องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

มาตรฐานคืออะไร? ทำไมการท่องเที่ยวต้องมีมาตรฐาน?

1655091900
ขนาดตัวอักษร

             เมื่อยุคสมัยแห่งโลกาภิวัตน์มาถึง การท่องเที่ยวได้กลายเป็นกิจกรรมที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจ และการขยายตัวของการท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องนี้ นำมาซึ่งผลประโยชน์ต่อผู้คนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือชุมชนท้องถิ่น เพราะการท่องเที่ยวคือการเคลื่อนไหว เคลื่อนย้ายผู้คนจากแห่งหนึ่งไปยังอีกแห่งหนึ่งเป็นการชั่วคราว และทุกการเคลื่อนไหวนั้นเองที่สะพัดก่อให้เกิดรายได้ ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การพักแรม การจับจ่ายสินค้าเพื่อการอุปโภคและบริโภค ส่งผลให้หลาย ๆ ประเทศหันมาลงทุนพัฒนาการท่องเที่ยว และเตรียมพร้อมในการรองรับกิจกรรมการท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้จำนวนมหาศาลให้แก่ประเทศของตน เมื่อการท่องเที่ยวระหว่างประเทศเพิ่มมากขึ้น มาตรฐานด้านการท่องเที่ยวจึงมีขึ้นเพื่อใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุดที่เกิดจากการตกลงกันระหว่างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มาตรฐานจะเป็นเครื่องมือการพัฒนาอันทรงคุณค่าและเป็นองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยวให้ดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน คือ “เพื่อความยั่งยืน”

          เมื่อปี 2558 ประเทศไทยและสมาชิกสหประชาชาติรวม 193 ประเทศ ร่วมรับรองวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (2030 Agenda for Sustainable Development) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) 17 เป้าหมาย ให้เป็นกรอบการพัฒนาของโลกเพื่อร่วมกันบรรลุการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ภายในปี ค.ศ. 2030  (พ.ศ. 2573)

และประเทศไทยตั้งเป้าหมายด้านการท่องเที่ยว ภายในปี 2580 ไว้ว่า

  • สัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศด้านการท่องเที่ยวต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ต้องเพิ่มขึ้นร้อยละ 30
  • อัตราส่วนรายได้จากการท่องเที่ยวของเมืองหลักและเมืองรองเป็น 60:40
  • อันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว (Travel & Tourism Competitiveness Index: TTCI) ซึ่งจัดทำโดย World Economic Forum ต้องอยู่ 1 ใน 24 อันดับแรกของโลก

ปี 2562 อันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 31 จาก 140 ประเทศทั่วโลก และเป็นลำดับที่ 3 ในกลุ่มประเทศอาเซียน รองจากประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย ทั้งนี้พิจารณาจากดัชนี 14 รายการและแต่ละรายการมีคะแนนเต็ม 7 คะแนน

ดัชนีที่ไทยมีอันดับขีดความสามารถการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวดีที่สุดตามลำดับ 3 อันดับแรก คือ

  • ดัชนีทรัพยากรธรรมชาติ อันดับที่ 10
  • ดัชนีโครงสร้างพื้นฐานบริการด้านการท่องเที่ยว อันดับที่ 14
  • ดัชนีการแข่งขันด้านราคา อันดับที่ 25

ดัชนีที่มีอันดับขีดความสามารถการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวน้อยที่สุดตามลำดับ 3 อันดับ คือ

  • ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม อันดับที่ 130 (กำหนดให้ยกระดับไว้ที่อันดับ 110 ภายในปี 2565)
  • ความมั่นคงปลอดภัย อันดับที่ 111
  • สุขภาพและอนามัย อันดับที่ 88

          สำนักงานพื้นที่พิเศษ 4 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.4 ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมรดกโลกสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร (พ.ศ. 2566 – 2570) อย่างสอดคล้องกับเป้าหมายและตัวชี้วัดของแผนย่อยของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ประเด็นด้านการท่องเที่ยว โดยแผนยุทธศาสตร์ฉบับนี้คำนึงถึงมาตรฐานการท่องเที่ยวดังที่ปรากฏไว้ตามมีพันธกิจข้อที่ 3 คือ การพัฒนาขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพตามมาตรฐาน นอกจากนี้ เป้าหมายการพัฒนาข้อที่ 3 ยังระบุไว้ว่า การพัฒนาศักยภาพโครงข่ายการคมนาคม และสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยว รวมทั้งยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพราะหากต้องการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ก็จะต้องคำนึงถึงคุณภาพและมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับการมาเยือนของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่หลากหลาย และการแข่งขันที่ดุเดือดของตลาดการท่องเที่ยวในระดับสากล อันจะนำมาซึ่งรายได้และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

มาตรฐานด้านการท่องเที่ยวจึงมีขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการปรับปรุงความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยว สร้างความเชื่อมั่นให้นักเดินทาง ในด้านความปลอดภัย และความเป็นมืออาชีพในการท่องเที่ยว รวมถึงยังเป็นหลักยึดในแนวทางการดำเนินงานและการพัฒนา ในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยและความปลอดภัย เพราะแท้จริงแล้วการท่องเที่ยวไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดประโยชน์เท่านั้น ในมุมกลับกัน การท่องเที่ยวยังก่อให้เกิดการเบียดบังทรัพยากรในแหล่งท่องเที่ยว และนำมาซึ่งผลกระทบเชิงลบจากการเดินทางมาเยือนของนักท่องเที่ยวสู่ผู้คนในท้องที่ การที่มีเกณฑ์มาตรฐานมาเป็นหลักยึดในการพัฒนาการท่องเที่ยวนั้น จะนำไปสู่การส่งเสริมและต่อยอดจุดแข็งในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของพื้นที่  และเป็นการหมุนทิศทางการเฝ้าระวังสิ่งที่จะเกิดขึ้นจากการท่องเที่ยวให้ครบรอบด้าน เพื่อสร้างความสมดุลทางการท่องเที่ยวไม่ให้เกิดผลกระทบที่ไม่เป็นธรรมต่อความเป็นอยู่ของชุมชนในท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อมนั่นเอง

ทั้งนี้ อพท. มีนโยบายให้พื้นที่พิเศษทุกแห่งได้รับการพัฒนาตามแนวทางของเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism : GSTC) อันเป็นมาตรฐานด้านการท่องเที่ยวระดับนานาชาติ ดังนั้น แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนมรดกโลกสุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร (พ.ศ. 2566 – 2570) จึงประกอบด้วยโครงการที่ใช้เกณฑ์ GSTC เป็นแนวทางในการดำเนินการ