องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

ทำไมต้องมีข้อมูลขอบเขตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยว

1667721480
ขนาดตัวอักษร

การท่องเที่ยวไม่ว่ารูปแบบใดก็ตามจำเป็นต้องใช้ "ทรัพยากร" หรือ "สภาพแวดล้อม" เป็นต้นทุนในการนำไปสู่องค์ประกอบของการเกิดเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวประเภทต่างๆ โดยทรัพยากรการท่องเที่ยวหลากหลายประเภทต่างดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางไปท่องเที่ยวยังสถานที่ท่องเที่ยวนั้น เมื่อเกิดการท่องเที่ยวในพื้นที่นั้นแล้ว นักพัฒนาการท่องเที่ยวได้เล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จากการท่องเที่ยว ปัญหาที่เกิดจากการไม่สามารถรองรับการอุปโภคบริโภคเพื่อการท่องเที่ยว (tourism consumption) ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเยือนได้

สิ่งที่จะทำให้นักพัฒนาการท่องเที่ยวเห็นถึงปัญหาได้ นั่นก็คือ "ข้อมูล" แต่กลับพบว่าการดำเนินงานในปัจจุบันข้อมูลทรัพยากรการท่องเที่ยวนั้นยังไม่สามารถบ่งบอกถึงสถานภาพของทรัพยากร รวมถึงการระบุความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวกับทรัพยากรนั้นได้

การจัดทำคลังข้อมูลขอบเขตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวนั้นจะนำท่านไปสู่การชี้ให้เห็นถึงปัจจัยที่สามารถเลือกนำไปใช้เพื่อการจัดทำข้อมูลการท่องเที่ยวให้เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการวางแผนการท่องเที่ยวในทุกด้าน 

 

"ข้อมูล" เกิดจากคำถามว่า ต้องการใช้ประโยชน์ข้อมูลในด้านใด

และวิธีการเก็บข้อมูลต้องสัมพันธ์กับตัวชี้วัดหรือตอบคำถามในการนำไปใช้ประโยชน์ได้

ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพนั้นจะเป็นข้อกำหนดพื้นฐานสำหรับการวางแผนการท่องเที่ยวในทุกด้าน เพื่อให้แหล่งท่องเที่ยวสามารถระบุตำแหน่งทางการแข่งขันของตนเองได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่นักพัฒนาการท่องเที่ยวจะต้องสามารถติดตามการเติบโต หรือสามารถวัดผลกระทบที่เกิดขึ้นในด้านต่างๆ จากข้อมูลที่ได้จากขอบเขตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ตัวอย่างเช่น จำนวนห้องพัก การเติบโตหรือการลดลงของจำนวนผู้มาเยือน ปริมาณการใช้น้ำประปาและไฟฟ้าของที่พัก ค่าตอบแทนของแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่

 

 

ประโยชน์ของการจัดทำข้อมูลขอบเขตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว

1. มีฐานข้อมูลที่รวบรวมข้อมูลสำคัญที่สามารถวัดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากภาคการท่องเที่ยว

2. มีข้อมูลที่สามารถจัดระดับความสำคัญ ความจำเป็น หรือประเด็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว

3. มีข้อมูลพื้นฐาน (Baseline data) ในการเปรียบเทียบผลผลิตและผลลัพธ์ ตลอดจนผลกระทบของการจัดทำโครงการที่ชัดเจน

4. มีข้อมูลที่สามารถระบุประเด็นปัญหาที่สามารถนำไปใช้ในการจัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม

 

ข้อมูลที่ดี...นำไปสู่การประสานการของบประมาณโครงการด้านการท่องเที่ยว

“ระบุประเด็น เห็นระดับความสำคัญของปัญหา วัดความคุ้มค่าของโครงการได้อย่างเป็นรูปธรรม”