องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

ล่องคลองดำเนินสะดวก ลัดเลาะเส้นทางตามรอยเสด็จรัชกาลที่ 5

1625727120
ขนาดตัวอักษร

          ย้อนรอยประวัติศาสตร์ความเป็นมาของคลองดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี และแนะนำเส้นทางท่องเที่ยววิถีคลอง วิถีไทย ตามรอยเสด็จประพาสต้นคลองดำเนินสะดวก สมัยรัชกาลที่ 5
 

          ความผูกพันระหว่างคนกับสายน้ำมีมาตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน เพราะเป็นเสมือนแหล่งหล่อเลี้ยงชีวิตและสรรพสิ่ง ซึ่งหากเอ่ยถึงแม่น้ำหรือลำคลองในประเทศไทย ชื่อของ “คลองดำเนินสะดวก” จังหวัดราชบุรี น่าจะถูกพูดถึงเป็นอันดับต้น ๆ เพราะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญ อีกทั้งยังมีเรื่องราวเกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์มากมาย
 

กว่าจะเป็น...วิถีคลอง วิถีไทย
 

          เมื่อครั้งสมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้รับเชิญให้ไปเยือนฝรั่งเศส มีการจัดนำคณะนายกรัฐมนตรีไทยไปเที่ยวเส้นทางการท่องเที่ยวทางชลประทานที่เมืองอาเมียง (Amiens) บ้านเกิดประธานาธิบดีฝรั่งเศส ซึ่งทีมงานเกิดความประทับใจและคิดจะนำโมเดลการท่องเที่ยวทางน้ำนี้มาพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจทางน้ำในประเทศไทยบ้าง จึงเกิดโมเดลคลองนำร่องแรกของประเทศไทย ณ “ดำเนินสะดวก” ขึ้น โดยได้มอบหมายให้ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ทำหน้าที่สำรวจและออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวทางน้ำ เพื่อให้สะท้อนอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของดำเนินสะดวก ก่อเกิดเป็นการท่องเที่ยวชุมชนในแนวคิด“วิถีคลอง วิถีไทย ตามรอยเสด็จคลองดำเนิน” โดยร้อยเรียงวิถีชีวิตประจำวันหลักของชาวดำเนินสะดวก เข้ากับเรื่องราวน่าประทับใจในประวัติศาสตร์ย้อนไปเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสต้นที่ดำเนินสะดวก
 


 

ความเป็นมาของคลองดำเนินสะดวก
 

          พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงพระราชดำริเมื่อปี พ.ศ. 2409 ว่า “การเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ ถึงสมุทรสาครก็มีคลองภาษีเจริญไปมาสะดวกดีอยู่ จึงควรมีคลองระหว่างกรุงเทพฯ ถึงสมุทรสาครและราชบุรีให้สะดวกขึ้น โดยมีแม่น้ำแม่กลองเป็นสื่อกลาง” จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้ควบคุมดูแลและใช้กำลังของทหาร ข้าราชการ ชาวบ้าน และชาวจีน ร่วมกันขุด เมื่อขุดคลองเสร็จแล้วจึงนำแผนขึ้นทูลเกล้าฯ ทรงเห็นว่าเป็นคลองที่มีเส้นตรง ได้รับความสะดวกในการสัญจร จึงพระราชทานนามคลองที่ขุดใหม่นี้ว่า “คลองดำเนินสะดวก” ตั้งแต่นั้นมาคลองแห่งนี้ก็คอยหล่อเลี้ยงผู้คนในพื้นที่ ก่อนที่เมื่อปี พ.ศ. 2510 ชื่อของตลาดน้ำดำเนินสะดวกเปิดตัวสู่สายตาชาวโลกอย่างเป็นทางการ จากภาพของคลองที่คราคร่ำไปด้วยเรือพ่อค้าแม่ขายบรรทุกผลหมากรากไม้มาเต็มลำ จนกลายเป็นสัญลักษณ์ของการท่องเที่ยวเมืองไทย หากนั่นเป็นเพียงแค่เสี้ยวหนึ่งของคลองดำเนินสะดวกเท่านั้น ที่นี่ยังมีวิถีชีวิตที่ซ่อนเร้นอยู่ในคลองซอยต่าง ๆ มากมาย ที่รอให้ทุกคนได้สัมผัสถึงความรู้สึกจริงแท้ผ่านการท่องเที่ยวแบบ “วิถีคลอง วิถีไทย ตามรอยเสด็จคลองดำเนิน”

 

โปรแกรมเส้นทางท่องเที่ยววิถีคลอง วิถีไทย
 

          เส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อมโยง 4 ชุมชน ประกอบไปด้วย ชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนวัดโชติทายการาม ไปต่อที่ชุมชนบ้านมหาดเล็กเจ๊กฮวด ฟังเรื่องราวกำเนิดมหาดเล็กนอกพระราชวัง ตามด้วยชุมชนที่ 3 วิสาหกิจชุมชนสวนเกษตรแม่ทองหยิบ และปิดท้ายชุมชนที่ 4 วิสาหกิจชุมชนตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก โดยจะมีชาวบ้านในพื้นเป็นนักสื่อความหมาย พาเที่ยวพร้อมบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ โดยจะเริ่มต้นเส้นทางกันที่
 

          1. วัดโชติทายการาม กับการเสด็จประพาสต้นคลองดำเนินสะดวก
 

          วัดโชติทายการาม ตั้งอยู่ที่หมู่ 1 ตำบลดำเนินสะดวก สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2417 จากศรัทธาของปู่มั่ง มั่งมี คหบดีที่ถวายที่ดินเพื่อสร้างวัด และได้นิมนต์ “หลวงพ่อช่วง” จากวัดบางคณฑีใน มาเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก และเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสต้นทางเรือ ทรงให้นำเรือพระที่นั่งเทียบหน้าวัด หลวงพ่อช่วงทราบข่าวจึงนำพระลูกวัดลงมาสวดชัยมงคลคาถาต้อนรับ พระองค์ทรงถวายปัจจัยเพื่อบูรณะวัด 10 ชั่ง ถวายพระรูปละ 1 ตำลึง และแต่งตั้งหลวงพ่อช่วง เป็นพระครูวรปรีชาวิหารกิจ ณ ศาลาท่าน้ำ พร้อมโปรดเกล้าฯ ให้ทหารมหาดเล็กจัดที่ประทับบนศาลา ทรงให้พนักงานเครื่องต้นประกอบพระกระยาหารสำหรับเสวย ที่ศาลาท่าน้ำศาลาการเปรียญหลังปัจจุบัน ภายในวัดยังมีสิ่งที่น่าสนใจ เช่น หลวงพ่อลพบุรีราเมศร์ พระพุทธรูปศิลาแลง สร้างระหว่างสมัยสุโขทัย-ลพบุรี อายุ 800-1,000 ปี เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวดำเนินสะดวกมักมาขอพรให้สมหวังในเรื่องต่าง ๆ และพิพิธภัณฑ์วัดโชติทายการาม สถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุเก็บข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่ต่าง ๆ เป็นต้น
 


 

          2. บ้านเจ๊กฮวด (เล่า ฮวด เส็ง) มหาดเล็กนอกพระราชวังและเพื่อนต้นของรัชกาลที่ 5

          ทันทีที่เรือเทียบท่ายังบ้านเรือนไทยริมน้ำ ภาพของประตูไม้ถูกทาทาบด้วยสีแดงโดดเด่นก็ปรากฎอยู่ตรงหน้า พร้อมป้ายขนาดใหญ่สีดำ ตัวหนังสือสีทอง มีทั้งภาษาไทย จีน และอังกฤษว่า "เล้า ฮวด เส็ง" ซึ่งมีความหมายว่า ขอให้ตระกูลเล้าฮวดมีความสุข โดยป้ายนี้ได้รับพระราชทานมาจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีเพียง 7 ป้าย ในประเทศไทย สถานที่แห่งนี้คือจุดที่ 2 ในเส้นทางวิถีคลอง วิถีไทย ที่มีคุณลุงเปี๊ยก ศิริชัย น้อยประเสริฐ ผู้สืบทอดรุ่นที่ 4 ได้เล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการเสด็จประพาสต้นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวให้ได้ฟังกันแบบเป็นกันเอง ความทรงจำที่มีค่าถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นเรื่อยมา ภาพของวันวานยังตราตรึงมิเสื่อมคลาย

 

 


ลุงเปี๊ยก ศิริชัย

          3. ยลวิถีชาวบ้าน ชิมของอร่อย ไหว้ศาลเจ้าศักดิ์สิทธิ์ที่ตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก
 

          เรือเทียบท่ายัง “ตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก” ตลาดน้ำดั้งเดิมแห่งแรกของจังหวัดราชบุรี พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตแห่งนี้เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวมาเรียนรู้วิถีริมคลองดั้งเดิม ชาวบ้านพร้อมบอกเล่าเรื่องราวอย่างเป็นมิตร อีกทั้งภาพของวันวานยังปรากฎชัดเจนอยู่ เห็นได้จากบริเวณห้องแถวไม้ริมน้ำที่ยาวต่อเนื่องกว่า 500 เมตร มียังมีผู้อาศัยอยู่ เปิดเป็นร้านขายของชำบ้าง ร้านกาแฟโบราณบ้าง หรือเปิดเป็นสถานที่โชว์ผลงานศิลปะจากศิลปินท้องถิ่น เป็นต้น ส่วนบนเรือมีพ่อค้าแม่ค้ามาขายของ ทั้งเมนูพื้นถิ่นอย่าง ข้าวแห้ง หมูสะเต๊ะ ขนมจีนน้ำยาแกงไก่สูตรเหล่าตั๊กลัก ผัดไทยอาม่า กวยจั๊บน้ำพะโล้ และก๋วยเตี๋ยวเจ๊หมวยรสชาติกลมกล่อม รวมถึงผลไม้นานาชนิด
 

          4. สวนเกษตรแม่ทองหยิบ เรียนรู้เรื่องเกษตรผสมผสาน

          บนพื้นที่ 35 ไร่ ณ สวนเกษตรแม่ทองหยิบ พี่ไพศาล ศรีเอี่ยมกูล เกษตรกรเจ้าของสวน ที่พ่วงตำแหน่งประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสวนเกษตรแม่ทองหยิบ ได้พาเราเดินข้ามสะพานวัดใจหรือสะพานไม้เล็ก ๆ ข้ามคลองขนาดกะทัดรัด เพื่อลงเรือและถ่อไปตามร่องสวนชม “ต้นไม้กอดกัน” จุดเด่นของสวนแห่งนี้ เพราะเป็นการคิดค้น ทดลอง และดัดแปลง จากการที่ได้ไปดูงานตามสถานที่ต่าง ๆ และนำมาปรับใช้จนก่อเกิดเป็นการทำสวนที่ปลูกมะนาวกับละมุดอยู่ร่วมกันอย่างลงตัว ระหว่างนั้นก็บอกเล่าถึงความเป็นมาในการทำเกษตรแบบผสมผสาน ที่เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรแห่งนี้ให้ฟัง นอกจากนี้ภายในสวนยังมีผลผลิตอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ชมพู่ มะพร้าว ส้มโอ อุโมงค์ไม้เลื้อย และพืช ผักสวนครัวต่าง ๆ การได้พูดคุยถามไถ่และลิ้มลองผลไม้สดจากต้น ชิมขนมไทยอร่อย ๆ หรือจะซื้อผลไม้ติดจากสวนติดไม้ติดมือกลับบ้านก็ได้ไม่ว่ากัน
 

 

          ทั้งหมดนี้ถือเป็นหนึ่งในอัตลักษณ์ของวิถีชีวิตชาวคลองดำเนินสะดวกที่ยังคงอยู่ การได้ไปสัมผัสกับการท่องเที่ยวแบบวิถีคลอง วิถีไทย ตามรอยเสด็จคลองดำเนิน จึงเรียกว่ามาเที่ยวแบบมาถึงดำเนินสะดวก เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ของชุมชน โดยชุมชนและเพื่อชุมชน ส่งผลเศรษฐกิจชุมชนยั่งยืน เป็นการท่องเที่ยวแบบเน้นคุณค่า ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มได้ที่ คุณแซม โทรศัพท์ 08 1684 6383 หรือ เฟซบุ๊ก ตลาดน้ำวัดโชติฯ