นโยบายการกำกับดูแลกิจการที่ดี
หลักเกณฑ์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีของ อพท. ในรูปแบบองค์การมหาชน
การปรับแก้และการปรับเปลี่ยนเป็นกระบวนการที่นำสู่การพัฒนา ไม่ว่าจะหน่วยงานของภาครัฐหรือภาคเอกชนยึดหลักดังกล่าวเพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินงาน ลดขั้นตอน ลดความซ้ำซ้อน ลดการทุจริต และสุดท้ายคือ เพื่อพัฒนาการให้บริหารแก่ประชาชน เฉกเช่นเดียวกับการปฏิรูประบบราชการ เพื่อให้การปฏิบัติงานของส่วนราชการตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศและให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งการบริหารราชการและการปฏิบัติหน้าที่ของส่วนราชการต้องใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีในการบริหารราชการแผ่นดินตามมาตรา 6 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีพุทธศักราช 2546 บัญญัติไว้คือ
1. เกิดประโยชน์สุขของประชาชน
2. เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ
3. มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ
4. ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติงานเกินความจำเป็น
5. มีการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันเหตุการณ์
6. ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ
7. มีการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) เป็นหน่วยงานของรัฐในรูปแบบองค์การมหาชนที่ระบุในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พุทธศักราช 2546 มาตรา 53 ว่า “ให้องค์การมหาชนและรัฐวิสาหกิจจัดให้มีหลักเกณฑ์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีตามแนวพระราชกฤษฎีกานี้ ” อพท. จึงนำหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีทั้ง 7 ข้อข้างต้นมาผสมผสานกับหลักธรรมาภิบาลของภาครัฐ ซึ่งสามารถสรุปเป็นหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารบ้านเมืองที่ดีของ อพท. ดังนี้
1. การยึดมั่นในหลักของวัตถุประสงค์ในการให้บริการแก่ประชาชนหรือผู้ที่มาใช้บริการ (Clear Statement – High Service Quality) กล่าวคือ องค์การจะมีการประกาศ (Statement) พันธกิจและวัตถุประสงค์ขององค์การที่ชัดเจนและใช้เป็นแนวทางในการวางแผนการปฏิบัติงานขององค์การ
2. การทำงานอย่างมีประสิทธิภาพในหน้าที่และบทบาทของตน (Public Statement) กล่าวคือ ผู้บริหารแจ้งให้ประชาชนได้ทราบในการประกาศสาธารณะถึงบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของตนโดยระบุให้ทราบถึงการปฏิบัติงาน
3. การส่งเสริมค่านิยม (Values) ขององค์การและแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของธรรมาภิบาล
โดยการปฏิบัติหรือพฤติกรรม (Behaviors) กล่าวคือ ผู้บริหารทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีนำค่านิยมขององค์การมาใช้ปฏิบัติ ตัดสินใจและวินิจฉัยอย่างโปร่งใส เปิดเผยและมีประสิทธิภาพ
4. การสื่อสารที่ดี มีการตัดสินใจอย่างโปร่งใส และมีการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม (Providing information to flow two ways) กล่าวคือ มีระบบตรวจสอบการทำงานทุกอย่าง เพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างดำเนินไปตามแผนการดำเนินงาน มีการตรวจสอบความถูกต้องของงานบัญชี การเงิน รวมทั้งข้อมูลต่างๆ ที่ผลิตโดยองค์การ
5. การพัฒนาศักยภาพและความสามารถของส่วนบริหารจัดการอย่างต่อเนื่องและให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กล่าวคือ ผู้บริหารมีความรับผิดชอบในผลงานโดยการประเมินผลงานเป็นระยะๆ ทั้งนี้รวมทั้งการประเมินความต้องการในการฝึกอบรมหรือการพัฒนาทักษะที่ต้องการใช้ในการปฏิบัติหน้าที่
6. การเข้าถึงประชาชนและต้องรับผิดชอบต่อการทำงานและผลงานอย่างจริงจัง กล่าวคือ วางแผนและประสานงานกับประชาชน เพื่อให้ทราบถึงหน้าที่และความรับผิดชอบแสดงความรับผิดชอบต่อบุคลากรภายในองค์การ และประสานงานกับหน่วยเหนืออย่างใกล้ชิด
ทั้งนี้หลักเกณฑ์และวิธีการบริหารบ้านเมืองที่ดีดังกล่าวข้างต้น อพท. ได้นำแนวทางของคุณสุธรรม ส่งศิริ มาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน และ อพท. ให้ความสำคัญและยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อการพัฒนาการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดตามหลักธรรมาภิบาล (Good Governance)