องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

จัดการอาหารอย่างไรให้ดีต่อโลก (Food Waste Idea)

1659420600
ขนาดตัวอักษร

          ชุมชนท่องเที่ยวหลายแห่งในปัจจุบัน เริ่มหันมาตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแยกขยะ การหันมาช่วยกันประหยัดพลังงาน หรือแม้กระทั่งการบริหารจัดการเรื่องอาหาร
รู้ไม่ว่า สหรัฐอเมริกาเป็นชาติที่มีขยะอาหารสูงสุดในโลกหรือคิดเป็นประมาณ 40 ล้านตันทุกๆปี และเมื่อรวมขยะอาหารบนโลกกลับน่าตกใจยิ่งกว่าเพราะมีจำนวนเฉลี่ยสูงถึง 1.4 พันล้านตันเลยทีเดียว ถึงเวลาแล้วที่เราต้องหันมาให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตประจำวันโดยการรบกวนโลกน้อยลง เช่น เริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ อย่างการบริหารจัดการอาหาร ดังต่อไปนี้


•    จัดระเบียบวัตถุดิบอย่างเป็นระบบ เทคนิคง่ายๆ คือระบุวันและเวลาที่ได้วัตถุดิบมาอย่างชัดเจน รวมถึงต้องมีการจัดวางอย่างเป็นระบบ เช่น จัดวางของเข้าใหม่ทางซ้ายสุด แล้วทยอยหยิบจากฝั่งขวาไล่ลำดับมาเรื่อยๆ นอกจากจะสะดวกในการค้นหาวัตถุดิบยามปรุงอาหาร ยังช่วยลดปัญหาอาหารหมดอายุเพราะมองไม่เห็น
•    เก็บอาหารโดยไม่ใช้พลาสติก การยืดอายุให้กินได้นานขึ้นก่อนกลายเป็นขยะเพราะกินไม่ทัน ก็มีส่วนช่วยลด Food Waste ได้ และมีหลากหลายวิธีการเก็บโดยไม่จำเป็นต้องใช้พลาสติก เช่น ตะกร้าเก็บหอมใหญ่และมันฝรั่งก่อนวางในที่มืด ห่อผักกาด ผักสลัดด้วยผ้าเช็ดมือก่อนเก็บในตู้เย็น การใช้ขวดโหล/กล่องเก็บอาหารเข้าช่องฟรีซ ถนอมถั่วและวัตถุดิบประเภทเป็นฝักด้วยผ้าหมาดๆ
•    กินอาหารให้หมดและลดเนื้อสัตว์ เศษอาหารที่ถูกฝังลงดินจะทับถมและบ่มเพาะเชื้อโรค เกิดเป็นสารพิษปนเปื้อนไปตามแหล่งธรรมชาติ นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยหลายชิ้นที่บ่งชี้ว่ากระบวนการผลิตอาหารเป็นการทำลายธรรมชาติ โดยเฉพาะก๊าซเรือนกระจกจากฟาร์มปศุสัตว์ การใช้น้ำปริมาณมากเพื่อเลี้ยงดูสัตว์อีกต่อหนึ่ง การลดการกินเนื้อสัตว์จึงเป็นเหตุผลของการช่วยโลก
•    ตรวจสอบอาหารก่อนทิ้ง วันหมดอายุที่ระบุบนฉลากอาจจะไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริง ที่บอกให้เราโยนอาหารลงถังขยะ เพราะอาหารหรือวัตถุดิบบางอย่างอาจต้องใช้ประสาทสัมผัสพิจารณาไม่ว่าจะเป็นการใช้จมูกดมกลิ่น ใช้สายตามองว่ายังอยู่ในสภาพกินได้หรือไม่ ซึ่งไม่ใช่แค่รูปร่างไม่สวยงามหรือมีรูปร่างไม่สมประกอบเท่านั้น


•    ปลูกผักจากเศษผักที่เหลือ การปลูกผักสวนครัวจากเศษกิ่ง ก้าน รากของผักที่เรากำลังจะกำจัด เช่น ก้านโหระพา แมงลัก สะระแหน่ ต้นหอม ผักชี ฯลฯ เพียงปักชำในแก้วน้ำให้เกิดราก ก่อนปลูกลงดินให้เติบโตงอกงามและสามารถใช้เป็นวัตถุดิบประกอบอาหารต่อได้ 
อย่าลืมว่าอาหารทุกชนิดต้องใช้ทรัพยากรและเวลาในการผลิตไม่ว่าจะเป็นแร่ธาตุ น้ำ ที่ดิน แรงงาน พลังงาน และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งการตระหนักถึงการบริหารจัดการอาหารให้รอบคอบด้วยการลงมือทำไปพร้อมกัน จากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ อาจกลายเป็นพลังยิ่งใหญ่ที่ช่วยเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ก่อนสายเกินไปก็เป็นได้


อ้างอิง  https://www.rts.com/resources/guides/food-waste-america/