องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

นั่งเรือเส้นทางวิถีคลองแพบางกอบัว เสน่ห์ริมน้ำคุ้งบางกะเจ้า

1625727000
ขนาดตัวอักษร

         ล่องคลองชุมชนบางกอบัว จังหวัดสมุทรปราการ นั่งเรือชมธรรมชาติ ลอดผ่านอุโมงค์ต้นจาก พร้อมกิจกรรมต่าง ๆ เรียนรู้วิถีชุมชนแห่งคุ้งบางกะเจ้า

         หากจะให้นึกถึงพื้นที่สีเขียวใกล้กรุงเทพฯ สักที่ "บางกะเจ้า" เป็นสถานที่อันดับต้น ๆ ที่น่าสนใจ เพราะที่นี่มีพื้นที่สีเขียวแอ่งใหญ่ คอยทำหน้าที่ฟอกปอดให้กับคนบางกะเจ้าและผู้มาเยือนต่างถิ่น ซึ่งกิจกรรมส่วนใหญ่มักจะเป็นการปั่นจักรยาน แวะตลาดบางน้ำผึ้ง หรือไม่ก็หาร้านกาแฟนั่งเสพบรรยากาศความชิล แต่คราวนี้เราจะพาไปเจอกับอีกหนึ่งมุมของบางกะเจ้า กับเส้นทางวิถีคลองแพบางกอบัว 1 ใน 6 เส้นทางคุ้งบางกะเจ้า ซึ่ง 6 ตำบล ได้แก่ ทรงคนอง, บางกอบัว, บางน้ำผึ้ง, บางกระสอบ, บางกะเจ้า และบางยอ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ร่วมกันจัดทำโครงการขึ้นเพื่อให้การมาท่องเที่ยวที่บางกะเจ้าเป็นแบบวิถีชุมชนอย่างแท้จริง และดึงเอกลักษณ์โดดเด่นในชุมชนมานำเสนอนักท่องเที่ยวให้ได้สัมผัสอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
 

         


วิถีคน วิถีคลอง ชุมชนบางกอบัว

         การเดินทางจากกรุงเทพฯ มายังบางกอบัว ใช้เวลาเพียงชั่วโมงนิด ๆ ภาพเมืองคอนกรีตตรงหน้าก็ค่อย ๆ เปลี่นนฉาก แซมสลับเขียว ตรอกซอกซอยแต่ละช่วงถนนก่อนนำทางเราไปสู่จุดหมาย ปกคลุมด้วยต้นไม้ ใหญ่บ้างเล็กบ้าง เกิดเป็นฉากเงาพอให้บรรเทาไอร้อน

         ตำบลบางกอบัว นับเป็นอีกหนึ่งจุดของบางกะเจ้าที่ชาวบ้านและผู้นำชุมชนได้ร่วมกันพัฒนา เพื่อให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยววิถีชุมชน ด้วยหวังจะให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาได้สัมผัสความเป็นบางกอบัวอย่างแท้จริง ลำคลองสายยาว "คลองแพ" ที่ทอดผ่านชุมชนบางกอบัว เมื่อครั้งอดีตเป็นเส้นทางค้าขายทางน้ำที่สำคัญของชาวบ้านไปยังท่าเรือคลองเตย หากเมื่อความเจริญขยายตัวเข้ามา ทำให้คลองแพถูกลดบทบาทลง เมื่อไม่ค่อยได้ใช้งาน จึงถูกปกคลุมด้วยต้นไม้หน้าทึบ หากแต่ปัจจุบันคลองแพได้รับการปรับปรุงภูมิทัศน์ รวมถึงการขุดลอกคลอง เกิดเป็นกิจกรรมพายเรือนำเที่ยว ท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติที่ยังคงเป็นสีเขียว ความร่มรื่นย์จากพืชพันธุ์แบบดั้งเดิม ที่มักทำการเกษตรแบบขุดท้องร่อง ยังคงปรากฏร่องรอยให้เราได้เห็น ขณะที่สองฝั่งลำคลองแพ สัมผัสได้ถึงความหนาแน่นของป่าจาก พืชท้องถิ่นของบางกะเจ้า ผลจากที่ติดกันเป็นกลุ่ม ๆ สีเขียวของใบจากหลากหลายเฉด ดึงดูดสายตาให้จ้องสำรวจ ไปพร้อมจังหวะการเคลื่อนของลำเรือ
 






         ต้นจากแต่ละต้นที่เรียงขึ้นเป็นจำนวนแน่นขนัดสองฟากลำคลอง เป็นประจักษ์พยานคามสำคัญในฐานะต้นไม้ประจำถิ่นประจำคุ้งบางกะเจ้า และน้อยคนนักจะรู้ว่าแทบทุกส่วนของต้นจาก สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น "ลูกจาก" สามารถนำมาทำอาหารและขนม และสีจากเปลือกลูกจากนำมาย้อมผ้ามัดย้อมจากสีธรรมชาติ, "ดอกจาก" นำมาเผาเพื่อทำถ่านไปโอชา, "ใบจาก" สามารถนำมาสานเป็นภาชนะใส่อาหาร และ "น่องจาก" หรือบริเวณโคนต้นจาก ตัดมาใช้แทนโฟมที่ช่วยในการพยุงตัวในน้ำ เป็นต้น หลากหลายสารพัดคุณประโยชน์ที่ชาวบางกะเจ้าได้เก็บเกี่ยวจากไม้พื้นถิ่นมาเป็นเวลาช้านาน ในวันนี้ต้นจากก็ยังคงมีความสำคัญในแง่พื้นที่สีเขียว หล่อเลี้ยงท่องเที่ยวโดยชุมชนเพื่อชุมชน ดังเช่นกิจกรรมล่องแพ
 




         เรือค่อย ๆ ล่องบนผิวน้ำแน่นิ่ง เพลิดไปกับวิวสองข้างทางของคลองแพ จนแทบไม่อยากเชื่อเลยว่า ณ สถานที่แห่งนี้อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียงสิบกว่ากิโลเมตรเท่านั้นเอง สำหรับใครสนใจอยากสัมผัสอีกหนึ่งมุมของบางกะเจ้าแบบนี้ สามารถติอต่อได้ที่ โทรศัพท์ 090 986 7987 

ดื่มด่ำอรรถรสวิวเจ้าพระยา แวะชิมของอร่อยชุมชนบางกอบัว

         ลมอ่อน ๆ แสงแดดโพล้เพล้ เคล้ากับเสียงพายยามกระทบน้ำ กลายเป็นท่วงทำนองขับกล่อมให้คนนั่งตกอยู่ในภวังค์ เผลอหน่อยเดียวหนังตาก็รู้สึกหนัก พาเอาจะปิดได้ง่าย ๆ แต่จังหวะนั้น พลันเสียงฝีพายก็ส่งเสียงขึ้นมา “ถึงจุดชมวิวแล้วครับ” จุดชมวิวที่เรือจอดแวะ มองไปก็คือศาลาท่าเรือธรรมดาที่เห็นได้ทั่วไป หากเบื้องหน้าเอ็กคลูซีฟด้วยวิวแม่น้ำเจ้าพระยา ตัดสลับกับภาพของเรือส่งสินค้าลำใหญ่ เครนยกขายที่กำลังเคลื่อนเข้าเคลื่อนออก นั่นก็เพียงพอบอกใบ้ให้คนดูอย่างเรารู้ว่า คนอีกฝากฝั่งแม่น้ำน่าจะกำลังสาละวนกับการทำงานอยู่ไม่น้อย
 


 

          ระหว่างทางล่องเรือกลับ อดคิดไม่ได้เลยว่าภาพความวุ่นวายที่เห็นเมื่อสักครู่ ดูจะเป็นเรื่องไกลตัวขึ้นมาทันที พลันเมื่อละสายตาจากภาพตรงหน้าแล้วกลับมาเห็นกระแสน้ำนิ่งของคลองแพและอุโมงค์จาก ที่วางทอดตัวโค้งคล้ายซุ้มหลังคา คล้ายเป็นคำทักทายต้อนรับกลับคืนสู่ความสงบ ณ ชุมชนบางกอบัว แห่งนี้อีกครั้งหนึ่ง
 


 

         เมื่อสิ้นสุดกิจกรรมล่องเรือ เดินขึ้นท่าเป็นที่เรียบร้อย บ้านไม้หลังขนาดกลาง ใต้ถุนสูง ล้อมรอบด้วยต้นไม้นานาชนิด กลายเป็นพื้นที่สำหรับการทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นต้นว่ากิจกรรมการทำผ้ามัดย้อมจากสีมะพร้าวและหูกวาง โดยเราได้เห็นตัวอย่างผลงานจากนักท่องเที่ยวที่เคยได้มาเยี่ยมเยียน และฝากผลงานไว้เป็นที่ระลึกต่างหน้า ผ้ามัดย้อมแต่ละผืนสะท้อนถึงความตั้งใจ และการได้ลงมือทำอย่างสนุกสนาน และภาคภูมิใจในผลงานลานมัดย้อมที่ออกมานั่นเอง
 




 

          ถึงแม้ว่าครั้งนี้เราจะไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว แต่ก็ยังโชคดีได้กิน "ข้าวเหนียวมะม่วง" แสนอร่อย ข้าวเหนียวราดกะทิตักมาให้อย่างพอดี กินคู่กับมะม่วงเเนื้อเหลืองนวล ออกรสหวานมัน ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวที่ติดใจบรรยากาศความร่มรื่น ที่นี่มีที่พักไว้ให้บริการ “บ้านพักกลางสวน บางกอบัว” เน้นความเรียบง่าย สงบ และเป็นกันเอง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ใครที่อยากพักผ่อนสไตล์บ้านสวน น่าจะถูกใจที่นี่ได้ไม่ยาก 
 




สปาเท้าน้ำสมุนไพร ภูมิปัญญาแห่งความผ่อนคลาย 
 

         อีกหนึ่งกิจกรรมก่อนกลับ เพื่อผ่อนคลายความเหนื่อยล้าจากแสงแดดที่แผดเผาในการล่องแพ การทำสปาเท้าน้ำสมุนไพร ณ บริเวณด้านหลังของสถานีอนามัยบางกอบัวหมู่ 12 เราจะเห็นที่ทำการของเหล่าบรรดาหมอนวด (สมุนไพร) มือฉมัง ไล่เรียงดูอายุคร่าว ๆ ด้วยสายตา ก็บ่งบอกถึงความชำนิชำนาญ อันเกิดจากประสบการณ์สั่งสมเป็นแรมปี ต่างคนกำลังขะมักเขม้นกับการเตรียมอุปกรณ์การนวด จนอดทำให้เราตื่นเต้นไปด้วยไม่ได้เลย เพียงอึดใจเดียวที่นั่งรอ กลิ่นอบอวลของน้ำสมุนไพรก็ลอยกระทบจมูก ไถ่ถามไปมาก็ได้ความว่า ประกอบด้วยเครื่องสมุนไพร 7 ชนิด ได้แก่ ขมิ้น, ไพล, เหงือกปลาหมอ, ใบมะขาม, ตะไคร้, มะกรูด และชุมเห็ด มาผสมกับน้ำอุ่นและแช่เท้าทิ้งไว้ประมาณ 15 นาที ระหว่างที่นั่งแช่จะรู้สึกถึงความผ่อนคลาย เส้นเลือดแต่ละเส้นเตรียมตัวขยายพร้อมรอรับน้ำหนักมือที่กดลงแต่ละจุดของฝ่าเท้า
 


 

         เมื่อแช่เท้าครบถ้วนตามจำนวนนาทีแล้ว คราวนี้ก็ถึงเวลาลงมือนวด โดยการลงน้ำมันคลึงเคล้ากับมือจนได้ที่ แล้วก็นำฝ่ามือนั้นมาประคบเข้าที่เท้านวด เคลื่อนต่อมายังน่อง วนแบบนี้ต่อเนื่องและเป็นจังหวะ บวกกับบรรยากาศยามเย็นที่แสงอาทิตย์กำลังอ่อนแรง ชวนให้หนังตาเริ่มหย่อน อยากของีบหลับสักนิด เผลอแวบเดียว ครึ่งชั่วโมงผ่านไปเร็วเหมือนโกหก รู้ตัวอีกทีหมอนวดของเราก็ทำการส่งสัญญาณด้วยน้ำเสียงและรอยยิ้มด้วยความเอ็นดู "เสร็จแล้วจ๊ะ" ใครที่สนใจอยากส่งท้ายกิจกรรมฟิน ๆ ที่ชุมชนบางกอบัว สามารถติดต่อได้ที่ ชมรมสมุนไพรบางกอบัว โทรศัพท์ 09 2346 0088

         ชุมชนบางกอบัวแห่งคุ้งบางกะเจ้าในวันนี้ ยังคงไว้ซึ่งวิถีความกรีนไลฟ์ มากล้นด้วยความน่ารักของชาวบ้าน ตลอดจนความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายท่ามกลางธรรมชาติ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลงานการดูแลของพวกเขาที่ช่วยกันรักษาเป็นอย่างดี ก่อเกิดเป็นมูลค่าสินค้าและภูมิปัญญาท้องถิ่น สร้างรายได้หล่อเลี้ยงชุมชนอย่างสมบูรณ์