"เมืองเก่า จ.สุโขทัย" และ "นาเกลือ จ.ชลบุรี" สู่สุดยอด 100 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก
อพท. เดินเครื่องพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวสู่มาตรฐานโลก เร่งผลักดัน "ตำบลเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย" และ "ตำบลนาเกลือ เขตเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี" เข้ารับการจัดอันดับสุดยอด 100 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก พร้อมส่ง "จังหวัดน่าน" และ "จังหวัดสุพรรณบุรี" เข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ปี 2564
เมืองเก่า สุโขทัย
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า จะผลักดันให้ตำบลเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย และตำบลนาเกลือ เขตเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เข้ารับการจัดอันดับสุดยอด 100 แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนระดับโลก หรือ Sustainable Destinations Top 100 หรือ Top 100 ปี พ.ศ. 2564 และปี พ.ศ. 2565 ตามลำดับ โดยใช้เกณฑ์ Green Destination Standard พิจารณาตัดสินความโดดเด่นของตำบลเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย อยู่ที่ชุมชนโดยรอบอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ซึ่งเป็นเมืองมรดกโลก รวมถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมชาวสุโขทัย ไม่ว่าจะเป็นการทอผ้า ทำเครื่องปั้นดินเผาสังคโลก ซึ่งเป็นลวดลายเฉพาะตัว การแสดงพื้นเมือง ประเพณีลอยกระทง ที่เป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี
ส่วนพื้นที่ "ตำบลนาเกลือ" มีความพร้อมของสถานที่ มีสถาปัตยกรรมที่งดงาม มีพื้นที่สีเขียว มีกลิ่นอายของความดั้งเดิม มีอาหาร มีตลาด มีงานเดินกินถิ่นนาเกลือ ทำให้มีความพร้อมที่จะเป็นสุดยอดแหล่งท่องเที่ยว
ทั้งนี้ แผนการผลักดันแหล่งท่องเที่ยวของไทยเข้าสู่การจัดอันดับ Top 100 ของ อพท. ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติในเรื่องการสร้างระบบนิเวศท่องเที่ยว ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมโดยรวมของแหล่งท่องเที่ยวที่มีความยั่งยืน ทั้งในเรื่องภูมิทัศน์ ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม การปกป้องวัฒนธรรม การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม รวมไปถึงกฎหมาย ข้อบังคับต่าง ๆ ด้วย
Top 100 เป็นรางวัลที่มีเกณฑ์การวัดชัดเจน แหล่งท่องเที่ยวที่เข้าข่ายได้รับการจัดอันดับจะต้องผ่านเกณฑ์ต่าง ๆ โดยจะวัดผลทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เช่น การทำงานอยู่ในงบประมาณ ทรัพยากรและเวลาอันจำกัด จะมีขั้นตอนของการจัดลำดับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สำหรับเกณฑ์การพิจารณาที่แหล่งท่องเที่ยวจะได้รับการประกาศผู้ได้รับรางวัล Top 100 ในงาน ITB กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี มีจำนวน 30 ข้อ ใน 6 หมวด ได้แก่ การจัดการแหล่งท่องเที่ยว ความสมบูรณ์ทางธรรมชาติและทิวทัศน์ ด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพอากาศ ด้านวัฒนธรรมประเพณี ด้านความเป็นอยู่ทางสังคม ด้านธุรกิจและการให้บริการ โดยแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการจัดอันดับต้องผ่านเกณฑ์อย่างน้อย 15 ข้อ
เล็งส่ง "น่าน" และ "สุพรรณบุรี" เข้าเป็นสมาชิก UCCN
นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2564 จะผลักดันและส่งเสริมให้ "จังหวัดน่าน" และ "จังหวัดสุพรรณบุรี" เข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network : UCCN) ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ซึ่ง "จังหวัดน่าน" จะประกวดเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Craft and Folk Arts) ในเรื่องผ้าทอและเครื่องเงิน โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่าย อาทิ กรมทางหลวง ซึ่งจะเข้าไปพัฒนาและสร้างบรรยากาศในด้านหัตถกรรม ปรับปรุงศาลากลางหลังเก่าให้เป็นพิพิธภัณฑ์ เป็นศูนย์เรียนรู้ทางวัฒนธรรมล้านนาตะวันตก เปิดเป็นพื้นที่สำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่จะนำแนวคิดหรือไอเดียใหม่ ๆ มาใช้ในการออกแบบ
ผ้าทอ น่าน
รวมถึงจะผลักดันและส่งเสริมให้ "จังหวัดสุพรรณบุรี" เข้าประกวดเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านดนตรี (Music City) เพราะเป็นเมืองที่มีรากฐานและสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมทางด้านดนตรีที่แข็งแกร่งและผสมกลมกลืนกับวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นมายาวนาน ทั้งด้านศิลปะ ดนตรีพื้นบ้าน ภาษาท้องถิ่น ที่มีเอกลักษณ์ ที่สำคัญยังเป็นแหล่งผลิตบุคลากรทางด้านดนตรี ไม่ว่าจะเป็นปูชนียบุคคลทางด้านดนตรีและศิลปินแห่งชาติ หรือศิลปินนักดนตรีรุ่นใหม่ ทั้งเพลงลูกทุ่งและเพลงไทยสากลที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย อาทิ เพลงฉ่อย เพลงอีแซว หรือเพลงร่วมสมัยอื่น ๆ ซึ่งได้รับการส่งต่อและประยุกต์จากรุ่นสู่รุ่น ถูกถ่ายทอดโดยศิลปินคนท้องถิ่นของสุพรรณบุรี
ขณะเดียวกันจะผลักดันและส่งเสริมให้ "พัทยา จังหวัดชลบุรี" เข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (Creative Cities Network) สาขาภาพยนตร์ (Film) ในโครงการ 'เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก' (UNESCO Creative Cities Network หรือ UCCN) คาดว่าจะส่งเข้าประกวดได้ในปี พ.ศ. 2570
ทั้งนี้ "พัทยา" มีอัตลักษณ์และทรัพยากรทางวัฒนธรรมของเมือง กิจกรรมของเมือง หรือพื้นที่ ตามองค์ประกอบของการเป็นเมืองสร้างสรรค์ เป็นอุตสาหกรรมการผลิตภาพยนตร์ในระดับต้นน้ำและกลางน้ำที่มีคุณภาพ มีสถานที่ถ่ายทำที่สามารถรองรับการถ่ายทำภาพยนตร์ มีโอกาสส่งเสริมด้านการลงทุน รวมทั้งเชื่อมโยงการตลาดในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ อาทิ การจัดงานเทศกาลภาพยนตร์ (Film Festival) มีความพร้อมของสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมระดับนานาชาติ อาทิ ที่จัดประชุม โรงแรมที่พัก จะทำให้ "พัทยา" เข้าเกณฑ์ที่จะเสนอตัวเข้าประกวดเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (Creative Cities Network) สาขาภาพยนตร์ (Film)