องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

โหนด นา เล เสน่ห์ชุมชนท่าหิน อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา

1727087820
ขนาดตัวอักษร

 

พามาเรียนรู้ “วิถีโหนด นา เล” ที่อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา

          โหนด-นา-เล วิถีชีวิตแห่งภูมิปัญญาท้องถิ่นสงขลา จังหวัดสงขลาถือเป็นพื้นที่หนึ่งในภาคใต้ของประเทศไทยที่มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เข้มแข็งและเป็นเอกลักษณ์ ในจำนวนวิถีชีวิตที่สะท้อนความเชื่อมโยงระหว่างคนกับธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง "โหนด-นา-เล" ถือเป็นหนึ่งในระบบวิถีชีวิตที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานจากรุ่นสู่รุ่น และมีความสำคัญทั้งในเชิงเศรษฐกิจและวัฒนธรรมของชาวพัทลุง โดยเฉพาะของชาวอำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ที่ได้นำคำว่า “โหนด-นา-เล” มาเป็นชื่อย่อของการประกอบอาชีพเก็บตาลโตนด ทำนาข้าว และออกเลหาปลา ซึ่งจะมีวิถีชีวิตที่น่าสนใจอย่างไรกันบ้างไปดูกันเลยค่ะ

เริ่มต้นด้วยการเรียนรู้ วิถีโหนด ที่อิ่ม อร่อย และสนุกสนานสุด ๆ

          วิถี “โหนด” การใช้ประโยชน์จากต้นตาลโตนด ที่เป็นพืชที่มีประโยชน์หลายด้านต่อชีวิตประจำวัน  ผลผลิตหลักจากตาลโตนดคือ "น้ำตาลโตนด" ซึ่งเป็นน้ำหวานจากดอกตาลที่นำมาทำเป็นน้ำตาล หรือ น้ำตาลเหลว ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “น้ำผึ้งเหลว” ลูกตาลเชื่อม นอกจากนั้นยังมีการนำใบและลำต้นของต้นตาลมาใช้ทำเครื่องจักสานหรือใช้เป็นวัสดุในการสร้างบ้าน และนอกจากผลผลิตโดยตรงของตาลโตนดแล้ว ตาลโตนดยังสามารถนำมาการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น น้ำตาลแว่น สบู่ตาล เครื่องสำอาง เป็นต้น 

          เนื้อลูกตาลสุก มีสรรพคุณทำให้ผิวนุ่มชุ่มชื่น ชุมชนจึงได้นำเนื้อตาลสุก ของตาลโตนดมายกระดับเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าท้องถิ่น ที่แปรรูปจากฐานของภูมิปัญญาตาลโตนด และกลายมาเป็น “สบู่ตาลโตนด” ซึ่งมีช่วยให้ผิวนุ่มชุ่มชื่น มีส่วนผสมของน้ำผึ้งที่ช่วยในการบำรุงผิว และมีเนื้อของสบู่ที่เป็นสีเหลืองน่าใช้ กลิ่นหอมอ่อนๆของตาลโตนด จนทำให้สบู่ตาลโตนดเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่นิยมของศูนย์การเรียนรู้วิถีโหนด นา เล 
          นอกจากจะเป็นผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นที่มีราคาย่อมเยาและเป็นสินค้าที่น่าซื้อเป็นของฝากของที่ระลึกแล้ว  ชุมชนยังได้นำมาพัฒนามาเป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวสามารถลงมือทำและเรียนรู้ไปด้วยกันได้ เป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์และสามารถรังสรรค์ส่วนประกอบด้วยและนำไปกับใช้ที่บ้านได้ด้วย 

          มีกิจกรรมที่สนุกสนานที่ได้ลองทำน้ำตาลโตนด หรือ น้ำตาลแว่น ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ขึ้นชื่อของชุมชน โดยการเคี่ยวน้ำตาลจากต้นตาลประมาณ 10 นาที หลังจากนั้นนำมาเทใส่กระทะตั้งไฟร้อนอ่อนๆและกวนด้วยไม้พายประมาณ 10 นาที จนเห็นเป็นสีน้ำตาลเข้มได้ที่ จึงใช้ไม้พายตักหยอดลงในแว่นที่เตรียมไว้ ทิ้งไว้จนแห้งจึงเก็บใส่ถุง นอกจากจะเป็นผลิตภัณฑ์ “น้ำตาลแว่น” แล้ว ชุมชนยังมีผลิตภัณฑ์ในการจำหน่ายเป็น “น้ำตาลผง” ที่นักท่องเที่ยวหรือผู้มาเยี่ยมสามารถซื้อและนำไปเป็นส่วนประกอบอาหารทั้งอาหารคาว และอาหารหวานได้

          ต่อไปเราจะได้ลิ้มลองความอร่อยของขนมพื้นบ้านที่แปรรูปจากตาลโตนด เป็นการนำเสนอขนมพื้นบ้านจากวัตถุดิบที่โดดเด่นของชุมชนทั้ง “ขนมตาล”และ “ขนมปำจี” ในส่วนของขนมตาล คือ การนำลูกตาลสุกมาผสมแป้ง น้ำตาล กะทิ หมักให้ได้ที่ และนำไปผสมหยอดเป็นขนมตาลแท้ ๆ ในถ้วยตะไลเล็ก เราจะได้ลองหยอดขนม แคะขนมจากถ้วย และได้ลิ้มลองความอร่อยของขนมพื้นบ้าน และ “ขนมปำจี” คือ การนำน้ำผึ้งเหลวตาลโตนด มาผสมกับแป้งข้าวจ้าว ไข่ไก่ และน้ำเปล่า (บางตำรับจะใช้กะทิ)  ผสมให้ได้ที่ แล้วนำแป้งที่ผสมไว้แล้ว ละเลงในกระทะอย่างบาง และทำให้สุกด้วยความร้อน ละเลงแป้งเป็นวงกลมแผ่นบาง ๆ แล้วปิดฝาไว้สักครู่ เมื่อสุกแล้วใส่ไส้มะพร้าว แล้วม้วนเป็นแท่งยาว

          วิถีตาลโตนดที่โดดเด่น นอกจากผลิตภัณฑ์น้ำตาลโตนดแล้ว วิถีการเล่นของเด็กในสมัยก่อน ที่มีวิถีผูกพันกับตาลโตนด โดยการนำเอาใบตาลที่มีอยู่มากในพื้นที่ นำมาประสานภูมิปัญญาการจักสาน กลายเป็นของเล่น ของใช้และของประดับบ้านที่สวยงามที่เราสามารถลงมือทำและซื้อติดไม้ติดมือกลับบ้านได้

          อิ่มท้องด้วยอาหารพื้นบ้านที่อร่อยมาก ๆ วัตถุดิบสดใหม่จากชุมชน มีเมนูเด่น คือ ผัดเผ็ดปลามิหลัง (ปลาดุกทะเล) ต้มยำกุ้งมะม่วงเบา ยำหัวโหนด ปลาแดดเดียว โดยวิสาหกิจชุมชนตาลโตนด วิถีโหนด นา เล จังหวัดสงขลา มีความโดดเด่นด้านวัตถุดิบท้องถิ่นที่มาจาก นาข้าว อาหารจากทะเลสาบ หรือวัตถุดิบจากตาลโตนด ที่ถูกนำเสนอเป็นวัตถุดิบชุมชนชั้นเลิศที่รังสรรค์เป็นเมนูท้องถิ่นที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ตามวิถีโหนด นา เล ได้อย่างชัดเจน
          นักท่องเที่ยวที่เข้าร่วมกิจกรรมพักรับประทานอาหารกลางวัน เมนูทอด น้ำพริก ผักสด ข้าวสวย และลูกตาลลอยแก้ว รสชาติอาหารกลมกล่อมได้สัมผัสถึงบรรยากาศวิถีโหนด นา เล อันอบอุ่น

ต่อด้วยการเรียนรู้ วิถีนา การทำนาและการเกษตรพื้นบ้าน

          ในการเรียนรู้วิถี “นา” ของชาวสทิงพระ นั้นเป็นข้าวหอมมะลิ และมีแหล่งเรียนรู้ที่พร้อมจะให้ผู้มาเยี่ยมได้สัมผัสประสบการณ์การลงมือสีข้าวด้วยเครื่องสีข้าวโบราณ ต่อด้วยการนำข้าวไปร่อนด้วยกระด้งที่จะรับเทคนิคในการร่อนกระด้งเพื่อคัดแยกเมล็ดข้าวเปลือกกับข้าวสาร และนำข้าวสารที่ได้ไปตำข้าวด้วยครกไม้ขนาดใหญ่ จนสุดท้ายแล้วนำมาร่อนอีกครั้งเพื่อมาเลือกคัดเปลือกข้าวออกจากข้าวสารครั้งสุดท้าย จนได้ข้าวที่สามารถนำไปหุงได้ 
          ซึ่งในพื้นที่สทิงพระ จังหวัดสงขลา มีการทำนาข้าวเป็นอาชีพหลัก ใช้วิธีการทำนาแบบพึ่งพาตนเอง ในอดีตมีพันธุ์ข้าวพื้นบ้านจำนวนมาก เช่น ข้าวสาหรี่ ข้าวนางฝ้าย ข้าวนางหมุ่ยดอกแฝก ข้าวลูกปลา ข้าวหัวนา ฯลฯ พันธุ์ข้าวเหล่านี้ล้วนทนน้ำ ทนลม และทนต่อการเกิดภัยพิบัติ ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงทางการทำเกษตร ชุมชนส่วนใหญ่นิยมปลูกข้าวตามความต้องการของท้องตลาด การทำนาแบบเดิมเลือนหายไปตามกาลเวลา แต่ศูนย์การเรียนรู้วิถีโหนด นา เล ยังคงรักษาวิถีการทำนาแบบเก่าเพื่อเราได้มาสัมผัสและเรียนรู้การทำนาตามวิถีของคนท่าหิน

ปิดท้ายด้วยการล่องเรือ เรียนรู้ “วิถีเล” การทำประมงในทะเลสาบสงขลา

          "เล" หรือ การล่องเรือหางยาวยามเช้าไปเรียนรู้ วิถีเล ด้วยการชมวิถีชีวิตของชาวประมงลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา พื้นที่น้ำกร่อยและน้ำจืดของทะเลสาบสงขลา ถือเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญของพัทลุง ชาวบ้านจะใช้วิธีการทำประมงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้เครื่องมือประมงพื้นบ้าน “การกู้อวน”  “การยกไซกุ้งหัวมัน”  ที่ไม่ทำลายระบบนิเวศและรักษาความยั่งยืนของทรัพยากร การจับสัตว์น้ำทะเลสาบสงขลา เช่น ปลามิหลัง ปลาช่อน การครอบเทียวแม่กุ้ง ปลากระบอก เป็นต้น ที่ถือได้ว่าเป็นแหล่งรายได้สำคัญและยังเป็นวัตถุดิบในการทำอาหารท้องถิ่นที่มีรสชาติอร่อยและสดใหม่ และนอกจากนี้ บรรยากาศลุ่มน้ำริมทะเลสาบสงขลายังมีความสวยงามของทิวทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นการชมฝูงนก ฝูงควาย ออกหากินตามธรรมชาติ ผ่านเส้นทางลำคลอง ออกไปยังทะเลสาบสงขลา เป็นบรรยากาศยามเช้าที่จะได้เรียนรู้วิถีชีวิตชาวประมงแบบดั้งเดิม  

สอบถามข้อมูลกิจกรรมท่องเที่ยวเพิ่มเติม
ได้ที่ ศูนย์การเรียนรู้วิถีโหนด นา เล ตำบลท่าหิน อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา หรือ นางพูนทรัพย์ ชูแก้ว 08-1275-7156