พุหางนาค จ.สุพรรณบุรี มรดกทางธรรมชาติที่สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน
เที่ยวสวนหินธรรมชาติ "พุหางนาค" จังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้านในการอยู่ร่วมกันกับป่าไม้ การอนุรักษ์ จนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน
พุหางนาค มรดกทางธรรมชาติชิ้นเอกเมืองสุพรรณ แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่จะพาเราดำดิ่งไปกับการเดินชมหินรูปร่างแปลกตา ชวนปลุกจินตนาการไม่รู้จบ หากทำการบ้านให้ลึกลงไปอีกสักนิด ก็จะพบข้อมูลที่น่าสนใจของสถานที่แห่งนี้มากมายอย่างไม่น่าเชื่อ สำหรับเราแล้วนี่เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นกับห้องเรียนธรรมชาติขนาดใหญ่ ที่ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาชื่นชมความงาม และร่วมค้นหาปริศนาเมืองโบราณอู่ทองไปด้วยกัน
ณ ทิศตะวันตกของจังหวัดสุพรรณบุรี คือแนวทิวเขาทำเทียม อันเป็นที่ตั้งของ "พุหางนาค" ความเขียวขจีของเหล่าพืชพรรณนานาชนิด สะท้อนมาตรวัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าแห่งนี้เป็นอย่างดี ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีมานี้เอง ชื่อของพุหางนาคเริ่มเป็นที่รู้จักต่อสายตาคนนอกมากขึ้น กับสวนหินธรรมชาติรูปร่างแปลกตา ระลอกคลื่นริ้วบนหินแต่ละก้อน จะว่าไปก็เหมือนเส้นสายปลายพู่กันของจิตรกร หากจะผิดก็ตรงที่มีธรรมชาติเป็นผู้วาด ผ่านกระบวนการบีบ อัด และดัน เป็นรูปทรงที่บิดโค้งย่นยับคล้ายเปลือกไม้ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ใช้เวลานับล้านปี จึงเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ใจอยู่ไม่น้อย
ปัจจุบันพุหางนาคอยู่ภายใต้ความดูแลของวนอุทยานพุม่วง โดยความร่วมมือกับชาวชุมชนในพื้นที่ และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. โดยสำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทางธรณีวิทยาพุหางนาค พร้อมจัดเส้นทางพาชมความงดงามและเรียนรู้ธรรมชาติ เพื่อเป็นเกราะป้องกันการบุกทำลายและหาผลประโยชน์ มีทั้งหมด 3 เส้นทาง
เส้นทางที่ 1 ไป-กลับเป็นระยะทางประมาณ 1 กิโมตร เมตร เป็นเส้นทางที่นักท่องเที่ยวนิยมใช้มากที่สุด
เส้นทางที่ 2 และ 3 ไป-กลับเป็นระยะทางไม่ต่ำกว่า 5 กิโลเมตร สำหรับใครที่เลือกเส้นทางเดินนี้ อาจต้องเตรียมฟิตร่างกายมาให้พร้อม
ว่ากันตามสูตรของการเดินศึกษาเส้นทางธรรมชาติ สายตาทำหน้าที่สัมพันธ์กับสองเท้า สำรวจสิ่งที่เห็นตรงหน้าตามคำบอกกล่าวของไกด์ท้องถิ่น ขณะเดียวกันต้องประคองสติให้มั่นในทุกย่างก้าว เพราะอาจเจอเข้ากับเจ้าถิ่น "กิ้งกือหลังแบน" ที่ชอบเดินป้วนเปี้ยน ทำให้อาจเผลอเหยียบเข้าไม่รู้ตัว บางช่วงจังหวะก็ทำเอาคนเดินออกท่าทางเก้ ๆ กัง ๆ ด้วยเพราะไม่รู้จะหลบเจ้าถิ่นหรือประคองตัวไม่ให้ลื่นไถลไปบนพรมมอสส์สีเขียวที่แซมดินขึ้นมาเป็นระยะ ๆ เพลิดเพลินกับพรรณไม้ป่าและรากไม้งาม ๆ แล้ว ยังจะได้ซึมซับเรื่องราวธรณีวิทยา ความรู้เกี่ยวกับชั้นหิน ดอกไม้ พืชสมุนไพร ตลอดจนพันธุ์พืชอนุรักษ์หายาก หรือแม้แต่จุดชมวิวมุมสูง เอาไว้เป็นช่วงคั่นพักครึ่งจากความเหนื่อยสะสมแต่ละย่างก้าวที่ออกเดิน และเรายังรู้มาอีกว่าที่แห่งนี้เป็นศาสนสถานของคนยุคโบราณ ที่นำหินมาวางซ้อนกันไว้เพื่อเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ต่อมานักโบราณคดีเรียกกันว่า "หินตั้ง" เป็นวัฒนธรรมที่คนพื้นเมืองยุคดึกดำบรรพ์สุวรรณภูมิอุษาคเนย์จัดวางเป็นกลุ่มให้ได้ลักษณะต่าง ๆ เพื่อบอกเขตศักดิ์สิทธิ์
ในวันนี้...หลายเสียงจากไกด์ชาวบ้านยังคงยืนกรานขอทำหน้าที่ผู้นำชมสวนหินธรรมชาตินี้ต่อไป ด้วยหวังเพิ่มจำนวนคนรักป่าให้มากขึ้น ซึ่งเขาขอเป็นส่วนหนึ่งของแนวกันชนให้ผืนป่าอีกทีหนึ่งนั่นเอง ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมากับบทบาทของการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ได้ปลุกจิตสำนึกร่วมกันกับคนในชุมชน ให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการท่องเที่ยว นัยหนึ่งวิธีการดังกล่าวจะเป็นดั่งโล่ป้องกันผู้ที่ไม่หวังดีให้ไม่กล้าเข้ามาหาประโยชน์จากพื้นที่ และวันหนึ่งผืนป่า-บ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขา ก็จะยังคงอุดมสมบูรณ์เหมือนดังเช่นที่เคยเป็นมา
สำหรับนักท่องเที่ยวอย่างเรา "พุหางนาค" เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศสุดอันซีน หากแต่สำหรับชุมชน ที่นี่เต็มเปี่ยมไปด้วยความงามที่เกิดจากศรัทธา และศรัทธานั้นก็นำมาสู่การร่วมมือกันปกปักรักษามรดกล้ำค่า จนเกิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่อวดศักยภาพการบริหารและการจัดการโดยฝีมือชาวชุมชนโดยรอบนั่นเอง
ติดต่อร่วมทำกิจกรรมกับทางชุมชน
นักท่องเที่ยวที่สนใจอยากเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดจนศึกษาเส้นทางธรรมชาติในพุหางนาค สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ พี่อ้อย โทรศัพท์ 082 584 3969 หรือวนอุทยานพุม่วง โทรศัพท์ 089 948 301-8
ขอบคุณข้อมูลจาก
เว็บไซต์ finearts.go.th
เว็บไซต์ suphan.biz