องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

Mueang Kao Sukhothai have been selected in the Top 100 Destinations Sustainability Stories 2023

1629086160
ขนาดตัวอักษร

Mueang Kao Sukhothai have been selected in the Top 100 Destinations Sustainability Stories 2023

สุโขทัย เมืองท่องเที่ยวยั่งยืน 1 ในร้อยแห่งของโลก' ส่องความสำเร็จก่อนได้รางวัล Green Destinations Top 100 Stories 2023

จังหวัดสุโขทัย พัฒนาเมืองและแหล่งท่องเที่ยว ผ่านการอนุรักษ์ธรรมชาติ ปกป้องแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และแก้ปัญหาสัตว์รุกรานพื้นที่เมืองเก่าสุโขทัย จนได้รับรางวัล "Green Destinations Top 100 Stories" หรือ "รางวัลแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก" เป็นครั้งที่ 2 มาสำรวจเบื้องหลังความสำเร็จที่สร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทย จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนที่น่าสนใจในระดับโลกไปพร้อมกัน

[ รางวัล "Green Destinations Top 100 Stories" จาก Green Destinations Foundation ]

นายณัฐพงศ์ สุขวิสิฏฐ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย กล่าวว่า "เมืองเก่าสุโขทัย" ได้รับรางวัล "Green Destinations Top 100 Stories" หรือ "รางวัลแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก" ครั้งแรกเมื่อปี 2021 และครั้งที่สองในปี 2023 เป็นผลจากความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนของโลกในระดับสากล จากการร่วมทำงานระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน ซึ่งจะทำให้เป็นที่รู้จักและดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ

ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ รองผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า อพท. ดำเนินการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมีการนำมาตรฐานหรือหลักเกณฑ์ระดับสากลอย่าง "เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC)" มาดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านท่องเที่ยว ทั้งในมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

โดย Green Destinations Foundation องค์กรรับรองมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนจากประเทศเนเธอร์แลนด์ มีการมอบรางวัลแหล่งท่องเที่ยวที่มุ่งมั่นไปสู้ความยั่งยืน 100 แห่งในแต่ละปี ในชื่อรางวัล "Green Destinations Top 100 Stories" หรือ "รางวัลแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก"

[ เบื้องหลังความสำเร็จ ]

พ.อ.นาวิน ปรีชาพณิชยกุล ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร (อพท.สุโขทัย) เล่าว่า ในปี 2023 มีแหล่งท่องเที่ยวทั่วโลกเสนอชื่อเข้าประกวดเพื่อรับราววัล "Green Destinations Top 100 Stories" หรือ "รางวัลแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก" กว่า 165 เมือง โดยแต่ละแห่งจะต้องรายงานผลการดำเนินงานตามเกณฑ์ Green Destinations จำนวน 6 ด้าน คือ

1) การบริหารจัดการ

2) ธรรมชาติและทิวทัศน์

3) มรดกวัฒนธรรมและประเพณี

4) สิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ

5) ความเป็นอยู่ที่ดีทางสังคม

6) ธุรกิจและการสื่อสาร

รวมถึงจะต้องนำเสนอเรื่องราวการปฏิบัติที่ดี (Good Practice Story) ซึ่งในปี 2023 "เมืองเก่าสุโขทัย" นำเสนอเรื่อง "การอนุรักษ์ธรรมชาติเพื่อปกป้องแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมอย่างยั่งยืน กรณีการจัดการสัตว์ต่างถิ่นรุกราน" (Nature conservation for potecting cultural attraction : the case of invasive species in Mueang Kao, Sukhothai) เป็นการจัดการความซับซ้อนของธรรมชาติที่อยู่ร่วมกับมรดกทางวัฒนธรรม เพื่อจัดการปัญหาของสัตว์ต่างถิ่นรุกราน 2 สายพันธุ์ คือ ปลาดุกรัสเซียและนกยางอพยพ

[ จัดการปัญหาสัตว์ต่างถิ่นรุกราน ]

ปี 2020 มีฝูงนกยางประมาณ 300 - 600 ตัว ได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัยที่วัดสระศรีและบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย แต่เมื่อถึงฤดูอพยพ กลับไม่มีการเคลื่อนย้ายออกไป ทั้งยังมีปริมาณเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลให้มีปัญหามูลนกในโบราณสถาน สร้างความเสียหายทางทัศนียภาพ

อพท. ได้ดำเนินการสนับสนุนข้อมูลจากการสำรวจโดยผู้เชี่ยวชาญ จึงทราบว่า นกยางชนิดนี้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ห้ามทำร้ายและทำลายไข่ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยจึงได้ทำการตัดแต่งกิ่งไม่ในวัดสระศรี เพื่อลดการสร้างรังวางไข่ของนกยาง ทำให้จำนวนนกยางลดลงเรื่อยๆ

ขณะที่ปัญหาปลาดุกรัสเซีย ที่แพร่กระจายจากวัดตระพังทองมายังอุทยานประวัติศาสตร์ ยังคงมีการเฝ้าระวังไม่ให้เพิ่มจำนวน โดยการติดป้ายห้ามปล่อยปลาทุกชนิดและป้ายสื่อสารให้ความรู้ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง รวมถึงสื่อสารเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพในอุทยานประวัติศาสตร์สร้างความตระหนักรู้ให้กับนักท่องเที่ยวให้เข้าใจการอยู่ร่วมกันระหว่างโบราณสถานและธรรมชาติ

ปัจจุบัน สระน้ำวัดตระพังทองอยู่ระหว่างการฟื้นฟูสภาพแหล่งน้ำและระบบนิเวศ มีการปล่อยพันธุ์ปลาท้องถิ่นและมีอาสาสมัครปลูกบัวท้องถิ่น เพิ่มออกซิเจนและเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ รวมถึงได้ใช้ประโยชน์พื้นที่รอบสระน้ำวัดตระพังทองที่ได้ปรับปรุงจนมีทัศนียภาพที่สวยงาม เช่น ตลาดรถไส ซึ่งเป็นตลาดขายของรถเข็นแบบโบราณ เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาค้าขายอาหารและสินค้าที่ระลึก กระจายรายได้ให้หมุนเวียนในท้องถิ่น เกิดเป็นรายได้ประมาณ 1.2 ล้านบาทต่อเดือน

[ ตัวอย่างการดำเนินการ ]

- การบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว : แหล่งท่องเที่ยว "เมืองเก่าสุโขทัย" ได้จัดตั้งคณะกรรมการประสานและชับเคลื่อนพัฒนาการท่องเที่ยว ต.เมืองเก่า อ.เมืองสุโขทัย จ.สุโขทัย ตามหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ให้ร่วมกันขับเคลื่อนการยกระดับสถานะความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยวตามเกณฑ์ GSTC ภายใต้การมีส่วนร่วมของท้องถิ่นและภาคีทุกภาคส่วน เป็นต้น

- การอนุรักษ์ธรรมชาติ : มีคลังข้อมูลระบบนิเวศธรรมชาติจากการสำรวจของผู้เชี่ยวชาญพร้อมกับวิเคราะห์ความเสี่ยงหรือความเปราะบาง ที่ได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยว พร้อมจัดทำแนวทางการอนุรักษ์ การเฝ้าระวังและติดตามคณะกรรมการประสานและขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวตำบลเมืองเก่าฯ ได้จัดทำคู่มือ "การจัดการเพื่อติดตามผลกระทบและคุ้มครอง ที่อยู่อาศัย พันธุ์สัตว์ พันธุ์พืช และระบบนิเวศในแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเป็นไปตามหลักการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวิภาพ (The Convention on Biological Diversity หรือ CBD) เป็นต้น

- ภูมิทัศน์และทัศนียภาพ : "เมืองเก่า สุโขทัย" มีโบราณสถาน ศาสนสถาน อ่างเก็บน้ำ และสระน้ำ โดยหลายแห่งได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย เช่น ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก เมื่อปี 1991 เป็นต้น ซึ่งเมืองเก่า สุโขทัย มีทัศนียภาพที่ผสมผสานระหว่างโบราณสถานและแหล่งธรรมชาติ ทำให้มีทิวทัศน์ที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ สามารถส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี อีกทั้งมีการตั้งอยู่ของบ้านเรือนชุมชน เห็นการดำเนินชีวิตที่ผสมผสานเป็นภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่งดงาม เป็นต้น

- มรดกทางวัฒนธรรมและการจัดการ : มีการประกาศข้อควรปฏิบัติในการเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2539)ออกตามความใน พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เพื่อควบคุมพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวในการเข้าชมโบราณสถาน เป็นต้น

- ภูมิปัญญา ศิลปะ หัตถกรรม มรดกทางวัฒนธรรม : พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ขึ้น เพื่อดึงเอาภูมิปัญญา ศิลปะ หัตถกรรมท้องถิ่นมาถ่ายทอดในรูปแบบกิจกรรมเวิร์กช็อบ ให้นักท่องเที่ยวใกล้ชิดกับช่างฝีมือผ่านการลงมือทำพร้อมๆ กัน เป็นต้น

ทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวไปสู่ความยั่งยืนของประเทศไทย โดยเมืองเก่าสุโขทัย เป็นหนึ่งในโมเดลตัวอย่างที่เราสามารถเห็นถึงความยั่งยืนในการท่องเที่ยวได้อย่างชัดเจน ทั้งในมิติของสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่มีการตั้งเป้าหมายสู่ความยั่งยืน รอให้ทุกคนไปสัมผัสและสนับสนุน จะมีที่ไหนบ้าง ต้องติดตามในโอากาสต่อไป

.