สัมผัสวัฒนธรรมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร
กระแสการท่องเที่ยวเชิงอาหาร หรือ Gastronomy Tourism กำลังได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วโลก เพราะนักท่องเที่ยวจะได้เรียนรู้และสัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ ผ่านการสัมผัสวิถีชีวิตประเพณีและวัฒนธรรมของคนในชุมชนนั้น ๆ
อีกทั้งค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวสำหรับค่าอาหารมากถึง 1 ใน 3 ของทริปการเดินทาง องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เห็นถึงความสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงอาหาร จึงนำมาเป็นเครื่องมือเพื่อพัฒนาศักยภาพในการเพิ่มและกระจายรายได้สู่ชุมชน โดยเฉพาะรายได้ที่มาจากอาหาร ผลิตภัณฑ์และบริการ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักที่นักท่องเที่ยวมีการใช้จ่ายเงินและใช้เวลาอยู่ในชุมชนมากที่สุด
นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า การปรุงอาหารถิ่นถือเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ที่แต่ละถิ่นจะมีวัฒนธรรมการปรุงและการสร้างเมนูอาหารที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่มีในถิ่นนั้น ๆ อพท. ซึ่งเห็นคุณค่าและความสำคัญ จึงได้พัฒนาเส้นทางและกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ในพื้นที่พิเศษและในเขตพัฒนาการท่องเที่ยว เกิดเป็นโครงการ Gastronomy โดยทุกชุมชนจะมีอาหารพื้นถิ่นที่ทำจากวัตถุดิบในท้องถิ่นและมีอัตลักษณ์ ซึ่งจะสร้างสรรค์เป็นเมนูให้นักท่องเที่ยวได้ลิ้มลอง และต่อยอดให้พัฒนาเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวได้มาเรียนรู้และทดลองทำอาหารด้วยตัวเอง รวมถึงสร้างสรรค์เมนูใหม่ ๆ ที่นำวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่นมาปรุง โดยมีอาหารเป็นปัจจัยหลักในการสร้างประสบการณ์ผ่านกิจกรรมการท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบ เช่น การทดลองทำอาหารถิ่น ทำของที่ระลึกในท้องถิ่น และเที่ยวชมสถานที่ที่เป็นแหล่งวัตถุดิบสำหรับใช้ปรุงอาหาร
กาแฟมะพร้าว
ขณะที่ อพท. ได้อบรมให้ชุมชนเรียนรู้การจัดวาง การเสิร์ฟ ที่จะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ที่สำคัญกิจกรรมเกี่ยวกับอาหารถิ่นยังช่วยให้เกิดการจ้างงานในชุมชน มีการซื้อ-ขายวัตถุดิบกันในชุมชน เกิดเป็นการกระจายรายได้ขึ้นในท้องถิ่น ในชุมชน และพื้นที่ใกล้เคียง ที่สำคัญยังเป็นการอนุรักษ์ สืบสานวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี และวิถีชีวิตที่งดงามให้คงอยู่ในชุมชนด้วย
"ทุกกิจกรรม ล้วนพัฒนาขึ้นจากภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรมท้องถิ่นของชุมชน โดยใช้องค์ความรู้ด้านการจัดการอย่างเป็นระบบ และการอบรมชุมชนในเรื่องของการนำเสนอ จึงสามารถนำมาประกอบเป็นกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาเรียนรู้ ดูของจริงและลงมือทำ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ สร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยว เมื่อนักท่องเที่ยวเกิดความประทับใจจะเกิดการบอกต่อและกลับมาเที่ยวซ้ำ ซึ่งจะสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน" นาวาอากาศเอก อธิคุณกล่าว
ทั้งนี้ ตัวอย่างเส้นทางท่องเที่ยวเชิงอาหาร ได้แก่ ข้าวแช่เพชรบุรี อาหารชาววังที่เป็นมรดกทางวิถีชีวิตจากกับข้าวชาวมอญสู่อาหารถิ่น, หอยหวานสมุนไพร อาหารขึ้นชื่อของชุมชนบ้านคันนายาว จังหวัดตราด และพายสับปะรดภูแล จากจังหวัดเชียงราย ตลอดจนอาหารทะเล และอาหารแปรรูปต่าง ๆ จากจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด รวมถึงที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีกหลายเส้นทาง เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยว