุโบสถ พระวิหาร และส่วนต่าง ๆ ของวัด ก็พอทำให้อนุมานถึงความเก่าแก่ทางประวัติศาสตร์ และก็เป็นจริงดังเช่นการสันนิษฐาน เพราะในปี พ.ศ. 2565 ทางวัดจะมีอายุครบ 200 ปี โดดเด่นด้วยสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานทั้งไทยและจีน ตัวพระอุโบสถมุงหลังคาด้วยกระเบื้องมอญเก่า ไม่มีช่อฟ้าใบระกา หน้าบันมีศิลปะปูนปั้นลายเครือเถาประดับลายครามอันเป็นเอกลักษณ์ 

         เมื่อเข้ามาในตัวโบสถ์ ความสวยงามขององค์พระประธานชวนให้ต้องยล โดยในหลวง รัชกาลที่ 9 พระราชทานนามว่า "พระพุทธชินนาถศาสดา" ลักษณะปางมารวิชัย ประดิษฐานบนฐานชุกชี ภายในบุษบกลวดลายงดงาม สังเกตอีกนิดจะเห็นว่าภายในโบสถ์ไม่มีภาพวาดจิตรกรรมฝาผนัง หากแต่ใช้วิธีเจาะช่องกำแพงและวาดภาพพุทธสาวก ภิกษุ ภิกษุณี ไว้ในช่องเหล่านั้น เหนือบานประตู-หน้าต่างยังประดับด้วยภาพเขียนเก่าใส่กรอบ บางรูปให้ความรู้สึกเป็น 3 มิติ แสดงทัศนียภาพอาคารบ้านเรือนแบบชาวตะวันตก บางภาพก็เป็นภาพเก่าหาดูยาก ขณะเดียวกันเสาแต่ละต้นยังติดภาพพระบรมฉายาทิสลักษณ์ของพระมหากษัตริย์แต่ละพระองค์

         ขยับมาที่พระวิหาร ภายในประดิษฐานพระพุทธไสยาสน์ พระพุทธรูปปูนปั้นลงรักปิดทอง ความยาวตลอดจากพระรัศมีถึงพระบาทประมาณ 13 เมตร ไม่ปรากฏนามของผู้สร้าง หากแต่เป็นที่กล่าวกันว่าพระพุทธไสยาสน์องค์นี้เป็นต้นแบบของการหล่อพระพุทธไสยาสน์ที่วัดโพธิ์อีกด้วย เสียดาย...ที่เรามีเวลาไม่มากพอที่จะเดินเก็บเกี่ยวรายละเอียดและเรื่องราว หากแต่นั่นก็เพียงพอที่จะบอกให้เรารู้ว่า วัดโปรดเกศเชษฐาราม เป็นดั่งศูนย์รวมศรัทธาในพุทธศาสนาของชุมชนอย่างแท้จริง

 

 


         คลองลัดโพธิ์ อนุสาวรีย์แห่งความพอเพียง

         หากมาบางกะเจ้าแล้วไม่แวะ "สวนสุขภาพลัดโพธิ์" ก็ดูเหมือนว่ายังมาไม่ถึง ณ สถานที่แห่งนี้ เป็นปกติทุกวันที่จะมีผู้คนทั้งในพื้นที่ชุมชนและใกล้เคียงต่างเข้ามาใช้บริการ ขยับท่าทางออกกำลังกาย บ้างวิ่ง บ้างเดิน หรือบ้างก็อาศัยเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ หรือถ่ายรูป และชมทัศนียภาพของสะพานภูมิพล 1 และสะพานภูมิพล 2 ทอดตัวคดเคี้ยวเป็นแนวยาว 

         เมื่อมาถึงสิ่งแรกที่เห็นคือ พระบรมรูปในพระราชอิริยาบถ “ทรงงาน” ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ประทับยืนทรงงาน นับเป็นภาพที่ประชาชนทั่วไปมักคุ้นตา ใกล้ ๆ กันมีแท่นศิลา 9 แผ่น อันประกอบด้วยข้อความคำสอนต่าง ๆ ทั้ง 9 วาระโอกาสของในหลวง รัชกาลที่ 9 และอีกหนึ่งสิ่งที่ไม่ควรพลาดชม เห็นจะเป็นโครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ  ซึ่งเป็น 1 ในพระราชกรณียกิจสำคัญจาก 4,685 โครงการในพระราชดำริ เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยพระองค์เสด็จพระราชดำเนินทางชลมารคทรงเปิดประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ และเปิดสะพานภูมิพล 1 สะพานภูมิพล 2 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

          พิพิธภัณฑ์บ้านมอญ วัดคันลัด เรียนรู้เรื่องราวของชาวมอญพระประแดง

         มาถึงถิ่นมอญพระประแดงทั้งที การร่วมศึกษาประวัติความเป็นมาของชาวไทยเชื้อสายมอญคงเป็นสิ่งที่หลายคนต่างคาดหวังเมื่อมาเยือนตำบลทรงคนอง ณ พิพิธภัณฑ์บ้านมอญ วัดคันลัด สถานที่ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไป นิสิตและนักศึกษา เข้ามาเยี่ยมชมข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ของชาวมอญ และร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้วัฒนธรรมไปพร้อมกัน อาคารสองชั้นครึ่งปูนครึ่งเรือนไทย เมื่อปราดตามองแวบแรกอาจรู้สึกว่าเป็นเพียงอาคารธรรมดา ๆ หากเมื่อผลักประตูกระจกเข้าไปด้านในจะเจอกับบอร์ดหลากหลายขนาด แต่ละบอร์ดบอกเล่าเรื่องราวประวัติความเป็นมาของชาวไทยเชื้อสายมอญแห่งพระประแดง ภาพบางภาพบ่งบอกถึงความเก่าแก่ของหน้าประวัติศาสตร์ ตลอดจนการละเล่นและพิธีกรรมต่าง ๆ อยู่ตรงหน้า

         คุณลุงเจ้าหน้าที่ประจำพิพิธภัณฑ์ชี้มือประกอบการอธิบาย หลายครั้งที่คุณลุงออกเสียงเอ่ยชื่อคนในรูปภาพอย่างแม่นยำ ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่และเสียชีวิตไปแล้ว “นี่ไงคนนี้ไงที่อยู่บ้านตรงข้ามนี่เอง” “คนนี้นี่ตายไปแล้ว” ดังแว่วเป็นระยะ ๆ เสร็จสิ้นจากการเดินสำรวจชั้นแรก เพื่อเดินต่อไปยังชั้นสอง ประตูเหล็กบานใหญ่ค่อย ๆ เลื่อนเปิด เมื่อนั้นเราถึงกับต้องตาวาวขึ้นทันที เมื่อเจอกับข้าวของเครื่องใช้โบราณที่จัดวางเรียงในตู้โชว์อย่างเป็นหมวดหมู่ เช่น เครื่องแต่งกายหญิงชายชาวมอญ ขันลงหิน เครื่องจักสาน เครื่องจักสานที่ทำมาจากกก และที่หนีบกก รวมถึงวัตถุที่เกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมเกี่ยวกับความตายต่าง ๆ เรียกคะแนนความสนใจให้เราหยุดฟังเรื่องราวเหล่านั้นอย่างสงัดแน่นิ่งอยู่นานสองนาน จนประตูเหล็กบานใหญ่ได้เคลื่อนปิดตัวลงอีกครั้ง พร้อมกับการเปิดมุมมองประวัติศาสตร์ชาวไทยเชื้อสายมอญแห่งพระประแดง ทั้งยังสะท้อนถึงความเข้มแข็งทางวัฒนธรรมที่ยังคงได้รับการสืบทอดมายังปัจจุบัน จากบรรพบุรุษสู่ลูกหลานอย่างแท้จริง

         สวนป่าเกดน้อมเกล้าฯ ป่าในเมืองแห่งแรกของไทย

         แวะมาเติมอากาศดี ๆ เข้าปอดกันสักหน่อย ทันทีที่เดินเข้ามาด้านใน อย่างแรกที่คุณรู้สึกได้นั่นคือ ไอเย็นของกิ่งก้านต้นไม้นานาชนิด ที่ต่างยืดเหยียดขยายอาณาจักรร่มเงาอย่างแข็งขัน ทั้งนี้ สวนป่าเกดน้อมเกล้าฯ เกิดจากการทำงานอย่างมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนกับหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะทางกรมป่าไม้ ซึ่งในอดีตพื้นที่สีเขียวแห่งนี้เป็นความเขียวที่มาจากวิถีชีวิตของชาวชุมชนทรงคนอง จากการประกอบอาชีพทำสวนผลไม้นานาชนิด เน้นความเรียบง่าย และอยู่กันแบบเครือญาติ ดังจะสังเกตว่าตลอดสองทางเดินเล็ก ๆ เข้าไปยังสวน ฝั่งหนึ่งอัดแน่นไปด้วยแมกไม้ อีกฝั่งหนึ่งยังคงมีบ้านเรือนผู้พักอาศัย สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างวิถีชีวิตและธรรมชาติอย่างแนบแน่น ตลอดเส้นทางศึกษาธรรมชาติในสวนป่าเพียงไม่กี่นาที นั่นก็เพียงพอให้เราเห็นถึงความสำคัญของการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียว ตลอดจนคุณประโยชน์ต่าง ๆ ก่อเกิดเป็นกิจกรรมต่าง ๆ ปลูกฝังความรักและการหวงแหนทรัพยากรในพื้นที่ สร้างรายได้คืนกลับไปให้กับชุมชนอีกด้วย 

         เดินวนเกือบครบรอบ บวกกับเห็นความเขียวแล้วก็แพ้ทาง คันไม้คันมือ อยากจะขอร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้สักหน่อย ว่าแล้วก็เลือก “ต้นจิกน้ำ” ด้วยเพราะสรรพคุณทนแดด ลม และฝน รวมถึงขั้นตอนการดูแลรักษาไม่ยุ่งยาก เราจึงเกิดความมั่นใจว่าเมื่อปลูกต้นไม้นี้แล้วจะสามารถเจริญเติบโตต่อไปอย่างไม่ต้องเป็นห่วง

         ณ ตำบลทรงคนอง แห่งนี้ หลากเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ ประเพณี ตลอดจนพื้นที่สีเขียว ยังคงยึดโยงเกาะเกี่ยวเอาไว้อย่างสวยงาม เป็นอีกหนึ่งมุมสงบแสนเรียบง่าย ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียงไม่กี่สิบกิโลเมตรเท่านั้น ลองหาเวลาว่าง ๆ เดินทางมาเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ และสร้างช่วงเวลาดี ๆ ที่นี่ร่วมกัน 

ขอบคุณข้อมูล
เฟซบุ๊ก ป่าชุมชนเมืองสวนป่าเกดน้อมเกล้า
เว็บไซต์ db.sac.or.th
เฟซบุ๊ก วัดโปรดเกศเชษฐาราม พระอารามหลวง
เว็บไซต์ rdpb.go.th