องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

"สุโขทัย" ไม่ใช่แค่ "เมืองมรดกโลก"

1625658720
ขนาดตัวอักษร

           จังหวัดสุโขทัย พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวระดับโลก ชมความงามของหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน การทำเครื่องสังคโลก ศิลปะปูนปั้น งานไม้ รวมถึงงานลวดลายทองคำ

          สปอตไลท์ทุกดวงฉายไปที่จังหวัดสุโขทัยโดยพร้อมเพรียงกันอีกครั้ง นับตั้งแต่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ประกาศว่าจังหวัดสุโขทัยเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (Creative Cities Network) ประจำปี 2562 สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Art) โดยเป็น 1 ใน 66 เมืองจากทั่วโลก ที่ได้รับการคัดเลือกในปีที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นแห่งแรกในเมืองไทย

 

 

           หลังจากที่เมื่อเดือนธันวาคม 2534 องค์การยูเนสโกได้ประกาศมรดกโลก “เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร” ที่เป็นตัวแทนแสดงผลงานชิ้นเอกที่จัดทำขึ้นด้วยการสร้างสรรค์อันชาญฉลาด และเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันหรือที่สาบสูญไปแล้ว

          จุดน่าสนใจของจังหวัดสุโขทัยไม่ได้อยู่แค่ความเป็นเมืองมรดกโลกเท่านั้น แต่ยังมีความโดดเด่นเรื่องของวิถีชีวิต เป็นเมืองที่ผู้คนเติบโตมาพร้อมกับงานศิลปะ วัฒนธรรม ที่มีการทอผ้าตีนจก การทำเครื่องสังคโลก ศิลปะปูนปั้น งานไม้ และงานลวดลายทองคำหรือทองสุโขทัย ซึ่งมีความสวยงามและอัตลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและชื่นชอบของนักท่องเที่ยว

 


           ดร.ประคอง สายจันทร์ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 4 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า เมืองสร้างสรรค์ (Creative City)  คือ เมืองที่มีความร่วมมือระหว่างชุมชนท้องถิ่นและภาครัฐ รวมถึงการสร้างสรรค์เมืองผ่านการพัฒนาสภาพแวดล้อม โครงสร้างทางสังคม ระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และการนำสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม ตลอดจนจารีตประเพณีของท้องถิ่น มาผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อนำไปสู่การเป็นเมืองที่มีบรรยากาศที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ หรืออุตสาหกรรมความคิดสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

          โดยความเป็นเมืองสร้างสรรค์จะต้องมีการพัฒนาหลักใน 4 ด้าน ได้แก่

           1. ด้านองค์ความรู้ ซึ่งจะต้องมีศักยภาพทั้งทุนปัญญา วัฒนธรรม ประเพณีภูมิปัญญาพื้นบ้าน แหล่งท่องเที่ยว หรือสินค้าที่มีเอกลักษณ์

           2. ด้านการตลาด จะต้องมีจุดเด่นหรือจุดขายที่ชัดเจน เป็นที่ยอมรับและมีโอกาสทางการตลาด การพัฒนาและการต่อยอด

           3. ด้านการวางแผน จะต้องมีระบบการบริหารจัดการและการวางแผนเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่สำคัญจะต้องมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ชัดเจน

           4. ด้านการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง ผู้นำชุมชน เครือข่าย ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ ภาคประชาชน และภาคการศึกษา

           "ประโยชน์ของการได้รับเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ จะช่วยให้จังหวัดสุโขทัยเป็นที่รู้จักมากขึ้น เป็นการยกระดับจังหวัดสุโขทัยให้มีชื่อเสียงระดับโลก สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศให้เดินทางมาเยือนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากเมืองที่เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์จากทั่วโลก ขณะที่ชุมชนที่ อพท. ได้พัฒนาไว้แล้วนั้นก็เข้มแข็ง มีศักยภาพที่จะรองรับนักท่องเที่ยวเช่นกัน"

           ข้อดีของการเป็นเมืองที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกนั้น จะมีโอกาสแลกเปลี่ยนในด้านยุทธศาสตร์การพัฒนาในมิติทางด้านศิลปวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์องค์ความรู้ประสบการณ์บุคลากร ตลอดจนโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ กับเมืองสมาชิกอื่น ๆ ทั่วโลก เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์เมืองเพื่อประโยชน์ด้านการค้าการลงทุนและการท่องเที่ยวในระดับนานาชาติ

           นอกจากนี้ เมืองสมาชิกยังได้รับสิทธิ์ในการเข้าร่วมการประชุมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ประจำปีที่จัดขึ้นในประเทศต่าง ๆ ตลอดจนการประชุมเชิงปฏิบัติการในหมู่สมาชิกเมืองสร้างสรรค์ในสาขาเดียวกัน ขณะเดียวกัน เมืองสมาชิกจะได้รับสิทธิ์ในการใช้โลโก้ขององค์การยูเนสโกในการประชาสัมพันธ์เมืองให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นด้วย