“อพท. จับมือ GISTDA ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์องค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล สนองนโยบายประเทศไทย 4.0”
อพท. ลงนามความร่วมมือร่วมกับ GISTDA มุ่งเป้าใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตามเป้าหมายเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven Organization) และใช้ประโยชน์จากข้อมูลในการพัฒนา การท่องเที่ยวยั่งยืนให้เกิดประโยชน์สูงสุด สนองนโยบายประเทศไทย 4.0 (Thailand 4.0)
นาวาอากาศเอก ดร.อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. กล่าวว่า อพท. ได้มีนโยบายและกำหนดกระบวนทัศน์ใหม่ (New Paradigm) ในการเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven Organization) เพื่อให้องค์กรสามารถปรับตัวและตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่ได้ลงนามความร่วมมือว่าด้วยการใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศเพื่อการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GIS) มาใช้ในการวางแผนการดำเนินงานและแนวทางการทำงานทั้งในระดับนโยบาย และระดับการปฏิบัติจริงในพื้นที่พิเศษของ อพท. ทั้ง 9 แห่ง รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก ช่วยให้ อพท. มองเห็นภาพรวมของ การพัฒนาพื้นที่พิเศษได้อย่างชัดเจน มีการประเมินผลกระทบและตัดสินใจจากข้อมูลที่ถูกต้องและทันสมัย รวมถึงยังส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมในการดำเนินงาน ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและหน่วยงานภาคีในพื้นที่พิเศษของ อพท. ได้อย่างถูกต้องและตรงเป้าหมาย
เป้าหมายภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือนี้ อพท. และ GISTDA จะร่วมกันดำเนินกิจกรรมที่สำคัญ อาทิ การประยุกต์ใช้ข้อภูมิสารสนเทศกับการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยว (One Map One Community) โดยส่งเสริมให้ชุมชนท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษของ อพท. ใช้งานเทคโนโลยีแผนที่ออนไลน์และข้อมูลภูมิสารสนเทศ สำหรับการวางแผนและติดตามการบริหารและพัฒนาการท่องเที่ยวของชุมชน การประยุกต์ใช้งานข้อมูลภูมิสารสนเทศและเทคโนโลยีอวกาศ เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่สีเขียวและการประเมินการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Emission) ของพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่ป่าของชุมชนในพื้นที่พิเศษ รวมถึงการออกแบบพัฒนาระบบตรวจสอบความก้าวหน้า ติดตามและประเมินผลการพัฒนาพื้นที่พิเศษของ อพท. เพื่อให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว อย่างยั่งยืนของพื้นที่พิเศษที่ อพท. รับผิดชอบ
การก้าวสู่การเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven Organization) ช่วยให้ อพท. สามารถประเมินผลการดำเนินงานและปรับปรุงกระบวนการทำงานได้อย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลที่ได้จากการติดตามและประเมินผลจะถูกนำมาใช้ในการปรับปรุงแผนการพัฒนาและการบริหารจัดการให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของชุมชนและพื้นที่ และรักษาสภาพแวดล้อมให้คงอยู่ต่อไป เพื่อสร้างการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง ตามเป็นเป้าหมาย โดยในปี 2568 อพท. ได้กำหนดพื้นที่พิเศษคุ้งบางกะเจ้า อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ ให้เป็นพื้นที่นำร่องต้นแบบการดำเนินงานพัฒนาพื้นที่ร่วมกับ GISTDA ซึ่งจะได้นำผลลัพธ์ความสำเร็จจากการดำเนินงานมาขยายผลร่วมกันในพื้นที่พิเศษอื่นๆ ของ อพท. ที่มีความพร้อม เช่น พื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และพื้นที่พิเศษเชียงราย เป็นต้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในพื้นที่พิเศษของ อพท. ต่อไป