องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

อพท. ชูบริหารจัดการการท่องเที่ยว สร้างความยั่งยืนอย่างแท้จริง

1626059280
ขนาดตัวอักษร

          อพท. ยึดเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก พัฒนาพื้นที่พิเศษ ชูหลัก 3 มิติ "สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม-วัฒนธรรม" สร้างรายได้สู่ชุมชนอย่างยั่งยืน 
 


ชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว จ.ตราด


          นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า อพท. มีแผนจะพัฒนาพื้นที่พิเศษให้เกิดมูลค่าทางการท่องเที่ยว ซึ่งมีการบริหารจัดการในมิติต่าง ๆ ได้แก่ มิติด้านทรัพยากรท้องถิ่น มิติด้านวัฒนธรรมท้องถิ่น มิติด้านวิถีชีวิตท้องถิ่นและมิติด้านเศรษฐกิจฐานราก และจะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวโดยใช้หลักสมดุลใน 3 มิติ คือ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม-วัฒนธรรม เพราะหลัก 3 มิตินี้จะก่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง

 


นาวาอากาศเอก อธิคุณ 


          อย่างไรก็ตาม การที่ อพท. ดำเนินงานตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria: GSTC) หรือ GSTC และยังพัฒนาองค์ความรู้โดยนำ GSTC มาเป็นกรอบในการสร้างองค์ความรู้ ต่อยอด ประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของชุมชนในเมืองไทย เกิดเป็น ‘เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย หรือ CBT Thailand เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาบุคลากรและเครือข่ายให้สามารถนำไปบริหารจัดการการท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพ และสร้างความยั่งยืนอย่างแท้จริง

          สำหรับเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทยถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการวางแผน ดำเนินการ และประเมินผลการพัฒนา การท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยมีองค์ประกอบ 5 ด้าน ดังนี้

          1. ด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน
          2. ด้านการจัดการเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตที่ดี
          3. ด้านการอนุรักษ์และส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมชุมชน
          4. ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบและยั่งยืน
          5. ด้านคุณภาพการบริการการท่องเที่ยวโดยชุมชน

          ทั้งทรัพยากรท้องถิ่น วัฒนธรรม วิถีชีวิตที่เป็นท้องถิ่น ซึ่งต้องยอมรับว่า ทุกพื้นที่ของประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติเป็นอย่างมาก แต่ก็ต้องยอมรับอีกเช่นกันว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว มีผลในการทำลายทรัพยากรทางธรรมชาติสูงมาก หากมีการใช้อย่างไม่ประหยัด ใช้อย่างไม่คุ้มค่า และใช้โดยไม่สร้างเพิ่ม

          โดยหลักการคิดของ อพท. คือ ทรัพยากรท้องถิ่น ต้องให้คนท้องถิ่นเป็นผู้ดูแล ไม่ก่อให้เกิดการทำลายหรือบุกรุกเพิ่ม แต่นำทรัพยากรท้องถิ่นที่มีอยู่ มาสร้างเป็นกิจกรรมทางการท่องเที่ยว โดยไม่ได้ทำลาย และยังต้องมีระบบการจัดการที่ดีที่ไม่ไปทำลายทรัพยากรธรรมชาตินั้น ได้แก่ การกำจัดขยะ การดูแลสภาพแวดล้อม แหล่งน้ำ แหล่งพลังงาน การดูแลสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในสภาวะล่อแหลม ซึ่งตรงนี้ล้วนอยู่ในเกณฑ์ของเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC และเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย หรือ CBT Thailand ที่ อพท. ต้องนำเกณฑ์ดังกล่าวไปประเมินแหล่งท่องเที่ยวที่จะพัฒนาทั้งก่อนและหลังการพัฒนา เพื่อให้ทราบจุดอ่อนที่ต้องปรับปรุงและฟื้นฟู และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นภายหลังการพัฒนา
 


          รูปแบบกระบวนการพัฒนาชุมชนไปสู่มาตรฐานหรือรางวัลนั้น มีขั้นตอนที่ อพท. เข้าไปร่วมคิด ร่วมวางแผน กับชุมชนตั้งแต่การค้นหาของดีในชุมชน การประเมินศักยภาพชุมชน การพัฒนาศักยภาพคนในชุมชนให้เข้าใจการท่องเที่ยว การจัดทำแผนการพัฒนาร่วมกับชุมชน การเพิ่มมูลค่าทรัพยากรท้องถิ่นผ่านกระบวนการออกแบบประสบการณ์และเรื่องเล่า การทดสอบสินค้าและบริการการท่องเที่ยว การเชื่อมโยงตลาดการท่องเที่ยวที่เหมาะสม การติดตามประเมินผลและถอดบทเรียนร่วมกับชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยมีการใช้เครื่องมือที่สำคัญเป็นกรอบการพัฒนา คือ เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งสอดคล้องกับหลักการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนระดับสากล GSTC